ตั้งโจทย์ผิด? 2สัญญาณจาก“บีอาร์เอ็น” กับการ“ปฏิเสธ”แผนสันติภาพทางการไทย

AFP PHOTO / MADAREE TOHLALA

ช่วงสุกดิบก่อนมหาสงกรานต์ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับ “บีอาร์เอ็น” บาริซาน เรโวลูซี เนชั่นแนล ขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้สำคัญหนึ่งในหลายๆ กลุ่ม ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้ออกมา

ชิ้นแรก เป็นรายงานของ แอนโธนี เดวิส แห่ง เอไทมส์ออนไลน์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 10 เมษายน

อีกชิ้น เป็นรายงานของ เฌอโรม เทย์เลอร์ ผู้สื่อข่าวให้เอเอฟพี เผยแพร่ตามหลังมาเมื่อ 11 เมษายน

ทั้ง 2 ชิ้นให้ภาพรวมเหมือนๆ กันว่า บีอาร์เอ็น ก็คือขบวนการหลักที่รับผิดชอบในการลงมือก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

รายงานของ แอนโธนี เดวิส มุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการของกลุ่มนี้ เริ่มด้วยการตั้งข้อสังเกตถึงเหตุความไม่สงบระลอกหลังสุดในช่วงปลายมีนาคมต่อเนื่องกับต้นเมษายนนี้ หลังจากสงบมาพักใหญ่ด้วยสภาวะแวดล้อมที่มีทั้งน้ำท่วมและฝนกระหน่ำหนัก

เริ่มตั้งแต่เหตุก่อความไม่สงบเมื่อ 30 มีนาคม ด้วยการระดมยิงเข้าใส่สถานีตำรวจภูธร อ.ระแงะ จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย เจ็บ 5 นาย

ต่อด้วยการโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ด้วยกำลัง 40-50 คนเมื่อตอนตีหนึ่งของวันที่ 3 เมษายน ทางใต้ของ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 12 นาย

สุดท้ายที่ถูกมองว่าเป็นเหมือนการ “อวดอานุภาพ” คือการโจมตีพร้อมกันหรือต่อเนื่องกันในหลายๆ จุดไล่ตั้งแต่ย่ำค่ำวันที่ 6 เมษายน ไปจนถึงย่ำรุ่งของวันที่ 7 เมษายน จุดเกิดเหตุครอบคลุม 19 อำเภอใน 4 จังหวัด ทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางพื้นที่ของสงขลา วัตถุประสงค์หลักมุ่งทำลายโครงข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้า ด้วยระเบิดบ้าง จุดไฟเผาบ้าง มีบางกรณีที่เป็นการจู่โจมแบบยิงแล้วหลบหนีด้วยอาวุธปืนขนาดเล็ก

สิ่งที่เดวิสต้องการนำเสนอก็คือ นอกเหนือจากรูปแบบการก่อการและหลบหนี ที่สะท้อนถึง “เครื่องหมายการค้า” ของบีอาร์เอ็นแล้ว ขอบเขตและปฏิบัติการเหล่านี้ เป็นการดำเนินการเชิงรุก ในพื้นที่กินอาณาบริเวณเป็นวงกว้าง

ซึ่ง “อาจ” เป็นเครื่องบ่งชี้ถึง “ผู้ก่อการเยาว์วัยรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้รับการฝึกเสร็จมาหมาดๆ” ซึ่งไม่เคยปรากฏรายชื่อหรือรูปพรรณอยู่ใน “ฐานข้อมูลข่าวกรอง” ที่สะสมเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

Police investigate the scene of a shooting in Khoksator village in southern Thailand on March 2, 2017. / AFP PHOTO / Madaree TOHLALA

ความเป็น “มือใหม่หัดก่อเหตุ” ที่ว่านี้ สอดคล้องกับการประเมินของเจ้าหน้าที่ทางการ ที่ชี้ให้เห็นว่าในหลายปฏิบัติการระลอกล่าสุด ระเบิด “แสวงเครื่อง” ในหลายๆ จุด ไม่ทำงานหรือทำงานได้ไม่เต็มอานุภาพเหมือนที่ผ่านมา ในกรณีของกรงปินัง ระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง 8 ลูก ไม่ระเบิด ระเบิดท่ออีก 8 ลูกซึ่งใช้ติดตั้งเพื่อทำลายเสาไฟฟ้าไม่ทำงาน เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในช่วงรอยต่อ 6-7 เมษายน ที่ระเบิดที่ใช้ติดตั้งกับเสาไฟฟ้าแรงสูง ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ก็ไม่ระเบิดขึ้นมาอย่างที่ต้องการ

