ใส่บ่าแบกหาม / พรพิมล ลิ่มเจริญ / A Beautiful Day in the Neighborhood

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

A Beautiful Day in the Neighborhood

 

เธอจ๊ะ

A Beautiful Day in the Neighborhood เป็นหนังเกี่ยวกับ Mister Rogers และเพื่อนที่เป็นนักข่าว ที่ได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้มาเขียนบทความเกี่ยวกับมิสเตอร์รอเจอร์ ด้วยว่า คนทำหนังได้แรงบันดาลใจจากบทความเขียนโดย Tom Junod นักเขียนที่เขียนบทความชื่อ Can You Say … Hero? ให้กับนิตยสาร Esquire

Tom Hanks แสดงเป็นมิสเตอร์รอเจอร์

พี่ทอมให้สัมภาษณ์ว่า นั่งดูรายการของมิสเตอร์รอเจอร์ย้อนหลังเป็นร้อยๆ ตอน เพื่อเตรียมตัวเป็นเขาในหนัง ก็ต้องอาศัยฝีมือระดับพี่ทอม คนรู้จักมิสเตอร์รอเจอร์ทั่วบ้านทั่วเมือง แสดงผิดไปนิดเดียว คนจะสังเกตเห็นได้

พี่ทอมให้สัมภาษณ์ว่า ฉากเปิดรายการที่มิสเตอร์รอเจอร์ทำเหมือนเดิมทุกๆ ตอนเปิดรายการ เดินเข้ามาในชุดสูท ผูกเน็กไท เปิดตู้ ถอดเสื้อสูทเปลี่ยนมาเป็นเสื้อคาร์ดิแกน ถอดรองเท้าหนังเปลี่ยนมาเป็นรองเท้าผ้าใบ และร้องเพลงไปด้วย

พี่ทอมถ่ายไป 27 เทก! เพราะมันไม่ตรง มันไม่ใช่ ไม่ได้จังหวะ

มิสเตอร์รอเจอร์คือใคร?

 

มิสเตอร์รอเจอร์เป็นพิธีกรรายการเด็กชื่อ Mister Rogers’ Neighborhood ออกอากาศครั้งแรกในปี 1968 ในช่องโทรทัศน์สาธารณะ เด็กๆ ทั่วประเทศจึงได้ดู เป็นรายการยาวครึ่งชั่วโมง ออกอากาศทุกวัน และออกอากาศติดต่อกันยาวนาน 31 ปี นับได้ 895 ตอน หรือที่ฝรั่งเรียก episode

ฉันยังจำความรู้สึกตัวเองได้ เมื่อได้ดูรายการของมิสเตอร์รอเจอร์เป็นครั้งแรก ได้ดูตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จำได้ว่าแปลกใจมากถึงมากที่สุด เกิดมาไม่เคยเห็นไม่เคยดูรายการเด็กเป็นแบบนี้

รายการที่พิธีกรเป็นผู้ใหญ่แต่พูดกับเด็กแบบคนธรรมดาคุยกันผ่านกล้องโทรทัศน์ ด้วยเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับความรู้สึก ทำไมเราโกรธ? ทำไมเราเสียใจ? เวลาเราร้องไห้ เราจัดการกับมันอย่างไรกันดี? แต่ไม่ได้มา “เล็กเชอร์” แต่มาชวนคุย

น้ำเสียงมิสเตอร์รอเจอร์นั้นน่าฟัง “เด็กๆ เคยรู้จักผู้ใหญ่ที่แต่งงานแล้ว แล้วหย่าร้างไหมครับ?”

หรือเรื่องความตาย มิสเตอร์รอเจอร์ก็พูดกับเด็กได้ “คนเราไม่พูดถึงความตายหรอก แต่การตายจากไปก็เป็นเรื่องของมนุษย์ อะไรที่เป็นเรื่องของมนุษย์ เราพูดถึงได้ เราจัดการกันได้” เสียงทุ้มนุ่ม พูดช้าๆ เนิบๆ พาเด็กค่อยๆ เข้าใจในประเด็นยากๆ โดยเฉพาะความรู้สึก คุยกับกล้องบ้าง กับหุ่นมือเชิด มีเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยียน อย่างคุณไปรษณีย์ คุณตำรวจบ้าง

และมีเพลงหลายต่อหลายเพลงที่มิสเตอร์รอเจอร์แต่งเองมาให้ร้องกัน

ไม่เคยเห็นรายการเด็กแบบนี้ มีรายการนี้รายการเดียว มันช่างดีงาม

 

ABeautiful Day in the Neighborhood ดำเนินเรื่องโดยการร้อยเรียงรายการของมิสเตอร์รอเจอร์กับชีวิตของลอยด์ โวเกิล นักเขียนบทความคนนั้นเข้าด้วยกัน

เปิดเรื่องมามิสเตอร์รอเจอร์ก็แนะนำคุณลอยด์ให้คนดูได้รู้จัก

Someone has hurt my friend Lloyd.

