มุกดา สุวรรณชาติ : เหยื่อ…อธรรม ต่อต้านการรัฐประหาร 2549…ติดคุก

มุกดา สุวรรณชาติ

25 มิถุนายน 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ “ตูน” อายุ 30 ปี เป็นคนจังหวัดอุทัยธานี เคยประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ถูกจับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ติดคุกราว 1 ปีเศษ แต่ก็ยังเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช.

7 ธันวาคม 2558 ถูกจับข้อหาชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขณะร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง”

25 มกราคม 2560 ศาลตัดสิน ธเนตรให้การรับสารภาพ ตุลาการศาลทหารพิพากษาให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษ จากการที่จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 4 เดือน

ทั้งนี้ จำเลยได้ถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ซึ่งถูกคุมขังเกินโทษแล้ว ศาลจึงสั่งให้ปล่อยตัวในคดีนี้

แต่ธเนตรยังถูกขังต่อ เป็นจำเลยในอีกคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ จากการถูกกล่าวหาว่ามีการโพสต์ภาพข้อความต่อต้าน คสช.ในเฟซบุ๊กรวม 5 โพสต์

15 กุมภาพันธ์ 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกงที่มีจำเลยจำนวน 8 คน

เนื่องจากได้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.มายกเลิกคำสั่งที่ห้ามชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทำให้การกระทำดังกล่าวของพวกจำเลยไม่เป็นความผิดอีกต่อไป แต่ธเนตรติดคุกฟรีไปแล้วตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2559

จนวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลจึงนัดตัดสินคดี “ยุยงปลุกปั่น”

ฝ่ายโจทก์มีพยานปาก เจษฎ์ โทณะวณิก ที่เบิกความเห็นว่าข้อความของจำเลยมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐ ปลุกปั่นให้คนมารวมตัวขับไล่ คสช. ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

แต่ศาลเห็นว่าการที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊ก ไม่ร้ายแรงถึงขนาดเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือทำให้เกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบ ยังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง

แต่เขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วเกือบ 3 ปี 10 เดือน โดยนับรวมคดีที่เขาถูกคุมขังจากการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งธเนตรถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 4 เดือน

นักสู้ธรรมดาอย่างธเนตร เป็นเหยื่ออธรรม โดยต้องติดคุก ติดคุก และติดคุก การถูกคุมขังอย่างยาวนานยังทำให้ธเนตรสูญเสียพ่อไป โดยเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับพ่อในช่วงสุดท้ายของชีวิต

 

แกนนำ นปก.
ต่อต้านรัฐประหาร 2549
…ติดคุก

วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2550 โดยแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) 15 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 20,000 คน เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวงไปปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร เพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

คณะทำงานอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีและสั่งไม่ฟ้องแกนนำ นปช. เนื่องจากมีการยื่นหลักฐาน เอกสารร้องขอความเป็นธรรม ที่ผู้ต้องหายื่นเข้ามาให้อัยการพิจารณา ประกอบกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ยังไม่ถึงขั้นก่อความวุ่นวาย จึงถือว่าเป็นสิทธิเพื่อเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง

แต่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นแย้งให้ฟ้องผู้ต้องหา

และสุดท้าย อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ขาดสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่น ตามความเห็นแย้งของ ผบ.ตร.

26 มิถุนายน 2563 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยให้จำคุกจำเลย 5 คน คนละ 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเป็นเรื่องร้ายแรง

 

ผู้หญิงยิง ฮ.ต่อต้านรัฐบาลเทพประทาน
ก็ติดคุก

นางสาวนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือจ๋า ถูกจับเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 โดยถูกคุมขังมาจนถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 รวมเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน เธอถูกตั้งข้อหาใช้ปืนยิงไปที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารขณะที่กำลังโปรยใบปลิวและทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้ พ.อ.มานะ ปริญญาศิริ ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยที่เธอและจำเลยอีก 2 คนถูกสั่งฟ้องในข้อหา ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าบันทึกการแจ้งความดีเอสไอไม่สอดคล้องกับพยานหลักฐานที่ตรวจพบ เนื่องจากในบันทึกใบแจ้งความของดีเอสไอกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 3 คนมีอาวุธสงครามกว่า 500 ชิ้นซุกซ่อนอยู่ในถุงกอล์ฟและยัดไว้ในท่อระบายน้ำในบ้านพักของนางนฤมล

แต่เนื่องจากหลักฐานที่ทางตำรวจมีนั้นไม่มีแม้แต่ภาพถ่ายอาวุธสงคราม รวมถึงไม่สามารถยึดถุงกอล์ฟดังกล่าวมาได้ ทำให้หลักฐานที่มี กับข้อกล่าวหาของโจทก์มีความขัดแย้งกัน

อีกทั้งตำรวจที่ดำเนินคดีนี้ก็ไม่ได้เข้าไปในบ้านพักของนางนฤมลด้วยตนเอง เพียงแต่ฟังจากคำให้การของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ส่งผลให้การสืบหาพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่มีน้ำหนัก จึงต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย

และถึงแม้ว่าศาลจะยกฟ้องในที่สุด แต่นฤมลก็ไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ศาลต้องพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ มิใช่การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

แต่ต่อมาเธอยังถูกฟ้องคดีทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ทหารด้วย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 ในที่ชุมนุมของ นปช. โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้นฤมลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สั่งจำคุก 1 ปี จากข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังทำร้ายร่างกายนายทหารนอกเครื่องแบบ

