ดับฝันรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน สตาร์ตใหม่ไฮบริด-ไฟฟ้า? จับตาจบปัญหาหรือแค่จุดเริ่มต้น

ต้องรอเก้อกันต่อไป สำหรับการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 489 คัน หรือรถเมล์เอ็นจีวี มูลค่า 3,389 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

เพราะถึงแม้จะลงนามจัดซื้อกับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 แต่ล่าสุดได้ประกาศยกเลิกสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ระบุว่า ได้ลงนามในคำสั่งจะยกเลิกสัญญาจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. รายงานว่า คู่สัญญาได้ทำผิดสัญญาเพราะไม่สามารถส่งมอบรถได้ครบทั้ง 498 คัน ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559

และยังมีรถเมล์อีก 99 คัน ที่ยังไม่สามารถนำออกมาจากท่าเรือแหลมฉบังได้

ขณะที่เงินค่าปรับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2559 – 12 เมษายน 2560 คิดเป็นเงิน 844 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 8 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าวงเงินประกันที่บริษัทวางไว้ 330 ล้านบาทแล้ว

ฝ่ายกฎหมายของ ขสมก. จึงยืนยันว่า ผอ.ขสมก. มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ แต่ยืนยันว่าภายในปี 2560 นี้ มั่นใจว่าคนกรุงเทพฯ จะได้นั่งรถเมล์ใหม่ของ ขสมก. แน่นอน

นายสมศักดิ์ระบุอีกว่า หลังจากนี้จะทำหนังสือแจ้งขึ้นบัญชีดำหรือแบล๊กลิสต์ บริษัทเบสท์ริน ซึ่งจะส่งผลให้ถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลจัดหารถเมล์ล็อตใหม่ รวมถึงที่เสนอจะเข้าร่วมโครงการจัดหารถโดยสารขนาดเล็ก หรือรถไมโครบัส ที่จะนำมาวิ่งให้บริการแทนรถตู้โดยสารสาธารณะด้วย

ส่วนการเปิดประกวดราคาใหม่นั้นขณะนี้ยังให้คำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจาก ขสมก. มีตัวเลือกในการจัดซื้อรถเมล์รอบใหม่อยู่ 3 ตัวเลือก คือ

1. รถเมล์เอ็นจีวี

2. รถเมล์ไฮบริด

และ 3. รถเมล์ไฟฟ้า

โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. จะตัดสินใจว่าจะใช้หลักการต่อไป รวมถึงจำนวนรถเมล์ที่จะเปิดประมูลจัดซื้อในรอบใหม่ด้วย

หากบอร์ดอนุมัติหลักการใดหลักการหนึ่ง ขสมก. จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ

ขณะเดียวกัน จะจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ควบคู่ไปด้วย

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา

ฝั่งบริษัทเบสท์ริน เมื่อทราบเรื่องดังกล่าว ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทันที

โดย นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานบริษัทเบสท์ริน ยืนยันจะให้ฝ่ายกฎหมายดูในรายละเอียดที่ ขสมก. บอกเลิกสัญญาว่ามีความผิดตรงไหน เพราะบริษัทดำเนินการตามสัญญาทุกอย่าง

และสงสัยว่าเมื่อศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว ขสมก. บอกยกเลิกสัญญาได้อย่างไร ขณะที่บริษัทก็พร้อมจะฟ้องร้องทางคดีแพ่งและคดีอาญาควบคู่กันไป

สำหรับโครงการนี้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนได้นั่งรถเมล์ใหม่โดยเร็ว หลังจากยืดเยื้อมานานหลายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2548 ที่เป็นการจัดหารถเมล์ใหม่ 6,000 คัน วงเงินกว่าแสนล้านบาท ปรับใหม่เหลือ 4,000 คัน วงเงินระดับแสนล้านบาท เปลี่ยนเป็นการเช่า 4,000 คัน วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท และกลับมาซื้อ 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท

จนล่าสุดเป็นการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ก็ยังนำรถมาวิ่งให้บริการไม่สำเร็จ

ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเบสท์ริน นำเข้ารถเมล์ล็อตแรก 1 คัน และล็อต 2 อีก 99 คัน รวม 100 คัน มาถึงไทยผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559

แต่ไม่สามารถนำรถเมล์ทั้งหมดออกจากท่าเรือแหลมฉบังได้

เพราะกรมศุลกากรไม่แน่ใจว่าเอกสารหนังสือรับรองที่ยื่นขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรฟอร์มดี หรือถิ่นกำเนิดสินค้า ที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย ที่ออกให้กับบริษัทเพื่อยื่นกรมศุลกากรพิจารณาลดภาษีเหลือ 0% จากที่จะต้องจ่ายในอัตรา 40% ต่อคัน ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (เอเอฟทีเอ) เป็นของจริงหรือไม่

