กรองกระแส / ก้าวใหม่รัฐบาล คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ชี้ขาดอนาคต

กรองกระแส

 

ก้าวใหม่รัฐบาล

คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

ชี้ขาดอนาคต

 

มีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะส่งผลสะเทือนและนำไปสู่การต้องปรับ ครม.อย่างเด่นชัด แต่จนแล้วจนรอดการปรับ ครม.ก็ทอดเวลาเนิ่นยาวมาจนถึงเดือนกรกฎาคม

นั่นก็คือ ปัจจัยจากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

นั่นก็คือ ปัจจัยจากการยื่นใบลาออกจากหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

นั่นก็คือ ปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารของพรรคพลังประชารัฐ

อันส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค อันส่งผลให้นายอนุชา นาคาศัย เข้าดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค

แต่ที่การปรับ ครม.ยังทอดเวลาออกมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ก็มีปัจจัยเบียดแทรก

ปัจจัย 1 ก็เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจัย 1 ก็เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สุกงอมอย่างเพียงพอในการปรับ ครม.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยจาก “ครม.เศรษฐกิจ”

 

ปมพลังประชารัฐ

ดรีมทีมเศรษฐกิจ

ต้องยอมรับว่าปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐมิได้เป็นปัญหาในเรื่องความเรียกร้องต้องการตำแหน่งในทางการเมืองอย่างเดียว

หากแต่มาจากผลสะเทือนจากสังคมโดยรวม

เป็นผลสะเทือนที่ความอ่อนด้อยของ “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลได้สำแดงและปรากฏอย่างเด่นชัดในห้วงแห่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

กระทั่งเกิดความเรียกร้องต้องการ “ทีมเศรษฐกิจ” ใหม่

ในเมื่อทีมเศรษฐกิจเดิมมาจากองค์ประกอบของ “กลุ่ม 4 กุมาร” อย่างแนบแน่นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 กระทั่งก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

จึงเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ

เป็นการกดดันให้นายอุตตม สาวนายน พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เป็นการกดดันให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค

เพื่อส่งผลสะเทือนไปยังตำแหน่งทางการเมืองใน ครม.

 

ดรีมทีมเศรษฐกิจ

รัฐบาลประยุทธ์

ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางตัวอยู่เหนือความขัดแย้งและยืนยันว่า จะไม่ส่งผลสะเทือนต่อการปรับ ครม.

เป็นการยืนยันในสถานะการเมืองของ “กลุ่ม 4 กุมาร”

เห็นได้จากการเรียกตัวนายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไปยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เพราะเรื่องรัฐบาลเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เห็นได้จากการส่งไลน์ยืนยันถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่ายังไม่มีการปรับ ครม. อันเท่ากับยืนยันต่อสถานะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

นี่ย่อมเป็นการแย้งกันโดยพื้นฐานกับความต้องการภายในพรรคพลังประชารัฐ

เพราะว่าความรู้สึกภายในพรรคพลังประชารัฐต้องการเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจ ต้องการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐ

 

สัมพันธ์ลึกซึ้ง

ประวิตร ประยุทธ์

ความสัมพันธ์ระหว่าง “กลุ่ม 3 ป.” อันประกอบส่วนขึ้นตามอาวุโส คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้ง

ลึกซึ้งทั้งในทาง “การทหาร” และในทาง “การเมือง”

การรุกคืบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปอยู่ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ และที่สุดหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นการรุกคืบที่เห็นร่วมกันของ “3 ป.”

กระทำเพื่อเป็นหลักประกันในการกำกับควบคุมพรรคพลังประชารัฐ

มีความเชื่อมั่นว่าถึงอย่างไร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็จะจัดการปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐให้ราบรื่นจนได้

ทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กระนั้น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกุมอำนาจ “ใหม่” พรรคพลังประชารัฐ เป็นความขัดแย้งที่สำแดงออกอย่างเด่นชัดผ่านกระบวนการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน

นี่คือรูปการใหม่ การกดดันใหม่ในทางการเมือง

 

ปรับ ครม.เศรษฐกิจ

กับอนาคตรัฐบาล

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก้าวมาถึงหัวเลี้ยวใหม่ของความขัดแย้งที่ท้าทายต่ออนาคตในทางการเมืองเป็นอย่างสูง

โดยเดิมพันอยู่ที่องค์ประกอบของ “ครม.เศรษฐกิจ”

นั่นก็คือ จะดำรงโครงสร้างเดิมที่ต่อเนื่องมาจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หรือจะปรับและนำเอาโครงสร้างใหม่ภายหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มารับมือ

            จะเป็น “นิวนอร์มอล” หรือจะเป็น “โอลด์นอร์มอล”