วิเคราะห์ : เมื่อรัฐบาลกลับเมินเฉยอสังหาฯ?

แทบทุกรัฐบาลใน 20-30 ปีมานี้ มักจะมีนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเสมอ

เอาตั้งแต่สมัยเนิ่นนานกว่า 30 ปี สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบายเกี่ยวกับแก้ไขปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย

รัฐบาลต่อๆ มา บางรัฐบาลบางพรรคก็ให้ความสำคัญกับนโยบายที่อยู่อาศัยผ่านทางการเคหะแห่งชาติ ปัญหาชุมชนแออัด ใช้งบประมาณแผ่นดินมาจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย

บางรัฐบาลก็ผลักดันการสร้างที่อยู่อาศัยผ่านธุรกิจเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยมีนโยบายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนที่ทำโครงการระดับราคาไม่เกิน 4 แสนบาท ต่อมาปรับเป็น 6 แสนบาท

รัฐบาลหลังวิกฤตปี 2540 ผลักดันนโยบายผ่านธุรกิจเอกชนบริษัทพัฒนาอสังหาฯ และกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคไปในคราวเดียวกัน โดยให้ส่วนลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมการซื้อที่อยู่อาศัยหลังใหม่

 

แต่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารยึดอำนาจครั้งหลังสุดนี่แทบไม่มีนโยบายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์เลย แรกๆ ข่าวว่ามีการเชิญตัวแทน 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไปพบพร้อมกับกลุ่มธุรกิจสำคัญๆ อื่นเหมือนกันเพื่อบอกให้ทราบว่า หากมีปัญหาเดือดร้อนอะไรก็ให้บอก แต่อย่าไปออกสื่อ ประมาณนี้

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจมาเป็นทีม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็หยิบเอานโยบายลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมมาใช้กับการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่อยู่พักหนึ่ง พร้อมกับโครงการเอาที่ดินราชพัสดุของทางราชการมาจัดสร้างเป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมือง แต่โครงการเหล่านี้ค่อยๆ เงียบหายไปในที่สุด

ฉะนั้น หลายปีหลังๆ นโยบายหรือมาตรการภาครัฐที่ออกมามีผลกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงมีข่าวเรื่องการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การออกผังเมืองใหม่ควบคุมการใช้ที่ดินในพื้นที่ต่างๆ

ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว คราวนี้เป็นนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการควบคุมวงเงินดาวน์ในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือ LTV [loan to value] เหตุผลเพื่อป้องกันหนี้เสีย ลดความเสี่ยงสถาบันการเงิน

จนถึงขณะนี้ ขณะที่เศรษฐกิจถดถอยเต็มตัว ธุรกิจต่างๆ บอบช้ำจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐบาลออก พ.ร.บ.เงินกู้จำนวนมาก เพื่อนำเงินมาเยียวยาธุรกิจและประชาชนที่เดือดร้อน มีนโยบายด้านการเงินออกมาหลายต่อหลายอย่าง มีโครงการที่ได้งบประมาณแผ่นดินก็มากมาย

ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หรืออสังหาริมทรัพย์เลย

 

นายกสมาคม 3 สมาคมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้สนับสนุนฟื้นฟูธุรกิจอสังหาฯ ถึงรัฐบาลไป อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ ไม่ใช่แค่ร้องเรียนความเดือดร้อนเหมือนยุคก่อนๆ แต่ก็ยังเงียบกริบ ไม่มีการตอบสนองใดๆ

น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 20-30 ปีที่รัฐไม่มีนโยบายใดๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอดีตที่ผ่านมามักถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมยามเศรษฐกิจตกต่ำ

หรือว่าธุรกิจสาขาอื่นๆ รัฐก็ไม่มีนโยบายใดๆ เหมือนกัน

หรือสมัยนี้เขาไม่ต้องมีนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายต่อธุรกิจใดๆ แล้ว

มีแค่จัดซื้อจัดจ้างและแจกเงินก็พอแล้ว (ฮา)