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาคือ แอนโธนี เดวิส บอกว่า สามารถติดต่อขอความเห็นจาก “อัลดุลการิม คาหลิด” ซึ่งเขาระบุว่าเป็น “โฆษก” ของ “แผนกข่าวสาร” ของบีอาร์เอ็นผ่านทาง “อี-เมล” ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตาม “ปฏิบัติการทางทหารปกติทั่วไป” ตาม “ยุทธศาสตร์” ของบีอาร์เอ็น ที่พิสูจน์ให้เห็นตลอด 13 ปีที่ผ่านมา

AFP PHOTO / Madaree TOHLALA

เมื่อถามถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น “นอกพื้นที่” เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ว่า ถือเป็นการเปลี่ยนยุทธวิธีไปเป็นการโจมตี “เป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ” หรือไม่

คำตอบของผู้ใช้ชื่อว่า “อับดุลการิม คาหลิด” เหมือนจะปฏิเสธอยู่ในที “บีอาร์เอ็นชัดเจนมากเกี่ยวกับการจำกัดปฏิบัติการทางทหารให้อยู่ในพื้นที่ เราไม่ได้ปฏิบัติการนอกพื้นที่ที่เรากำหนดไว้” แต่ในขณะเดียวกันก็บอกไว้ด้วยว่า “ในสถานการณ์ที่แน่นอนและสภาวะแวดล้อมที่แน่นอนบางอย่าง ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่บีอาร์เอ็นจะทำอะไรนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้”

คาหลิด ยังปฏิเสธ “ข่าวลือ” ที่สะพัดในช่วงที่ผ่านมาว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับ “แกนนำ” บีอาร์เอ็นขึ้นมาที่พาดพิงถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ “อับดุลเลาะห์ วัน มัต นอร์” สายทหารแนวแข็งกร้าวซึ่งถูกระบุว่า กลายเป็น “ประธานคนใหม่” ของ “เดวัน ปิมปินัน ปาร์ตี (ดีพีพี)” หรือสภาสูงสุดของบีอาร์เอ็น

โดยอ้างว่า “องค์กรลับ” ของบีอาร์เอ็นนั้นเน้นให้ความสำคัญของสภามากกว่าตัวบุคคล

AFP PHOTO / TUWAEDANIYA MERINGING

นอกเหนือจากข้อมูลภายในใหม่ๆ ที่น่าสนใจของ แอนโธนี เดวิส แล้ว รายงานของเอเอฟพีที่มุ่งเน้นไปที่การเจรจาสันติภาพกับทางการไทยก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นเดียวกัน

รายงานของเอเอฟพีนั้นระบุว่า บีอาร์เอ็น “ปฏิเสธ” ข้อเสนอตามแผนสันติภาพของทางการไทย “ถ้า” ไม่มี “ฝ่ายที่ 3” ที่เป็นตัวแทนของประชาคมระหว่างประเทศ “ร่วมอยู่ในแผนสันติภาพทั้งในฐานะพยานและผู้สังเกตการณ์” และมี “คนกลาง” ที่ไม่เข้าข้างใครเป็นผู้นำในการเจรจา ไม่ใช่ทางการไทย

ที่บอกว่าน่าสนใจก็เพราะ แมตธิว วีลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มศึกษาวิกฤตนานาชาติ (ไอซีจี) ชี้ว่า ถ้อยแถลงดังกล่าว ถึงจะสะท้อนความไม่ไว้วางใจกับกระบวนการสันติภาพในเวลานี้ แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูตายเสียทีเดียว

บีอาร์เอ็นไม่ได้ปฏิเสธการเจรจา เพียงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในกระบวนการที่เป็นอยู่ในเวลานี้เท่านั้น

นั่นหมายถึงว่าถ้าเงื่อนไขถูกต้อง การเจรจาสันติภาพก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ครับ