ตอนนั้นกรมศุลกากรตั้งข้อสังเกตว่า รถเมล์ที่บริษัทนำเข้ามาในไทย ไม่ได้ประกอบที่โรงงานประเทศมาเลเซีย และไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในมาเลเซียอย่างน้อย 40% ตามข้อตกลงเอเอฟทีเอ แต่นำรถประกอบเสร็จจากจีนไปพักไว้ที่มาเลเซีย จากนั้นก็ขนเข้ามาในไทยเพื่อหลบเลี่ยงภาษี และเพื่อให้เกิดความชัดเจน กรมศุลกากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูเส้นทางการนำเข้ารถยนต์ล็อตดังกล่าวที่มาเลเซีย

ผ่านมาไม่นาน วันที่ 13 ธันวาคม กรมศุลกรกรออกมาชี้แจงผลการตรวจสอบว่า เป็นรถยนต์จากจีน โดยบรรทุกรถมาทางเรือไปมาเลเซีย เมื่อเทียบท่าเรือที่มาเลเซียแล้วได้ขับรถยนต์เอ็นจีวีไปพักยังเขตปลอดอากรเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงขับรถขึ้นเรือเพื่อส่งเข้ามาไทย

สำหรับรถเมล์ที่นำเข้ามาดังกล่าว กรมศุลกากรแจ้งด้วยว่า บริษัทได้ทยอยส่งออกจากมาเลเซียมายังไทย จำนวน 5 เที่ยวเรือ เที่ยวแรกจำนวน 1 คัน เที่ยวสอง 99 คัน เที่ยวสาม 145 คัน เที่ยวสี่ 146 คัน และเที่ยวห้าอีก 98 คัน

ในจำนวนนี้ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 (เที่ยวที่ 1-2 รวมจำนวน 100 คัน) โดยเป็นกลุ่มที่ผ่านพิธีการศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

และกลุ่มที่ 2 (เที่ยวที่ 3-5 จำนวน 389 คัน) ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ขณะนั้นกรมศุลกากรได้ปฏิเสธเอกสารฟอร์มดีที่ประกอบการยกเว้นภาษีนำเข้า 40%

ส่วนการนำเข้ากลุ่มที่ 2 ทางบริษัทระบุว่าจะไม่ใช้เอกสารฟอร์มดี และขอเสียภาษีตามปกติ

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทเบสท์รินไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ทั้ง 489 คัน ได้ตามกำหนดในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 กระทั่งวันที่ 12 มกราคม 2560 บริษัทสามารถนำรถเมล์ออกมาจากท่าเรือแหลมฉบังได้สำเร็จ ซึ่งรถเมล์ทั้งหมดที่นำออกมาในครั้งนี้เป็นล็อตที่ไม่ได้ยื่นเอกสารฟอร์มดี เพื่อขอลดหย่อนภาษี เมื่อจ่ายภาษีตามขั้นตอนจึงสามารถนำออกมาได้ แบ่งเป็น รถเมล์ที่นำเข้าล็อตแรก 1 คัน และรถที่นำเข้าในล็อตที่ 3 และ 4 อีก 291 คัน รวมทั้งสิ้น 292 คัน โดยทางบริษัทได้ทยอยนำรถทั้งหมดไปติดตั้งระบบจีพีเอส และจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกก่อนที่จะส่งมอบให้กับ ขสมก.

สำหรับล็อตที่ 2 จำนวน 99 คันที่ติดปัญหาเรื่องการสำแดงภาษีนำเข้ากับกรมศูลกากรนั้น บริษัทแจ้งว่าอยู่ระหว่างนำเงินไปชำระให้แก่กรมศุลกากร

ส่วนอีก 98 คัน ซึ่งเป็นล็อตสุดท้าย บริษัทแจ้งว่าอยู่ระหว่างขนส่งเพื่อนำเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง

แต่ระหว่างนั้นก็เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า ขสมก. จะรับมอบรถที่นำออกมาได้จริงหรือ เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องถิ่นกำเนิดของตามที่บริษัทแจ้งว่ามาจากมาเลเซียจริง การเซ็นสัญญารับมอบอาจมีความผิดตามกฎหมายก็ได้ ทำให้ ขสมก. ไม่กล้าตัดสินใจว่าจะยกเลิกสัญญาหรือเดินหน้ารับมอบรถ

กระทั่งวันที่ 22 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งให้ นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุน่าจะมาจากการไม่กล้าตัดสินใจเรื่องรถเมล์เอ็นจีวี ทำให้ยืดเยื้อ

จากนั้นวันที่ 27 มีนาคม บอร์ด ขสมก. ก็แต่งตั้งนายสมศักดิ์ เป็นรักษาการ ผอ.ขสมก. แทน พร้อมประกาศจะยุติปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 15 วัน จึงกลายเป็นที่มาของการเลิกสัญญาในที่สุด

จะจบปัญหาได้จริง หรือแค่เริ่มต้นปัญหาใหม่ ต้องติดตามอีกยาว!!