สมชัย ศรีสุทธิยากร | เลือกตั้งท้องถิ่น โหมโรงที่ยาวนาน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ก่อนการแสดงมหรสพ เสียงเครื่องดนตรีปี่พาทย์ที่ผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทยนานาชนิด ทั้งเครื่องดีด สี ตี เป่าทั้งหลายเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ต่อจากนี้อีกไม่นาน การแสดงสำคัญที่รอคอยจะเริ่มขึ้น

เพลงโหมโรงจึงเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการอุ่นเครื่องของบรรดานักดนตรีให้ใช้โอกาสดังกล่าวเทียบเสียงปรับแต่งเครื่องดนตรีของตนให้เข้ากับเพื่อนร่วมวงและยังเป็นสัญลักษณ์ให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือคนดูเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับของจริงที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้

เพลงโหมโรงจะมีกาลเทศะของมันที่จะอยู่ในช่วงต้นของการแสดงและมีเวลาที่พอเหมาะสำหรับการตอบโจทย์ภารกิจที่ได้รับมอบ มีเวลาพอสมควรสำหรับการอุ่นเครื่องดนตรีและเรียกแขกให้มาดู

แต่หากวงใดละโมบกับการโหมโรงที่ยาวนานเกิน จุดประสงค์ที่เพียงแค่อุ่นเครื่องก็จะเป็นภาระให้นักดนตรีต้องเหนื่อยล้า

ส่วนที่ต้องการกระตุ้นเรียกคนดูก็กลับกลายเป็นการสร้างความเบื่อหน่ายได้

Photo by BORJA SANCHEZ-TRILLO / AFP

โหมโรงเลือกตั้งท้องถิ่น

ท้องถิ่นไทย ประกอบด้วยรูปแบบการบริหาร 4 ประเภท คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา รวมทุกประเภทมีจำนวน 7,852 แห่ง (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เดือนเมษายน 2563)

ผู้บริหารและสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ทั้งหมดหมดวาระไปมากกว่า 6 ปี รวมเป็นตำแหน่งที่ต้องเลือกตั้งทั้งหมด 97,940 ตำแหน่ง หากคิดอัตราส่วนผู้สมัครในแต่ละตำแหน่งเพียงแค่ 5:1 เท่ากับว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะมีผู้สมัครรวมถึงเกือบ 500,000 คน

ความคิดของผู้มีอำนาจในการเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเรื่องที่มีการโหมโรงกันมาหลายรอบ แต่กลับไม่เห็นวี่แววของการเลือกตั้งจริงที่จะเกิดขึ้น

โหมโรงแรกเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปประมาณปีเศษหลังการรัฐประหาร 22 มีนาคม 2557 โดยมีแนวความคิดว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นการวัดกระแสการตอบสนองของประชาชนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ดูว่าทิศทางความนิยมของประชาชนจะเป็นไปทางใด ว่ากันว่าหากกระแสมาทางผู้มีอำนาจ การเลือกตั้งทั่วไปจะมาเร็วขึ้น แต่หากกระแสเป็นตรงข้าม การชะลอการเลือกตั้งจะเป็นทางออกของสถานการณ์

ทั้งสื่อมวลชนและนักเลือกตั้งต่างลุ้นว่า อะไรจะเกิดก่อนระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งลงท้ายด้วยการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นก่อนในวันที่ 24 มีนาคม 2562

Photo by Manjunath Kiran / AFP

ใครกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

ก่อนหน้าที่จะมีรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง การกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอำนาจของ คสช. แต่เมื่อหมด คสช. ก็ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดว่าเหมาะสมที่จะให้มีการเลือกตั้งแล้วหรือยัง จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไปกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45 วันหลังจาก ครม.มีมติ

โหมโรงที่สองของการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงเป็นข่าวคราวที่ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะทยอยมีขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีข่าวคราวว่าจะเป็นการทยอยการเลือกตั้งทีละประเภท ห่างกันประเภทละ 3 เดือนโดยเริ่มจากใหญ่ไปเล็ก คือเริ่มจากกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ตามด้วย อบจ. เทศบาล และปิดท้ายที่ อบต.ประมาณห้าพันกว่าแห่ง

ข่าวดังกล่าวถึงกับกระตุ้นให้นักการเมืองระดับชาติหลายคนยอมอดเปรี้ยวไม่ลงการเลือกตั้งทั่วไปเพราะคาดว่าอีกไม่เกิน 6 เดือนน่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ อบจ.ต่างๆ

สุดท้ายเปรี้ยวก็ไม่ได้กิน หวานก็ไม่ได้รับประทาน

กระแสสังคมที่กดดัน

ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป เพราะหากอยู่ในวาระ 4 ปีและพ้นจากตำแหน่งแล้ว 6 ปี ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ เท่ากับว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในอำนาจยาวนานถึง 10 ปี ย่อมเป็นการสั่งสมอิทธิพลบารมี สะสมความได้เปรียบทางการเมืองเหนือคู่แข่ง

