วิรัตน์ แสงทองคำ : ชีพจรยักษ์ใหญ่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ผู้คนกำลังติดตามดัชนีความเป็นไป ความเคลื่อนไหวอันสามารถ บรรดาเครือข่ายธุรกิจใหญ่

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มทีซีซี

ต้นเรื่องในฉากตอนใหม่เปิดขึ้น เมื่อบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC (อักษรย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ) บริษัทพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซี เดินหน้าด้วยย่างก้าวอย่างรวดเร็ว จากแผนขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 6.00 บาทต่อหุ้น (จะสามารถระดมเงินได้ 48,000 ล้านบาท)

สู่ขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (road show) เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว (กันยายน 2562) อีกเดือนต่อมา (ตุลาคม 2562) ก็บรรลุแผน เข้าซื้อ-ขายหุ้นอย่างเป็นทางการในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกรณีที่ตื่นเต้น จัดเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่าที่เคยมีมา

AWC ถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่ายโรงแรมเปิดดำเนินการแล้วมากกว่า 10 แห่ง และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อีกนับ 10 โครงการ รูปแบบต่างๆ หลากหลาย เช่น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เกตเวย์ แอท บางซื่อ พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ รวมไปจนถึงสำนักงาน เช่น เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ และแอทธินี ทาวเวอร์

“เริ่มจากการลงทุนในที่ดิน พัฒนามาลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลเมื่อปี 2537 เข้าร่วมทุนกับ Capital Land Co.,Ltd. ในปี 2546 และพัฒนากลายมาเป็นสายธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ทีซีซีแลนด์ กรุ๊ป ปัจจุบันคือแอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น”

ความเป็นมาที่ควรทราบ อ้างมาจากต้นแหล่ง (https://www.assetworldcorp-th.com) เป็นที่รู้กันว่า เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นนักล่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นมาอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในทศวรรษ 2530

เฉพาะกรณี AWC นอกจากโรงแรมอิมพีเรียลเมื่อปี 2537 ก็มีเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ในปี 2539 และพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูนํ้า ปี 2544 เป็นต้น

 

ช่วงปี 2546 กลุ่มทีซีซีแห่งตระกูลสิริวัฒนภักดี เริ่มต้นปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัว ให้ทายาทเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยบุตรสาวคนหนึ่งมีบทบาทสำคัญใน AWC

ที่จริงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้เครือข่ายกลุ่มทีซีซี เป็นทรัพย์สินสำคัญ เป็นดัชนีแห่งความยิ่งใหญ่ มีอย่างหลากหลาย มากมาย และมีการจัดหาใหม่อยู่ตลอดเวลา จนเกิดอีกกลุ่มบริษัทหนึ่ง

บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด เรียกกันอย่างย่อว่า ทีซีซี แอสเซ็ท (TCC Assets) ก่อตั้งเมื่อปี 2556 กลุ่มธุรกิจซึ่งบริหารโดยบุตรชายคนสุดท้อง

เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับ AWC โดยเฉพาะย่านพระราม 4 อาทิ โครงการ FYI Center Samyan Mitrtown และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่สำคัญเป็นพิเศษคือ โครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท

ดูไปแล้วแผนการทีซีซี แอสเซ็ท มีความซับซ้อนกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับ Frasers Property Limited (FPL) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ และจดทะเบียนใน Singapore Exchange Securities Trading Limited หรือ SGX-ST

Frasers Property Limited (FPL) เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก Frasers Centrepoint Limited (FCL) ซึ่งก่อตั้งในสิงคโปร์เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2531) ค่อยๆ ขยายกิจการกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เมื่อเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ

ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเดินแผนการใหญ่บุกเบิกธุรกิจภูมิภาค เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave (ปี 2556) เป็นดีลครึกโครมตื่นเต้น กลุ่มทีซีซีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Frasers Centrepoint Limited ไปด้วย ในระหว่างนั้น FCL มีแผนการเชิงรุก มีดีลสำคัญแผนการเข้าซื้อเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย (Australand) ในปี 2557

ในปี 2556 ทีซีซีเข้าบริหาร FCL ในทันที เป็นจังหวะเดียวกับการก่อตั้ง TCC Assets ในประเทศไทย จากนั้น ปณต สิริวัฒนภักดี บุตรชายคนเล็กของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร (ปี 2559)

 

ในจังหวะแอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ได้ปรากฏขึ้น ในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากเข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทย (ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICO) แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT

แผนการเป็นไปค่อนข้างเงียบเมื่อต้นปี 2562 ตามยุทธศาสตร์เข้าตลาดหุ้นไทยทางลัด ที่เรียกว่า Backdoor listing

ตามมาด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจดำเนินไปอย่างกระชั้น อย่างการเข้าซื้อบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD บริษัทในตลาดหุ้นอีกแห่ง (กุมภาพันธ์ 2562) ความจริงแล้ว GOLD เป็นกิจการในเครือ TCC Assets อยู่แล้ว เชื่อว่าเป็นแผนการผ่องถ่ายกิจการในเครือ TCC Assets มาอยู่ในเครือข่าย FPT กำลังดำเนินไปเป็นขั้นๆ จากสิ้นปี 2560 จากสินทรัพย์ราวๆ 40,000 ล้านบาท ได้ขยับขึ้นมาทะลุ 1 แสนล้านบาทแล้ว (31 มีนาคม 2563)

กลุ่มทีซีซีกับความเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉง มาจากความมั่นใจ และเชื่อมั่นโครงสร้างสังคมไทย ใครๆ ก็ว่าเอื้อรายใหญ่เป็นพิเศษในยุคนี้ เป็นโอกาสและจังหวะเวลาที่ดี เป็นไปตามกระแสคลื่น ว่าด้วยเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย พาเหรดกันเข้าตลาดหุ้น ไม่ว่าเครือข่ายใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แยกออกจากธุรกิจเดิมของบุญรอดบริวเวอรี่ ไปจนถึงธุรกิจหลัก มั่นคงและดั้งเดิมของกลุ่มเซ็นทรัล

ทว่าไม่คาดคิดกันว่าจะมีวิกฤตการณ์ใหญ่ระดับโลก ส่งผลกระทบจากทุกทิศทางและกว้างขวาง เป็นปรากฏการณ์อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าอำนาจเครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพล หรืออำนาจรัฐ มากกว่าครั้งใดๆ ในยุคใกล้ โดยเฉพาะกับธุรกิจ Hospitality และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่หัวขบวนรับแรงปะทะ

ทีซีซีเป็นกรณีศึกษาเครือข่ายอันยิ่งใหญ่ธุรกิจครอบครัวไทยเพียงรุ่นเดียว เครือข่ายธุรกิจอันทรงอิทธิพลไม่เพียงสามารถข้ามผ่านวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อกว่า 2 ทศวรรษ หากแสวงหาโอกาสซึ่งเปิดขึ้นมากมายต่อจากนั้น

จากนี้จะเผชิญบทสอบครั้งใหม่