มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / บทเรียนจากเรือนไม้

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

บทเรียนจากเรือนไม้

เรื่องที่จะมองฉบับนี้ คงไม่ใช่ข่าวสด เพราะเป็นข่าวเก่าผ่านมาแล้วหลายสิบวัน แต่เป็นข่าวฮือฮามากในโซเชียลมีเดียอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และคุยข่าวบนจอโทรทัศน์อยู่หลายวัน

ที่จริงเป็นแค่ข่าวชาวบ้าน ข่าวการรื้อถอนอาคารไม้เก่าหลังเล็กๆ หลังหนึ่งในจังหวัดแพร่เท่านั้น เรือนไม้โบราณที่บริษัทค้าไม้ฝรั่งสร้างไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตอนเข้ามาทำธุรกิจตัดไม้สักส่งไปขายยุโรป

ปัจจุบันอาคารหลังนี้ อยู่ในเขตสวนรุกขชาติเชตวัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บังเอิญว่า มีชาวบ้านไปพบเห็นอาคารไม้โบราณถูกรื้อถอน กลายเป็นซากอาคาร มีแต่กองดินและกองไม้ระเกะระกะ จึงอาศัยโซเชียลมีเดียส่งข่าวให้รู้กันทั่วประเทศ

จนกลายเป็นข่าวดัง ให้นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ผู้ชำนาญการวัฒนธรรม หัวหน้าหน่วยงาน ผู้ว่าราชการ อธิบดี จนถึงรัฐมนตรี มีโอกาสออกมาร่วมวงเสนอหน้า เสนอความคิดเห็น

 

เรื่องนี้ เริ่มที่อาคารศูนย์เรียนรู้หลังนี้ ทรุดโทรมมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ จึงได้รับงบประมาณมาซ่อมแซม ไม่ได้รื้อทิ้งแต่อย่างใด การรื้อถอนอาคารแบบที่เห็น นับเป็นขั้นตอนแรกของการซ่อมแซมอาคาร ตามงบประมาณที่ได้มา โดยบริษัทรับเหมาเอกชน มีสถาปนิกและวิศวกรควบคุม และคณะกรรมการกำกับ ครบตามระเบียบราชการ

คงเป็นเพราะหน่วยงานคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ผู้ดูแลเขตสวนรุกขชาติเชตวัน เจ้าของงบประมาณไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทราบ ถึงแผนงานดังกล่าว จึงเกิดอาการตื่นตระหนกตกใจว่า มีการรื้อทำลายอาคารเก่าแก่

คงเป็นเพราะข้าราชการเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสัตว์และพืชที่มีชีวิต จึงไม่เข้าใจอาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีชีวิต

คงเป็นเพราะข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีภาระหน้าที่ดูแลโบราณสถาน อาคารประวัติศาสตร์ หรือมรดกทางสถาปัตยกรรม

คงเป็นเพราะข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากต่างถิ่น คิดว่าเป็นการซ่อมแซมอาคารราชการทั่วไป ไม่ได้คิดว่าจะมีชาวบ้านสนใจมากขนาดนี้ โดยเฉพาะไม่คิดว่าเรือนไม้โทรมจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมชุมชน

คงเป็นเพราะสถาปนิกและวิศวกร ออกแบบและควบคุมงาน ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชน จึงไม่มีความรู้พอที่จะออกรูปแบบ กำหนดรายการ และควบคุม ให้ช่างและคนงานทำการอย่างถูกต้อง

คงเป็นเพราะบริษัทรับจ้างคู่สัญญา เป็นบริษัทรับงานราชการทั่วไป จึงไม่ได้ใส่ใจในเนื้องาน ไม่ได้คิดหาวิธีการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่

คงเป็นเพราะสำนักงบประมาณฯ ไม่ได้ตรวจสอบการของบประมาณซ่อมอาคารที่หน่วยงานเสนอขอ ว่ามีวิธีดำเนินการที่เหมาะสม และจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

คงเป็นเพราะหัวหน้าส่วนราชการในท้องที่ โยกย้ายมาตามระบบการปกครอง จึงขาดความรู้ ความผูกพันกับอาคารสถานที่ที่กำกับดูแลอยู่

คงเป็นเหมือนกับอาคารอีกหลายหลัง อีกหลายโครงการที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไปทั่วประเทศ ทั้งที่รื้อทิ้งไปโดยไม่มีคนสนใจ รื้อแล้วสร้างใหม่แบบขอไปที เพราะไม่มีใครว่า ทุกวันนี้ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชน เป็นเรื่องที่แพร่หลาย โดยเฉพาะการรับรู้ในคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรม ที่ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว

คงมีแต่ข้าราชการที่สนใจเฉพาะสาขาวิชาที่รับผิดชอบ หรือข้าราชการที่แต่งตั้งจากส่วนกลาง ที่โยกย้ายมาทำงานที่แพร่ ตามวาระ และอีกไม่นานก็ออกไป

 

เรื่องนี้จะพึ่งผู้บริหารท้องถิ่น ก็มีปัญหาว่า ถูก คสช.ยุบทิ้ง เพราะกลัวจะสร้างความไม่สงบ และเป็นภัยต่อชาติ พอจะเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ก็ไม่มีงบประมาณ เพราะเอาไปป้องกันการระบาดโควิด-19 หมดแล้ว

คงต้องขอความช่วยเหลือจากท่านรองนายกฯ ช่วยจัดงบประมาณเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อจะได้ผู้บริหารที่คอยดูแลและจัดการเรื่องบ้านๆ แบบนี้

ไม่ต้องรบกวนให้คนเมืองแพร่ และคนเมืองอื่น ช่วยสร้างกระแส เป็นที่รับรู้เหมือนอาคารหลังนี้