ทราย เจริญปุระ | พิพิธภัณฑ์ในตู้เสื้อผ้าของฉัน

-มันต้องได้สิ-

เราเคยมีวันแบบนั้น หรืออย่างน้อย, ฉันก็เคยมีวันแบบนั้น

วันที่เชื่อว่าความรักเอาชนะได้ทุกสิ่ง แค่เรารักกันมันก็เพียงพอแล้ว

“หล่อนเชื่อว่าคนชอบแสดงความรู้สึกตัวเองให้ใหญ่โตเกินจริงเพียงเพื่อจะวางตัวเหนือคนอื่น สำหรับหล่อนแล้วความรักเป็นอะไรที่เราทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตให้แม้ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียทุกอย่าง

แต่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต”*

“พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” เล่าถึงเคมาล ชายหนุ่มวัยสามสิบจากตระกูลร่ำรวย และฟูซุน สาวงามวัยสิบแปดผู้เป็นญาติห่างๆ ที่ยากจน สานสัมพันธ์ลับๆ ในห้องเล็กเจือไอแดดที่ซ่อนตัวจากสังคม ซ่อนตัวจากโลกความจริง ซ่อนตัวจากหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่เคมาลจะหมั้นหมายด้วยในอีกไม่นาน ท่ามกลางความเปลี่ยนผันทางสังคมการเมืองของตุรกีในยุค 70

อิสตันบูลสำหรับเคมาลคือจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่บรรจุเรื่องราวสุกสกาวของความสัมพันธ์ระหว่างเขากับฟูซุน สะท้อนผ่านข้าวของสารพันที่เรียงรายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เขาสร้างขึ้น ทั้งต่างหู กระเป๋าถือ ที่เขี่ยบุหรี่ ชุดเดรสลายดอก ก้นบุหรี่ที่สูบแล้วสี่พันสองร้อยสามสิบเอ็ดอัน ชุดว่ายน้ำ เปลือกหอยทาก กลักไม้ขีด เมนูอาหาร ที่เย็บกระดาษ ฯลฯ

ทั้งหมดเป็นข้าวของสามัญไร้เดียงสา จากความรักไร้เดียงสา ในช่วงเวลาแห่งความไร้เดียงสาของตุรกี

 

ฉันเคยถือกุญแจห้อง ฉันเคยมีส่วนร่วมมากถึงเพียงนั้นในชีวิตของใครอีกคน

ฉันเคยไปช่วยดูบ้านที่กำลังจะซื้อ ฉันเคยได้เลือกข้าวของที่เราจะได้ใช้ร่วมกัน

แต่มันก็ไปได้ไกลเท่านั้น

เส้นทางของเราขาดหายสิ้นสุดลง

“ผมอธิบายว่าเราไม่ได้วาดหวังในตัวกันและกัน เราไม่ได้เกี่ยวข้องกันเรื่องวาน และถึงแม้เราจะหลบซ่อนจากโลก แต่เราก็ผูกพันกันด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ที่สุดและพื้นฐานที่สุด และด้วยความจริงใจเร่าร้อนที่ไม่เหลือที่ให้แก่การหลอกลวง”*

ฉันจำไม่ได้แล้วว่าปัญหาที่แท้จริงมันคืออะไร รู้แค่ว่าแม่ไม่เคยถูกใจความสัมพันธ์ใดๆ ของฉัน สายโทรศัพท์ไม่เคยว่าง ข้าวของส่วนตัวถูกรื้อค้น จดหมายและโปสการ์ดถูกเปิด ถูกอ่าน และถูกเก็บซ่อนพ้นสายตาฉัน ชีวิตฉันถูกชำแหละออกมาวางแผ่แบอยู่ตรงหน้าและสำรวจด้วยสายตาสอดส่องของแม่ พื้นที่ส่วนตัวที่เดียวที่ฉันจะมีได้คือภายในความคิดและความฝัน

เธอคงไม่เข้าใจว่าทำไมฉันถึงหายไปพอๆ กับที่ฉันพยายามแน่ใจว่าเธอคงส่งข่าวมา ความเชื่อและความทรงจำที่ฉันมีกับเธอเลือนลางไปเรื่อยๆ เรื่องเก่าๆ ถูกนำมาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเล่นปริศนาอักษรไขว้ในวันอากาศร้อนจัด หนังสือที่ฉันแนะนำให้เธออ่าน ระเบียงที่ลมพัดแรง แปรงสีฟันคู่กันในห้องน้ำ

ฉันจำไม่ได้แล้วว่าเนิ่นนานเพียงใดกว่าแม่จะคืนโปสการ์ดจากเธอทั้งหมดให้ฉัน

หลากที่ หลายแห่งถูกประทับตราลงบนแสตมป์ บ้างก็ถูกระบุไว้เป็นลายของโปสการ์ด ลายมือหวัดๆ ของเธอบอกว่าเธออยู่ริมฝั่งโขง หรือไม่ก็จังหวัดห่างไกลสักแห่ง

มันผ่านไปแล้ว

นานเกินไปแล้ว

แม่ทำสำเร็จแล้ว

ทุกวันนี้ฉันยังเก็บโปสการ์ดเหล่านั้นไว้ แขวนอยู่ในซองใสในตู้เสื้อผ้า และไม่เคยหยิบมันมาดู

ฉันกลัวว่าจะพบถ้อยคำตัดพ้อชนิดที่ทำให้ฉันกลับไปล่มสลายอีกครั้ง แม้ฉันจะรู้ว่าเรื่องมันผ่านไปแล้วจริงๆ เราโคจรมาเจอกันบ้างนานครั้งแต่ไม่มีใครรื้อฟื้นหรือแม้แต่สบตากันตรงๆ

ความทรงจำส่วนตัวระหว่างฉันกับเธอที่ใครก็ไม่อาจล่วงล้ำยึดครองได้ คือภาพถ่ายของฉันที่เธอถ่าย มันบันทึกความเยาว์วัย อยู่ในห้วงรัก และเหลียวมองเธอด้วยนัยน์ตายิ้มๆ อยู่บนฟูกในห้องที่ปราศจากเครื่องเรือน

แววตาแบบผู้ที่ไม่มีวันรู้ว่าโลกจะไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ


“พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” (The Museum of Innocence) เขียนโดย Orhan Pamuk แปลโดย นพมาส แววหงส์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2560

*ข้อความจากในหนังสือ