วิเคราะห์ | ยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคลือบนัยยะ ป้องโควิด แฝงการเมือง ฤๅหวงอำนาจ-ความมั่นคง

แม้สถานการณ์โดยรวมในประเทศจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศมาเป็นเวลาร่วม 40 วัน จะมีก็แต่ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศกลับมายังประเทศไทย ที่อยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ หรือ state quarantine ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้ออยู่บ้าง

แต่รัฐบาล โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ยังคงเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2563

โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลก ยังมีความรุนแรงในหลายภูมิภาค

รวมทั้งรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศในระยะที่ 5 จึงยังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้งการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย

รวมทั้งการกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถใช้บังคับอย่างครอบคลุมในทุกกิจการ กิจกรรม แบบบูรณาการทั้งพลเรือน ทหารและตำรวจ เพื่อการบริหารจัดการวิกฤตให้เป็นเอกภาพ ลดความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศในระลอกที่สอง

ทั้งการขยายการเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแบบปกติของประชาชนและไม่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งที่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายออกมาคัดค้านการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในรอบที่ 4

หลังจากที่ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 เสนอว่ามีความเหมาะสมที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากมีการระบาดในรอบที่ 2 สิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะสูญเปล่า และการผ่อนคลายกิจกรรมระยะที่ 5 มีความล่อแหลม ทั้งการเปิดเรียน และการเปิดสถานบริการทั้งหมด โดยยืนยันว่า ข้อห่วงใยดังกล่าวไม่มีนัยการเมืองแอบแฝง

โดย สมช.เสนอความเห็นไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดย ศบค.เห็นด้วยตามนั้น พร้อมทั้งส่งให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาเป็นไม้สุดท้าย

และในที่สุดก็มีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งที่ 4 ไปอีก 1 เดือน

แม้ฝ่ายรัฐบาลจะออกมานั่งยัน นอนยัน ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับการเมือง เพราะการชุมนุมยังสามารถดำเนินการได้ และให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมฯ

แต่โดยความจริงแล้วต้องไม่ลืมว่า เมื่อต้นปีเกิดอะไรขึ้นบ้าง…

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

ต่อมาได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้ “เห็นหัวพวกเราบ้าง”

จากมหาวิทยาลัยในเมืองกรุง ขยายสู่มหาวิทยาลัยตามหัวเมืองต่างๆ จากการเรียกร้องให้เห็นหัวพวกเขาบ้าง และออกแถลงการณ์เพื่อคัดค้านมติยุบพรรคอนาคตใหม่ จนนำไปสู่การชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืน โดยเป็นการชุมนุมที่เรียกว่า “แฟลชม็อบ”

จากแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัย เริ่มลามไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษา ที่รวมตัวกันชูป้าย การปราศรัย ร่วมกันร้องเพลงก่อนที่จะจุดเทียน หรือบางที่ก็ใช้การเปิดแฟลชจากโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงออก ก่อนที่จะแยกย้ายสลายตัวกันกลับบ้าน

กิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จนมีการประกาศจากสภาการนักศึกษาเพื่อที่จะเรียกรวมตัวสถาบันต่างๆ ที่กรุงเทพฯ

ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิดในระยะเริ่มแรก…

26 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด การชุมนุมต่างๆ จึงต้องยุติลงทันที ทั้งที่กระแสวันนั้น “จุดติดแล้ว”

ทุกอย่างสงบนิ่ง รัฐบาลใช้ยาแรงทั้งการเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านยามวิกาลตั้งแต่ 22.00-04.00 น. และต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเรื่อยมา ทั้งเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน แต่ก็มีการผ่อนปรนเป็นระยะๆ

กระทั่งต้นเดือนมิถุนายน “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยในประเทศกัมพูชาถูกอุ้มหายตัวไปอย่างลึกลับ

การรวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายได้อุบัติขึ้นมาในทันที ทั้งการวางดอกไม้หน้าหอศิลป์ และการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชาผ่านทางสถานทูตกัมพูชา เพื่อเรียกร้องให้ตามหาตัว “วันเฉลิม” และการเดินไปเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล

เป็นการแสดงออกที่ทำให้เห็นว่า ประชาชนจะไม่อดทนอีกต่อไป แต่ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ว่ายังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ และห้ามมีการรวมตัวเกิน 5 คน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา

ไม่เพียงแต่การชุมนุม ยังโยงไปถึงการใช้งบประมาณแก้ไขสถานการณ์โควิดที่ยากต่อการตรวจสอบ

จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะออกมาคัดค้าน นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน มองว่า การต่อ พ.ร.ก.จะมีการเปิดช่องทุจริตได้เยอะ เพราะหลังจากมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งได้ดำเนินการผ่านการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการจัดซื้อจัดจ้าง และได้แก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยปกติโครงการที่งบประมาณเกิน 5 แสนบาท จะต้องเข้าสู่กระบวนการประมูลหรืออีบิดดิ้ง

แต่คณะกรรมการชุดนี้ได้แก้ไขเรียบร้อยว่า ภายใต้เงินกู้โดยเฉพาะงบฯ เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังคงอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีการจัดซื้อตามวิธีการอีบิดดิ้ง จะเกินวงเงิน 5 แสน หรือ 1 ล้าน ก็ไม่จำเป็นต้องประมูล ให้ซื้อโดยวิธีพิเศษได้

ฉะนั้น จึงเห็นว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2-3 เดือนต่อไปข้างหน้า การจัดซื้อจัดจ้างได้อาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินยกเว้นการประมูลได้ต่อไป จึงทำนายว่า ถ้าในเดือนกรกฎาคม จัดซื้อจัดจ้างไม่จบ เชื่อว่าจะมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด หรือไม่รัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่ามีการเปิดช่องทุจริตหรือไม่ เหตุใดเงื่อนเวลาจึงสอดคล้องเช่นนี้

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการ พท. บอกว่า การที่รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อแล้ว แสดงว่ารัฐบาลไม่สนใจเสียงเรียกร้องเรื่องปากท้องของประชาชน เพราะตราบใดที่ยังบังคับใช้กฎหมายพิเศษอยู่แบบนี้ ไม่มีวันที่นักลงทุนจะเชื่อมั่น ดังนั้น จะไม่มีการจ้างงานใหม่ คนก็จะตกงานมากมายอยู่เหมือนเดิม

การที่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เลือกความมั่นคงของรัฐบาล มากกว่าการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ดังนั้น จึงยังคงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคระบาด หรือมีนัยแอบแฝง

เหตุผลทางด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว หรือเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐบาลกันแน่ที่เป็นปัจจัยหลักในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน!!??