จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (3)

ขออนุญาตสอดแทรกเบียดพื้นที่คอลัมน์นี้สักนิดเพื่อเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของคณะ “ครูศิลป์” จากประเทศไทย ซึ่งกำลังเดินทางโลดแล่นไปยังรัฐต่างๆ เพื่อศึกษาดูงานเพิ่มพูนประสบการณ์ในประเทศสหรัฐ

การเดินทางไปศึกษาดูงานของ “ครูสอนศิลปะ” และ “นักศึกษาศิลปะ” (ยุวศิลปิน) ของประเทศไทยเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การอำนวยการของกระทรวงวัฒนธรรม โดย กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ปี พ.ศ.2540 ได้ริเริ่มดำเนินการมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้วในนาม “สภาศิลปกรรมไทย สหรัฐ” ที่เขาก่อตั้งขึ้น

ในระยะแรกๆ เป็นการเดินทางไปเยี่ยมเยียนของศิลปินสาขาต่างๆ จากประเทศไทย รวมทั้งศิลปินอาวุโส ศิลปินร่วมสมัยของเราซึ่งเขาเชื้อเชิญให้เดินทางนำเอาผลงานไปเปิดนิทรรศการในสหรัฐอเมริกา เป็นการประสานเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนการศึกษาค้นคว้า ความเจริญก้าวหน้าในวงการศิลปะร่วมสมัย

ต่อมาเกิดโครงการเป็นเรื่องเป็นราว มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยกันคัดเลือกด้วยการพยายามกระจายไปยังสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยให้ทั่วถึง เพื่อค้นหาผู้ที่เหมาะสมได้เดินทางไปศึกษาดูงานศิลปะร่วมสมัยในนานาชาติ ระดับโลก

เท่ากับเป็นการยกระดับได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ดังกล่าว

กมล ทัศนาญชลี เป็นศิลปินไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา และสร้างสมชื่อเสียงไว้จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางพอสมควร เป็นครู อาจารย์ ที่ได้รับเชิญไปสอนศิลปะในสถาบันสำคัญต่างๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ (California U.S.A.) และ ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีครอบครัว บ้านพักรวมทั้งเครือข่ายพอรองรับนักศึกษาศิลปะ ศิลปินจากเมืองไทย และอื่นๆ ได้พอสมควร

“นักศึกษาศิลปะ” (ยุวศิลปิน) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นก่อน “ครูสอนศิลปะ” (ครูศิลป์) จึงเติบใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว และขยายกว้างขวางขึ้น กระทั่งเป็นโครงการประจำทุกๆ ปีติดต่อมาดังกล่าว โดยนักเรียนศิลปะ ครูผู้สอนศิลปะจะมีการแข่งขันกันทำงานเพื่อเสนอตัวเข้าคัดเลือกให้ได้เดินทางไปต่อยอดยังสหรัฐ หรือรวมถึงไปศึกษาและดูงานยังหลายประเทศสำคัญๆ อันเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในทวีปยุโรป

ต้องการให้ครูผู้สอนศิลปะซึ่งขณะนี้กำลังเดินทางอยู่ในรัฐต่างๆ ของสหรัฐ รวมทั้ง กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งทุ่มเทสุดหัวใจแม้จะมีวัยเข้าสู่เลข 7 แต่ยังแข็งแรงมากกว่าวัยเดียวกัน เดินทางไปกลับไทย-สหรัฐ ยังกับเดินทางอยู่ในประเทศ ได้มีกำลังใจว่าอย่างน้อยก็มีคนรู้เห็นจึงได้นำเสนอข่าวของพวกเขาเหล่านี้ แม้จะล่าช้าไปบ้างเนื่องจากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์

กลุ่ม “ครูสอนศิลปะ” (ครูศิลป์) ซึ่งเป็นรุ่นที่ 8 จำนวน 10 คน จาก 5 ภาคของประเทศ มีครูศิลปะสอนโรงเรียนเตรียมทหาร จังหวัดนครนายก 1 คน ครูโรงเรียนมัธยม 2-3 คน ศิลปินอิสระ 1 คน

นอกจากนั้น เป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

รวมแล้วร่วม 20 คน โดยมี กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) เป็นผู้นำทัศนศึกษา

กลุ่มครูผู้สอนศิลปะร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สภาศิลปกรรมไทยสหรัฐ และกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส (Los Angeles) จัดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ จัดนิทรรศการ “THAI ARTISTS 2017” (Contemporary Artists Award) ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส (Los Angeles) ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม – 12 เมษายน 2560

กมล ทัศนาญชลี ส่งภาพและข่าวมาว่า “การเปิดนิทรรศการศิลป์ ของครูศิลป์รุ่นที่ 8 ที่สถานกงสุลไทย L.A. เสร็จก็พาคณะเดินทางมาถึง Grand Canyon เจอหิมะกำลังตกพอดี” และ “ผมยังเดินทางข้ามรัฐ Arizona, Utah, New Mexico”