และกลายเป็นฐานอำนาจการเมืองที่สำคัญในท้องถิ่นที่แม้ประชาชนจะเบื่อหน่ายหรือต้องการเปลี่ยนแปลงก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีการเลือกตั้ง

กระแสการกดดันของสังคมทั้งในระดับพื้นที่ที่มาจากประชาชนและทั้งในส่วนกลางที่ฝ่ายการเมืองและนักวิชาการซึ่งเห็นว่าควรเร่งรีบในการดำเนินการดังกล่าวได้แล้วเนื่องจากผ่านพ้นหมดวาระมาเป็นเวลายาวนานมาก

คำแก้ตัวที่คล้ายคำปลอบใจและนำไปสู่โหมโรงที่สามคือ ยังต้องรอให้งบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2563 ที่ล่าช้าผ่านสภาก่อน ซึ่งทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าต้นปี 2563 ไม่พ้นเดือนมีนาคม น่าจะเริ่มการเลือกตั้งท้องถิ่นบางส่วนได้

แต่เพลงโหมโรงรอบนี้ก็ถูกขัดจังหวะโดยการแพร่กระจายของโรคโควิด-19

Photo by MADAREE TOHLALA / AFP

โรคร้ายที่ถูกอ้างกับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

คํากล่าวแบบโยนหินถามทางของรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะไม่เกิดในปี พ.ศ.2563 เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินถูกใช้หมดไปแล้วกับการแก้ไขปัญหาโรคระบาดร้ายแรง

แต่ก็ถูกสวนด้วยความรู้จริงของหลายฝ่ายว่า งบประมาณที่ใช้เพื่อเลือกตั้งท้องถิ่นมิใช่งบส่วนกลางเป็นหลักแต่เป็นงบฯ ที่ท้องถิ่นแต่ละแห่งได้ถูกสั่งให้เตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลา

ตอกย้ำจากฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีงบประมาณรองรับพร้อมเลือกเมื่อใดก็ได้

ทำให้ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องออกมาดับกระแสและเล่นเพลงโหมโรงรอบใหม่ว่า อย่างไรในสิ้นปี 2563 จะต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางประเภทเกิดขึ้นแน่ๆ

เป็นเพลงโหมโรงที่สี่ที่เจ้าของวงลงมาเล่นเอง

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความเชื่อถือ เนื่องจากเพลงที่เล่นคล้ายไม่จริงจัง อีกทั้งนักดนตรีก็ดูเหนื่อยล้าและเหยาะแหยะจากการเล่นเพลงมาหลายรอบเพราะงานที่ทำ งานที่เตรียม ต้องรื้อ ต้องทำใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า

ทุกสิ้นปี สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ต้องทำรายงานจำนวนประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อใช้เป็นฐานการคำนวณผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นข้อมูลในการแบ่งเขตของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งต้องมีการแบ่งเขตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ให้เกิดความเป็นธรรม ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้-เสีย เตรียมการในเรื่องการสรรหาและฝึกอบรมคณะกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่น ตลอดจนการวางแผนทางธุรการต่างๆ ให้เป็นระบบ

ทุกฝ่ายเตรียมกันพร้อม ถึงขนาด กกต.ประกาศว่า ปี 2563 จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้งท้องถิ่น

แต่ก็ได้แต่เงื้อง่าราคาแพง และถ้าหากลากกันจนเลยปี 2563 ไป เท่ากับว่ากระบวนการต่างๆ ที่เริ่มต้นทำจากสำนักบริหารทะเบียนต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ สำรวจจำนวนประชากรใหม่ กกต.ต้องแบ่งเขตใหม่ เตรียมการใหม่ในวงรอบแบบเดิม

ต้นทุนของการไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่น จึงไม่ใช่ต้นทุนที่ประชาชนขาดโอกาสในการเลือกผู้ปกครองท้องถิ่นของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทุนทางธุรการที่สูญเปล่าไปในแต่ละปีที่ผ่านไปด้วย

เสียงปี่พาทย์ ระนาด ฆ้องวง ผสมเสียงกลองและเครื่องสายดังโหมโรงมาหลายรอบ คนดูชะแง้มองว่าเมื่อไรมหรสพที่รอคอยจะได้เล่น รอตัวพระตัวนางขวัญใจที่จะออกมาให้ยลโฉมชื่นใจ แต่เพลงโหมโรงยังไม่มีทีท่าจะเลิก

หรือเจ้าของโรงลืมคิดไปว่า คนดูเขาก็มีความอดกลั้นจำกัด โหมโรงซ้ำและนานไปมีสิทธิจะถูกขว้างโรง!!!