“Ice Cream and the Sound of Raindrops” หนัง “ซิงเกิลเทค” 74 นาที และความฝันลีบเรียวของ “หนุ่มสาว” | คนมองหนัง

คนมองหนัง

ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง “Ice Cream and the Sound of Raindrops” กลายเป็นหนังเพียงเรื่องเดียวที่ผมได้ชมจากเทศกาลภาพยนตร์ “We Are One : A Global Film Festival” ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มยูทูบกับเทศกาลหนังชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง

ก่อนหน้านี้ ผมเคยดูผลงานของ “ไดโกะ มัตซุย” ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ มาแล้วหนึ่งเรื่อง คือ “Japanese Girls Never Die” (เข้าฉายที่เฮาส์ อาร์ซีเอ) ภาพยนตร์ที่พูดถึงการหายสาบสูญและการลุกขึ้นสู้ของลูกผู้หญิง ซึ่งปิดฉากลงเอยด้วยสถานการณ์แฟนตาซีบางอย่าง

จากประเด็นเรื่องเพศสภาพในหนังเรื่องนั้น มาถึง “Ice Cream and the Sound of Raindrops” มัตซุยได้ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง เพื่อเล่าเรื่องราวว่าด้วยการพยายามฮึดสู้และเดินตามความฝันของตัวละครวัยรุ่นผ่านโลกละครเวที

หนังเรื่องนี้เล่าถึงนักแสดงหนุ่มสาวหน้าใหม่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกให้มาแสดงละครเวทีเรื่องหนึ่ง แต่แล้วเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการแสดง โปรดิวเซอร์และผู้ออกทุนก็ตัดสินใจล้มโปรเจ็กต์ดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่ายอดจองตั๋วนั้นดำเนินไปค่อนข้างแน่นิ่ง ทั้งยังกล่าวโทษว่านักแสดงหน้าใหม่เหล่านี้ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดึงดูดใจผู้ชม

บรรดานักแสดงวัยรุ่นผู้พ่ายแพ้ จึงพยายามลุกขึ้นสู้ ผ่านการหลอมรวม “ความเป็นจริง” กับ “โลกของการแสดง” เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

เอาเข้าจริง เรื่องราวของ “Ice Cream and the Sound of Raindrops” ไม่ได้มีความแปลกใหม่สักเท่าไหร่ แม้กระทั่งประเด็นหลักว่าด้วยความพร่าเลือนระหว่างความจริงกับละครเวที

ดังนั้น ผู้กำกับฯ เช่นมัตซุย จึงต้องพยายามสรรหารูปแบบ-สไตล์อันฉูดฉาดสะดุดตาบางอย่าง มาช่วยประคับประคองหนุนเสริมเรื่องเล่าและประเด็นข้างต้น

เรื่องราวของกลุ่มคนเล็กๆ ในประเด็นระดับจุลภาค ด้วยโปรดักชั่นขนาดย่อม จึงถูกบอกเล่าอย่างทะเยอทะยานเหลือเกิน ด้วยการถ่ายหนังแบบ “ซิงเกิลเทค” ที่ยาวรวดเดียว 74 นาที ชนิดไม่มีการตัดต่อใดๆ

ด้วยเงื่อนไขสำคัญที่ว่าเรื่องราวของหนังไม่ใช่เหตุการณ์ภายในวันเดียวหรือชั่วโมงเดียว ณ สถานที่แห่งเดียว แต่กินเวลายาวนานร่วมหนึ่งเดือน ในสถานที่หลักๆ สองแห่ง

(ตรงจุดนี้ มัตซุยได้เลือกใช้ “ลูกเล่น” ในการเปลี่ยนผ่านวันเวลาที่เก๋ไก๋พอสมควร โดยมีองค์ประกอบอย่าง “ประตู” หรือ “หน้าต่าง” และกลยุทธการแช่ภาพเป็นตัวช่วย)

นอกจากนั้น “Ice Cream and the Sound of Raindrops” ยังเล่นกับอัตราส่วนภาพสองแบบ เพื่อช่วยนำทางชี้แนะให้คนดูได้รับทราบว่าสถานการณ์ในหนังส่วนไหนเป็น “ชีวิตจริง” ส่วนไหนเป็น “การซ้อมละคร” (แต่ท้ายสุด ทั้งสองโลกก็หลอมรวมกันจนแยกแทบไม่ออกอยู่ดี)

โดยสรุปนี่จึงเป็นหนังว่าด้วยการซ้อมและแสดงละครเวที ซึ่งถูกนำเสนอประหนึ่ง “ละครเวทีในจอภาพยนตร์ (จอคอมพิวเตอร์)” ด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ที่น่าสนใจอยู่ 1-2 ประการ

ด้านหนึ่ง ผมมักอึดอัดขัดข้องใจกับบทสรุปในหนังของไดโกะ มัตซุย อยู่เสมอๆ

เริ่มจากความรู้สึกที่ว่าฉากจบใน “Japanese Girls Never Die” ซึ่งผลักให้การลุกขึ้นสู้ของเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งกลายสภาพเป็นแฟนตาซีหรือการ์ตูนอะไรสักอย่าง นั้นเหมือนเป็นการลดทอนด้อยค่าว่าการต่อสู้ของพวกเธอคงไม่มีวันประสบชัยชนะในโลกความเป็นจริง

เช่นเดียวกับฉากจบบนเวทีละครของ “Ice Cream and the Sound of Raindrops” ซึ่งดูเป็นการนำเสนอพลังความทะเยอทะยานในโลกใบเล็กๆ ที่ห่อหุ้มด้วยความฝัน-ความหวังอันล่องลอยเคว้งคว้าง โดยที่ตัวละครทุกคนก็คล้ายยังไม่แน่ใจว่าพวกตนจะก้าวเดินอย่างไรต่อไปในโลกความจริงนอกโรงละครและห้องซ้อมบท

แต่อีกทางหนึ่ง มัตซุยอาจพยายามฉายภาพผ่านหนัง-โลกสมมุติของเขา ว่าทางเลือกทางรอดของเหล่าคนรุ่นใหม่ในโลกยุคปัจจุบันนั้นแลดูหดแคบตีบตันลีบเรียวลงเรื่อยๆ

ขนาดยอมถอยตัวเองมาต่อสู้รณรงค์บนเวทีละครไซซ์เล็กจิ๋วแล้ว “ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจ” ก็ยังไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นจริงเลย