คิดว่านิทรรศการศิลปะในสหรัฐ และการศึกษาดูงานครั้งนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดประโยชน์แก่การศึกษาศิลปะ การสร้างศิลปะ และการเรียนการสอนศิลปะในบ้านเราไม่มากก็น้อย

 

กลับมาสู่เรื่องราวของ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์ของแผ่นดิน “ศิลปินแห่งชาติ” รุ่นแรก “นายกรัฐมนตรี คนที่ 13” ที่มาจากการเลือกตั้ง “เสาหลักประชาธิปไตย” และ “บุคคลสำคัญของโลก” โดยเฉพาะบทบาทในการเสริมสร้างต่อสู้ต่อต้านเพื่อรักษาระบอบ “ประชาธิปไตย” จากอดีตให้ยั่งยืนในประเทศนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ!

อาจารย์คึกฤทธิ์จากโลกนี้ไปนานกว่า 20 ปี ประเทศเราก็ไม่เคยหยุดการเรียนการสอนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

แต่เราเป็นประชาธิปไตยกันหรือไม่ อย่างไร? ก็สุดแล้วแต่ท่านทั้งหลายจะพิจารณากัน

ในความเป็นจริง การ “ยึดอำนาจ” ล้มล้าง “ประชาธิปไตย” ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดย “คณะทหาร” จาก “กองทัพ” การใช้กฎหมายพิเศษกลับเป็นที่ชื่นชอบของคนบางกลุ่ม บางพวก และดูเหมือนผู้คนของประเทศจำนวนมากยังชอบพอกับการบังคับข่มขู่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด?

ความแตกแยกที่ทำท่าเหมือนจะได้รับการปรองดองอย่างจริงๆ จังๆ ก็ไม่มีใครสามารถให้หลักประกัน หรือคำมั่นสัญญาว่ามันจะดำเนินต่อไปถึงไหน ผลจะปรากฏออกมาแบบไหน อย่างไร ต่อไป?

ถึงแม้ (อาจ) จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ.2561 ก็คงยังไม่มีหลักประกันว่าการเมืองรูปแบบเก่าๆ ดังเดิมจะวนเวียนกลับมาอีก ถ้าหากจิตวิญญาณ “ประชาธิปไตย” ของคนในประเทศนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง

เขียนเรื่องการเมืองเดิมๆ เก่าๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 แต่มีความรู้สึกว่าไม่ได้แตกต่างไปจากปัจจุบันสักเท่าไร โดยเฉพาะกับเรื่องประชาธิปไตยกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปไหนทั้งนั้น

อาจารย์คึกฤทธิ์พยายามต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวในสมัยที่ท่านยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น เพิ่งจบการศึกษามาจากต่างประเทศ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนคนกรุงเทพฯ มอบอำนาจให้ด้วยการเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนฯ ของพวกเขา (พ.ศ.2488) ซึ่งท่านก็ไม่ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใด บทบาทต่างๆ ในสภาที่ดำเนินมาจนเรียกได้ว่าเป็นดาวสภาในยุคสมัยนั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “รัฐมนตรี” ถึง 2 สมัยในรัฐบาล “นายควง อภัยวงศ์” และรัฐบาล “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” (พ.ศ.2492)

ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นเลขาธิการพรรคเป็นคนแรก โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อนายควงได้เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ และเห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือน ส.ส. ในสภา ท่านอาจารย์ไม่เห็นด้วยก็ลาออกจากผู้แทนฯ และต่อมาก็ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ได้ร่วมเป็นฝ่ายค้านต่อสู้กับรัฐบาลทหารมาถึง 2-3 รัฐบาล

อาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อมีบทบาทในสภาก็พยายามวางแผนต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อจะทำให้รัฐบาลชุดนั้นยุบสภาซึ่งเท่ากับได้โละทิ้งเหล่า ส.ส. ที่ขึ้นเงินเดือนตัวเอง

บทบาททางการเมืองของท่านดำเนินไปตามแนวทางเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นเผด็จการได้สักเท่าไร เป็นได้แค่เพียงตำนานบันทึกบทบาทนักประชาธิปไตยไว้ก็เท่านั้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “อำนาจไม่เคยเปลี่ยนมือไปจากคนจากกองทัพ”

อีกไม่เกินอาทิตย์จะถึงวันที่ 20 เมษายน 2560 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ “วันเกิด” ของศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอีกบทบาทหนึ่งในฐานะนักประพันธ์ เป็นนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 และได้ใช้เป็นเวทีในการต่อสู้กับรัฐบาล “เผด็จการทหาร” มาโดยตลอด ซึ่งย่อมต้องมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมได้เก็บมากล่าวถึงอีก

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งต่อมาเกิด “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” และนิตยสาร “ชาวกรุง” ครบทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน

มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ รายวัน” ยังคงยืนหยัดอยู่กระทั่งทุกวันนี้!