ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
บายศรี ข้าวสุกข้าวขวัญ
เซ่นสังเวยผีแถนผีฟ้า
บายศรีเป็นประเพณีในพิธีกรรมทางศาสนาผี หมายถึง ข้าวสุกผีขวัญแม่ข้าว เรียกข้าวขวัญเซ่นสังเวยผีฟ้าผีแถนโดยใส่กระทงหรือกระบาน ต่อมาภาชนะถูกให้ความสำคัญเหนือข้าวสุกโดยปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องใบตองเลียนแบบเครื่องสูงในพระราชพิธี หลังจากนั้นสร้างสรรค์เป็นรูปลักษณ์หลากหลายไกลออกไปจากข้าวสุกแม่ข้าวจนเกือบไม่เหลือความหมายเดิม

บายศรีมีต้นตอจากคำเขมรว่าบายสี หรือ บายสฺรี (บาย-เซฺร็ย) แปลว่า ข้าวสุกแม่ข้าว (บาย แปลว่า ข้าวสุก, สฺรี แปลว่า หญิง หรือสตรี)
ต่อมาคำว่า สฺรี ถูกกลืนจากคำว่า ศรี (ที่หมายถึง พระศรี คือ พระลักษมี) เลยสะกดว่าบายศรี
บายศรี คือ ข้าวสุกแม่ข้าว หรือข้าวขวัญ หมายถึง ข้าวสุกที่ได้จากข้าวเปลือกผ่านพิธีทำขวัญข้าวแล้ว แบ่งไปตำซ้อมเป็นข้าวสาร (ข้าวกล้อง) ทำให้สุกชุดแรกเรียกข้าวสุกเซ่นผีฟ้า และด้วยเหตุข้าวสุกได้จากข้าวเปลือกที่ผ่านพิธีทำขวัญ จึงเรียกข้าวสุกชุดนี้ว่าข้าวขวัญ
ข้าวสุกชุดแรกน่าจะเป็นข้าวในกระบอกไผ่ที่ถูกทำให้สุกด้วยการสุมไฟด้านนอกซึ่งปัจจุบันเรียกข้าวหลาม (ไม่มีกะทิ) ซึ่งเป็นวิธีเก่าสุดทำข้าวสารให้เป็นข้าวสุก (หลาม หมายถึง ทำให้สุกภายในกระบอกไม้ไผ่เผาไฟหรือสุมด้วยไฟ)
กระทงหรือกระบานทำจากใบตองและกาบกล้วยเพื่อใส่ข้าวสุกแม่ข้าวหรือข้าวขวัญเซ่นสังเวยผีฟ้าพญาแถน ถูกทำให้วิจิตรพิสดารขึ้นตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองหลังรับวัฒนธรรมอินเดีย
[กระทง หมายถึง ภาชนะใส่สิ่งของเย็บด้วยใบตองหรือกาบกล้วย ต่อมาอาจทำด้วยวัสดุอื่นๆ (เช่น กระดาษ เป็นต้น) กระบาน (สะกดด้วย น. หนู) หมายถึงภาชนะใส่เครื่องเซ่นสังเวยคล้ายกระทง, กระบะ ฯลฯ ทำจากกาบกล้วยพับหักมุมเป็นสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมก็ได้ โดยใช้ไม้ตอกเส้นเสียบขัดแน่นเป็นตารางยึดติดกัน แล้วปูด้วยใบตองรองรับเครื่องเซ่นสังเวยใส่ตามช่องตารางในกระบาน (คนละอย่างจาก “กระบาล” สะกดด้วย ล. ลิง มาจากภาษาเขมร) แปลว่า หัวกะโหลก)]

เลียนแบบเครื่องสูง
หลังติดต่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วรับวัฒนธรรมอินเดีย มีความเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม กระตุ้นบายศรีมีประเพณีต่างกัน 2 ระดับที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกัน ได้แก่ ระดับชาวบ้าน กับ ระดับราชสำนัก
ชาวบ้าน บายศรีสืบทอดประเพณีข้าวขวัญหรือข้าวสุกแม่ข้าวเซ่นผีฟ้าใส่ภาชนะทำจากกาบกล้วยและใบตอง โดยเน้นที่ข้าวสุกแม่ข้าว
ราชสำนัก พัฒนากระทงข้าวขวัญหรือกระบานผีทำจากใบตองและกาบกล้วย ให้เป็นเครื่องใบตองทรงสูงเลียนแบบฉัตรรวงข้าวหรือเครื่องสูงที่พบในพระราชพิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว ซึ่งเรียกในเอกสารว่า “ฉัตรอันทำด้วยรวงข้าว” (คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)
ทรงสูง ตามประเพณีเครื่องบูชาซ้อนชั้นบนภาพสลักเสมาหินอีสาน ขณะเดียวกันก็เลียนแบบร่มซ้อนชั้นเรียกต่อมาว่าฉัตร
เครื่องบูชา เสมาหินอีสานมีภาพสลักเป็นภาชนะรูปหม้อ ซึ่งมีกรวยสูงครอบปากหม้อ น่าจะเป็นประเพณีต้นแบบทุกวันนี้เรียกกระทงบูชาทําจากใบตอง [จากบทความเรื่อง “จารึกใบเสมาบ้านพันนา” โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ของกรมศิลปากร ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (มี.ค.-เม.ย.) 2550 หน้า 52-57] ร่องรอยหลักฐานเหล่านี้น่าจะมีพัฒนาการต่อไปเป็นเครื่องสูงต้นแบบบายศรี (หนังสือ ทวารวดีในอีสาน ของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558)
ครั้นนานไปบายศรีได้รับยกย่องเป็นเครื่องแสดงฐานะและอํานาจ จึงให้ความสําคัญแก่ภาชนะทําจากใบตองอยู่เหนือข้าวสุกแม่ข้าว เลยสร้างสรรค์เครื่องใบตองเป็นรูปลักษณ์หลากหลายไกลออกไปจากความหมายเดิม แล้วกลายชื่อเป็น “ใบศรี” กระทั่งบางทีไม่เหลือความหมายเดิม โดยไม่ให้ความสําคัญข้าวสุก หรือมีข้าวสุกด้วยแต่แยกจัดวางต่างหาก หรือแปรสภาพเป็นข้าวต้มมัดก็มี
บายศรีปัจจุบัน หมายถึงเครื่องเชิญขวัญทรงสูงทําด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงซ้อนสูงขึ้นเป็นชั้นๆ เรียงจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็กตามลําดับ โดยมีต่างกันหลายแบบ เช่น บายศรีใหญ่, บายศรีปากชาม เป็นต้น แต่มักเรียกใบศรี ซึ่งเป็นปกติการกลายเสียงจาก “บาย” เป็น “ใบ” แต่ก็อาจสืบเนื่องความเข้าใจเปลี่ยนจากข้าวสุกเป็นใบตอง พบกลอนพรรณนาในเพลงยาวรําพันพิลาปของสุนทรภู่ แสดงความเปรียบว่าตนตกยากเหมือนใบศรีเสร็จงานก็เป็นแค่ใบตองทิ้งลงน้ำ
เหมือนใบศรีมีงานท่านถนอม เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง
[ต้นฉบับสมบูรณ์มี 30 หน้า A4 ชื่อ แม่โพสพ “เทวีข้าว” รัฐนาฏกรรมมาจากแม่ข้าวในศาสนาผี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ อ่านใน www.matichonweekly.com]