คนทำสื่อยุคดิจิตอล ท่ามกลางโควิด-19 | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

ก่อนโควิด-19 จะสร้างความ “ปกติใหม่” ให้กับคนทั้งโลก การนัดสัมภาษณ์พูดคุยเป็นเรื่องที่ต้องพบหน้าพบตาแต่งหน้าทาปากกันเป็นกิจจะลักษณะ

เป็นวิถีแห่งความเป็นทางการแห่งสื่อดั้งเดิม

แต่เมื่อเจ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาละวาดอย่างรุนแรง ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม, ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

รวมถึงการนัดพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันให้สาธารณชนได้รับรู้พร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก

เวทีสัมภาษณ์ออนไลน์จึงเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน…แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะทำอย่างนั้นได้ แต่ความลังเลระบาดกว้างขวางพอๆ กับไวรัส

แต่ผู้คนสามารถหาข้ออ้างที่จะไม่ก้าวเข้าสู่ digital transformation ได้ในทุกกรณีจนไม่เกิดความพร้อมที่จะทำเรื่องยากให้ง่าย เรื่องซับซ้อนทั้งหลายให้คลายความวุ่นวาย

วันดีคืนดี ผมจึงเชิญ “คนหน้าจอ” ที่ทำสื่อออนไลน์มาระยะหนึ่งแล้วมาสนทนากันหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Zoom ที่สามารถทำให้คนหลายร้อยคนสามารถเข้ามาเจอะเจอและสนทนากันได้

เสมือนหนึ่งอยู่ในห้องประชุมเดียวกันในงานสัมมนาทั้งๆ ที่ทุกคนนั่งอยู่ที่บ้านหรือกำลังเคลื่อนไหวอยู่ที่ไหนของโลกก็ได้…ขอเพียงให้มีอินเตอร์เน็ตที่เร็วพอ ก็เข้าร่วม Virtual Conference ได้ทันที

 

ผมเชิญ 4 คนรุ่นใหม่ในวงการสื่อออนไลน์มาแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับภาวะโควิด-19 กับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อชีวิตการทำงานของพวกเขาและต่อวงการสื่อและสังคมในภาพรวม

คุณยุทธนา บุญล้อม รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงาน Showbiz GMM Grammy ซึ่งเป็นเจ้าของรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก”

คุณหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด เจ้าของรายการ “Beartai” (แบไต๋)

คุณเกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (น้าเน็ก) ผู้บริหาร และเจ้าของเพจ nanake555 รายการ “อย่าหาว่าน้าสอน” “หงี่-เหลา-เป่า-ติ้ว” “คุยต้องรวย” และ “รีวิวอาหารช่วยชาติ”

กับ คุณเคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard เจ้าของรายการพอดคาสต์ “The Secret Sauce”

ทั้งสี่ท่านนี้ผมถือว่าเป็นตัวอย่างของการข้ามจากสื่อดั้งเดิมสู่ดิจิตอลที่เคยฟันฝ่าการเปลี่ยนผ่านจากสื่อเดิมสู่สื่อออนไลน์ เผชิญกับความท้าทาย และต้องแสวงหาทางออกที่แปลกแตกต่างไปจากเดิมในเกือบทุกมิติ

ยังไม่ทันที่ต้องสร้างความมั่นใจว่าสื่อออนไลน์จะสามารถสร้างคนดูคนฟังและคนอ่านได้มากพอที่จะมีความยั่งยืนแท้จริงได้ก็ต้องเจอกับแรงกระแทกอย่างหนักหน่วงของโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่

หรือในท้ายที่สุดจะจบจริงหรือไม่

บทสนทนาออนไลน์วันนั้นจึงสนุกสนานและได้สาระที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการนี้ที่พัวพันไปถึงพฤติกรรมใหม่ของสังคมในการเสพสื่อและสื่อสารกันเองอย่างดียิ่ง

 

หนุ่ยบอกว่าหากเปรียบกับทีวีช่องใหญ่ที่ยังขาดทุน องค์กรของเขาเล็กกว่า มีทีมงาน 40 คน

“เราตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เงยหน้ามาก็พบว่ามีเงินเหลือ ดังนั้น ในภาวะโควิด ต้องไม่คิดถึงสเกลใหญ่ ต้องคิดทำอะไรก็ได้ที่ทำไปเรื่อยๆ แล้ว พอเงยหน้าขึ้นมา อ้อ มีเงินเหลือ…”

เขาบอกว่าแม้จะเจอกับวิกฤตโควิด แบไต๋ก็ยังอยู่ได้ค่อนข้างดี ไม่ลดค่าใช้จ่ายของพนักงาน ไม่ได้ตัดค่าส่งเสริมการเดินทาง ตอนนี้ทุกคนทำงานจากบ้าน ผมไม่ได้ริบ ให้เอาไปจ่ายค่าเน็ตที่เพิ่มขึ้น ที่เหลือไปซื้อของเข้าตู้เย็น

“แล้วเราก็พบว่าเว็บไซต์เรามีสร้างเนื้อหาขึ้นไปกว่า 4 หมื่นชิ้นผลงานนั้น เมื่อวานนี้เวลาเที่ยงตรง จำนวนคนติดตามเพจนี้ของเราก็ทะลุล้านเป็นครั้งแรก”

ทำให้ทุกคนบนจอปรบมือ

บางคนจำประโยคเด็ด “ล้านแล้วจ้า” ของอดีตผู้สร้างหนังคนดัง ดอกดิน กัลยามาลย์ ที่ประสบความสำเร็จด้วยการเป็นผู้บุกเบิกสร้างหนังไทย

และเมื่อรายได้ทะลุล้านบาทในยุคสมัยนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจจริง

วันนี้ “ล้านแล้วจ้า” ไม่ได้หมายถึงเม็ดเงิน แต่ชี้ไปที่จำนวนผู้ติดตามออนไลน์ที่สร้างเม็ดเงินมากกว่า “ล้านแล้วจ้า” หลายสิบหลายร้อยเท่า

ทำไมแบไต๋จึงไม่ได้รับผลกระทบทางลบ ตรงกันข้ามกลับสร้างคนดูและรายได้เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ…ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่กำลังป่าวประกาศว่า “ไปไม่ไหวแล้ว”

“ผมเจอกับปัญหาดั้งเดิมมาก่อน ผมตัดสินใจเลิกแบกภาระหนักๆ ทั้งหมดที่เป็นส่วนหนึ่งของสื่อเดิม เช่น เลิกเช่าเวลาของผังรายการทีวี ผมเลิกเช่าสตูดิโอซึ่งเดิมแพงมาก ไปตั้งอยู่กลางสยาม เป็นต้น…”

หนุ่ยยอมรับว่าค่านิยมเดิมคือต้อง “หน้าใหญ่” ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

“มาฟังตอนนี้ดูเหมือนการปรับตัวเป็นเรื่องง่าย แต่ต้องเข้าใจว่าตอนนั้นมองดูผมเหมือนคนหน้าบาน อยากทำให้มันภาคภูมิ สมศักดิ์ศรี และอยู่ดีๆ ต้องกลับบ้าน มันฟังเหมือนพ่ายแพ้ และต้องมาทำอะไรเล็กๆ ก๊อกๆ แก๊กๆ ไปก่อน…จากนั้นผมก็ลองทำทุกอย่างในบ้าน สุดท้ายใช้เวลา 4 ปีก็ซ่อมสร้างสำเร็จ”

หนุ่ยบอกว่าช่วงนี้กลับกลายเป็นช่วงดีที่สุดเท่าที่ประกอบการหลังความเปลี่ยนแปลงมาเลยทีเดียว

 

น้าเน็กขอแซวในฐานะเพื่อนสนิท… “ขอประทานโทษ นี่หนุ่ยเล่าหรืออวดครับ”