 

คดียึดทำเนียบรัฐบาล ตัดสินแล้ว
แต่คดีอาญายึดสนามบิน หาทางลงไม่ได้

คดียึดทำเนียบ ลงโทษติดคุก 8 เดือน ติดจริง 3 เดือน แต่คดียึดสนามบิน ตัดสินได้แต่คดีแพ่ง

25 มีนาคม 2554 บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลยที่ 1-13 เรื่องละเมิด ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่ร่วมกันนำผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หลายหมื่นคนไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง

คดีนี้การเข้าไปชุมนุมในพื้นที่สนามบินทั้งสองแห่งของจำเลยกับพวกมีวัตถุประสงค์ปิดท่าอากาศยานทั้งสองแห่งให้หยุดให้บริการ เพื่อยกระดับการกดดันรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เป็นผลให้ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งไม่สามารถให้บริการได้ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง

การกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหาย

คำนวณความเสียหายของสนามบินทั้งสองแห่งแล้วเป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ

 

ส่วนคดีอาญา ขยับช้ามาก

กรกฎาคม 2562 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีที่ว่ามีจำเลยพนักงานอัยการฝ่ายคดี แกนนำ พธม. กับพวกแนวร่วม พธม. รวม 98 คน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ศาลได้สืบพยานโจทก์ไปแล้วทั้งหมด 15 ปาก ส่วนจะสืบพยานทุกปากเสร็จได้ภายใน 1-2 ปี หรือไม่ ตนไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะบางครั้งก็มีอุปสรรคในการพิจารณา เช่น พยานไม่มา พยานป่วย พยานเสียชีวิต เราจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว

คดีนี้จะหาทางลงไม่ง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายสากล ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

แต่เป็นเพราะไทยเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศ 4 ฉบับ คือ

1. อนุสัญญาว่าด้วยความผิดและการกระทำอื่นๆ บางประการ ซึ่งกระทำบนอากาศยาน ค.ศ.1963 (Convention on Offences and Certain Other Acts Committed on Board Aircraft, Tokyo, 14 September 1963)

2. อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการยึดอากาศยานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ.1970 (Convention for the Suppression of Unlawful Seizure of Aircraft, the Hague, 16 December 1970)

3. อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน ค.ศ.1971 (Convention for the Suppression of Unlawful Acts against the Safety of Civil Aviation, Montreal, 23 September 1971)

4. พิธีสารเพื่อการปราบปรามการกระทำอันรุนแรงอันมิชอบด้วยกฎหมาย ณ ท่าอากาศยาน ซึ่งให้บริการการบินพลเรือนระหว่างประเทศเพิ่มเติมต่อจากอนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน (Protocol for the Suppression of Unlawful Acts of Violence at Airport Serving International Civil Aviation. Supplementary to the Convention for the Suppression of Unlawful Acts against the Safety of Civil Aviation, 24 February 1988)

ทั้งนี้ อนุสัญญาและพิธีสารทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวข้างต้นจัดทำขึ้นในกรอบขององค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) โดยประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 เป็นกฎหมายรองรับแล้ว

คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างเพราะกระทบกับสายการบินและนักธุรกิจทั่วโลก ค่าเสียหายจริงไม่มีใครรู้ก็เดากันไปว่า 2-3 แสนล้าน ทุกประเทศจับตามองคดีนี้

 

หรือจะให้เขียนในตำรากฎหมายว่า
การรัฐประหาร ถูก
ใครต่อต้าน ผิด

ช่วงระยะ 10 กว่าปีมานี้ คดีที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร คนทั่วไปแม้ไม่มีความรู้ทางกฎหมายก็พอรู้ว่าใครที่ต่อต้านการรัฐประหารการยึดอำนาจจะต้องติดคุกเป็นเรื่องปกติ

ส่วนคนที่สนับสนุน จะได้รับการผ่อนปรนทั้งเรื่องเวลาและบทลงโทษ การรอลงอาญาเป็นเรื่องปกติ

แต่คนจำนวนหนึ่งก็ไม่ยอมรับว่าการยึดอำนาจการรัฐประหารเป็นเรื่องถูกต้อง และไม่ยอมรับว่าการต่อต้านอำนาจจากการรัฐประหารด้วยวิธีต่างๆ เป็นเรื่องผิด พวกเขาจึงกระทำต่อเนื่องแม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาเป็น 10 ปีต้องติดคุกหลายครั้ง คนธรรมดาเช่นธเนตร ซึ่งเขาคงไม่เลิกไปง่ายๆ แต่ผู้หญิงยิง ฮ. แบบคุณจ๋าไม่มีโอกาสสู้อีก เพราะเธอเสียชีวิตไปแล้ว แกนนำ นปช.หลายคนซึ่งติดคุกมา 3 รอบ 6 รอบ ก็เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางการเมือง พวกเขาหวังความยุติธรรม

การแก้ไขกฎหมาย แก้ไขโครงสร้างขององค์กรทุกองค์กรในกระบวนยุติธรรมที่จะให้ประชาชนตรวจสอบดูแลได้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทำอย่างไรจึงจะให้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ไม่รับใช้การรัฐประหารและการยึดอำนาจ

มิฉะนั้น การข่มขู่ บีบบังคับ จับกุมคุมขังแบบไร้มาตรฐาน ต่อเหยื่ออธรรม จะยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เหมือนประเทศด้อยพัฒนาเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว