วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ‘พลังประยุทธ์-ประวิตร’ คือรัฐบาล

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

‘พลังประยุทธ์-ประวิตร’ คือรัฐบาล

 

ขึ้นเดือนกรกฎาคม ครึ่งหลังของปี 2563 เป็นเดือนที่มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเป็น “ประยุทธ์ 3/2” หมายถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในรัฐบาลชุดที่ 2 มีคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้เป็นชุดที่ 3 เป็นการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลายคน แต่นายกรัฐมนตรียังไม่เปลี่ยน–นะจ๊ะ

เอ๊ะ… แต่จะนับกันอย่างไรให้เป็นไปตามข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อวันก่อนแล้วกัน เขานับกันอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น จะได้เหมือนกับเพื่อนหนังสือพิมพ์เขา

การมีนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมือง หรือไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเคยมีมาสองสามครั้งแล้ว ครั้งที่รู้จักกันดีคือครั้งที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วรับเชิญจากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งแล้วหัวหน้าพรรคไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ด้วยเหตุผลหนึ่งเป็นที่ทราบกันดีคือ “ข้อมูลใหม่”

ตั้งแต่นั้น แม้ พล.อ.เปรมจะยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ หัวหน้าพรรคยังไม่ยอมเป็นนายกรัฐมนตรีเอง กระทั่งครั้งหลังสุดที่เลือกตั้งเรียบร้อย หัวหน้าพรรคไปเชิญให้ พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับคำตอบว่า “ผมพอแล้ว”

นั่นแหละ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีกับเขาเสียที

 

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ว่างั้นเถอะ เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการเป็นนายกรัฐมนตรีจากใครก็ได้ (หมายความตามรัฐธรรมนูญ) คือไม่ต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องมาจากการเสนอให้สมาชิกรัฐสภารับรอง และการจะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการไม่ไว้วางใจต้องมาจากสมาชิกรัฐสภา คือเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

ดังนั้น การที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับพรรคร่วมมากกว่าพรรคฝ่ายค้าน วันนี้มีหัวหน้าพรรคชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกพรรคการเมือง เช่นเดียวกับที่เคยมีรัฐบาลเช่นนี้มาแล้ว

วันนี้ พรรคพลังประชารัฐมีหัวหน้าพรรคคนใหม่คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีเลขาธิการพรรคคือ นายอนุชา นาคาศัย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิก และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คือ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสุชาติ ชมกลิ่น นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

นายสุพล ฟองงาม นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ นายชาญวิทย์ วิภูศิริ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ นายนิโรธ สุนทรเลขา นายไผ่ ลิกค์ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ นายสุรชาติ ศรีบุศกร นายนิพันธ์ ศิริธร นางประภาพร อัศวเหม และนายสกลธี ภัททิยกุล

คณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นรองหัวหน้าพรรค 9 คน นอกนั้นเป็นกรรมการอื่นๆ และมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีหลายคนร่วมกับรัฐมนตรีในพรรคร่วมอื่น

แม้มิได้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นไปตามกระบวนการทางการเมืองของประเทศไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งในเรื่องของรัฐสภาและรัฐบาล

ดังนั้น หากประชาชนต้องการให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องให้สมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการ (ซึ่งจะเป็นเมื่อใดไม่ทราบ) เมื่อนั้น คือประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง

 

หลังจากนี้เมื่อนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อย รัฐบาลชุดใหม่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคนำรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเดิมอีกสองสามพรรค ซึ่งไม่ทราบจะมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากเดิมเป็นใครบ้าง แต่ในรัฐสภายังมีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังดูแลเอาใจใส่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นพิเศษเหมือนเมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคกระนั้น

นับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เห็นต้องมาเอาใจใส่กับรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐมีหัวหน้าพรรคชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแกนนำ มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นหัวหน้าพรรค

ด้วยเหตุว่าพรรคประชาธิปัตย์คุมทั้งกิจการค้า คือกระทรวงพาณิชย์ และกิจการเกษตรกรรม คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจประเทศ ที่ขณะนี้ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นในการนำพาการเกษตรและสินค้าเกษตรไปสู่ตลาดโลกในรูปทั้งสินค้าสดและสินค้าสำเร็จรูป อันเป็นที่ต้องการของประชาคมโลก โดยเฉพาะจีน

หากภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังเห็นความสำคัญของ 2 กระทรวงนี้ โดยวางความขัดแย้งภายในพรรคไว้ข้างตัวเสียก่อน รับรองว่าความแข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์จะเกิดขึ้นทันที

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ยังคงเป็นพรรคที่เหนียวแน่นทางด้านกิจการคมนาคมที่มีปัญหาใหญ่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงโดยเร็ว คือการบินไทย แต่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเมื่อบริษัทเดินเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกติกาของกฎหมายคือเข้าสู่กิจการฟื้นฟูตามกฎหมาย แล้วปล่อยให้กิจการเริ่มดำเนินการจากการฟื้นฟูไปอีกไม่กี่ปี พอปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ความรับผิดชอบก็ตกเป็นของรัฐบาลใหม่

 

หากประเทศไทยยังคงมั่นคงในรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยครึ่งใบเช่นขณะนี้ พรรคการเมืองยังเห็นแก่เสถียรภาพของตัวเองมากกว่าเสถียรภาพของประเทศ พรรคการเมืองยังเห็นแก่การมีนายกรัฐมนตรีที่ตัวเองค้ำยัน โดยมีพลังทหารร่วมค้ำชู

โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และดูแลกระบวนการทหารหาญ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนหัวขบวนตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

รับรองว่ารัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะแข็งขันไปอีกอย่างน้อย 1 ปีเต็ม