หนุ่ยยืนยันว่า “มีงานถ่ายรีวิวสำหรับเพจของเราทุกวันเลยครับ…จนกระทั่งกรรมการผู้จัดการของผมบอกว่าเดี๋ยวนี้ผมเป็นห่านแล้ว…ห่านออกไข่ทองคำ…บางวันออกไข่ทองคำ 3 ฟองเลยนะ”

เคล็ดลับอาจจะเป็นการสร้างผลงานถี่ขึ้น…เปรียบเทียบกับแต่ก่อนที่ทำออกอาทิตย์ละครั้ง

“มันเป็นความถี่ที่อยู่ตรงหน้าปัดอินเตอร์เน็ตที่ไม่ติดอยู่กับผังรายการ มันออกเมื่อไหร่ก็ได้”

ผมถามว่ามันต้องมีที่มาที่ไป ห่านทองคำนี่ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โผล่มาได้

หนุ่ยบอกว่า “เมื่อผมได้ราคาที่ผมพอใจ ผมพบว่าเมื่อเราขายในราคาแบบนี้และเลี้ยงทีมงานได้ และก้มหน้าก้มตาทำงาน พอเงยหน้ามาแล้วเงินเหลือ ผมก็พอใจครับ”

ประเด็นสำคัญคือจำนวนวิวไม่ต้องมาก “ลูกค้าบอกว่าไม่ได้ต้องการวิวมากๆ …แค่ถึงหมื่นวิวแล้วสินค้าเริ่มขายได้เขาก็พอใจแล้ว”

คนทำธุรกิจค้นพบว่าการลงโฆษณาแบบเดิมค่อนข้างแพง และวัดผลไม่ค่อยจะชัดเจน แต่สื่อออนไลน์ตอบโจทย์ได้ทั้งเรื่องงบประมาณและความคุ้มค่า

 

ป๋าเต็ดจากแวดวงบันเทิงและจัดอีเวนต์บอกว่า “จุดแข็งของสื่อยุคใหม่แบบเล็กๆ กะทัดรัดคือเรามีทีมเล็ก ไม่กี่คน…”

น้าเน็กเสริม “ผมพยายามนับแล้ว มีประมาณ 5-6 คน นี่เอาตัวผมใส่ไปด้วยแล้วนะครับ”

ป๋าเต็ด : “ของผมก็ประมาณ 6 คนครับ หกคนนี่ผมนับลูกสาวและภรรยาเข้าไปแล้วด้วยนะครับ และ 3 คนเป็นพนักงานฟรีแลนซ์ และ 1 คนก็ทำงานด้านอีเวนต์อยู่แล้ว ผมก็เพิ่มหน้าที่ให้มาช่วยอีกด้านหนึ่งด้วย รายการป๋าเต็ดทอล์กถือว่าไม่มีพนักงานประจำเลย”

เคล็ดลับของความอยู่รอดในสูตรนี้คือต้นทุนต่ำ

“ตอนทำป๋าเต็ดทอล์กเป็นโครงการส่วนตัว ไม่ได้คิดว่าจะเป็นธุรกิจด้วยซ้ำไป ถ้าคุณหนุ่ยไม่มาชวนไปแจมกับแบไต๋ มันก็ไม่ได้เป็นธุรกิจด้วยซ้ำไป”

หัวใจของความเปลี่ยนแปลงไปสู่สื่อแบบออนไลน์เล็กๆ และคล่องตัวคือ “เราทำในสิ่งที่เราถนัด ความ unique หรือการทำในสิ่งที่เป็นตัวของเรานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสื่อออนไลน์…”

ป๋าเต็ดบอกว่าเพิ่งโพสต์ข้อความแซวเพื่อนเล่นๆ ในเฟซบุ๊กว่า

“เราคงต้องเพลาๆ เรื่องการโพสต์อะไรบนเฟซบุ๊กสักหน่อยแล้ว เพราะตอนนี้ดูเหมือนจะมีคนทำไลฟ์สดมากกว่าคนดูแล้ว…”

(สัปดาห์หน้า : หลังโควิด สื่อและคนเสพสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไร?)