And not just on his face.

มีคนทำให้ลอยด์ เพื่อนของผมเจ็บ

และก็ไม่ใช่แค่ที่ใบหน้า

มิสเตอร์รอเจอร์ให้ดูภาพถ่าย บาดแผลที่ใบหน้าคุณลอยด์ เห็นได้ชัดว่าผ่านการชกต่อยมา

He is having a hard time forgiving

the person who hurt him.

เขาให้อภัยคนที่ทำให้เขาเจ็บ

ได้ยากลำบากนัก

to have a hard time เป็นสำนวน ใช้เวลาเรามีหรือได้รับประสบการณ์ทุกข์ยากลำบากลำเค็ญ เช่น We are having a hard time finding jobs these days. เราหางานทำยากนะช่วงนี้ เป็นต้น

มิสเตอร์รอเจอร์ถาม

Do you know what that means?

To forgive?

It’s a decision we make to release a person…

from the feelings of anger we have at them.

รู้ไหมว่าแปลว่าอะไร?

การให้อภัย

มันคือการที่เราตัดสินใจ

ยอมปล่อยให้ความโกรธ

ที่เรามีให้คนคนนั้นไป

เห็นความอารีอารอบ ความงามในจิตใจในประโยคที่พูดไหม? การนำพาเด็กให้เข้าใจ มันจับใจฉัน

It’s strange, but sometimes…

it’s hardest of all

to forgive someone we love.

มันเป็นเรื่องแปลก แต่บางครั้ง

ให้อภัยคนที่เรารักนั้น

มันยากที่สุด

จะมีรายการทีวีไหนในโลกที่คุยกับเด็กถึงเรื่องราวภายในจิตใจของเด็กเอง บอกให้เขารู้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้กับเขา สถานการณ์จริงในโลกที่เขาจะเติบโตไป ที่มีทั้งบวกและลบ ด้วยภาษาง่ายๆ และไม่ได้มาสั่งมาสอน เพียงชวนคุย

คุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง อยู่ข้างบ้าน ที่เราเชื่อใจ วางใจ และไว้ใจได้

 

คุณลอยด์แกมีประเด็นกับพ่อของแก ที่ชกต่อยนั้นก็ชกต่อยกับพ่อของแกนั่นแหละ

อยู่มาวันหนึ่ง บรรณาธิการนิตยสารก็มอบหมายงานให้คุณลอยด์ไปทำ เขาจะทำฉบับพิเศษเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฮีโร่” ในที่นี้คือคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในหลากหลายสาขาอาชีพ และคุณลอยด์ได้มิสเตอร์รอเจอร์ไป

As in the hokey kids’ show guy?

คนที่ทำรายการเด็กปลอมๆ เหรอ?

hokey เป็นคำคุณศัพท์ ความหมายเชิงลบ หมายถึง อารมณ์เยอะเกิน หรือไม่ก็ ปลอมๆ เชื่อไม่ลง

แต่บรรณาธิการแก้ให้โดยพลัน

As in the beloved children’s television host, yes.

คนที่เป็นพิธีกรรายการเด็กที่เป็นที่รักสิ

“as in …” ใช้พูดเวลาจะอธิบายความหมายเพิ่มเติม หมายถึง… หมายความว่า…

บรรณาธิการยังแจ้งด้วยว่ามิสเตอร์รอเจอร์เป็นคนเดียวที่ยินดีให้คุณลอยด์สัมภาษณ์ หรือก็คือ คนอื่นไม่เอานั่นเอง เพราะคุณลอยด์มี “ชื่อเสียง” ตอนสัมภาษณ์ดี แต่พอไปอ่านที่เขียนอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เพราะคุณลอยด์เขียนไม่ดีหรือเขียนไม่เก่ง แต่บางเรื่องที่ให้สัมภาษณ์ไปไม่ต้องเขียนทุกเรื่องก็ได้

Four hundred words.

Play nice.

400 คำ

ทำตัวดีๆ

บรรณาธิการแกคงหยอกแต่แรง เพราะ “Play nice.” เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้พูดกับเด็กเล็ก เวลาจะให้เด็กไปเล่นกับเพื่อนๆ อันมีหมายความรวมถึง อย่าไปตีเพื่อน อย่ากัดเพื่อน แบ่งของเล่นกันเล่น ถ้าของเล่นมีอันเดียวให้ผลัดกันเล่น

ทุกๆ กิจกรรมที่รวมเรียกว่า เล่นด้วยกันดีๆ

 

คุณลอยด์ไม่รู้มาก่อนหรอกว่า มิสเตอร์รอเจอร์ทำการบ้านมาอย่างดี อ่านบทความที่คุณลอยด์เขียนทุกเรื่องที่หาได้ แล้วจึงค่อยตกลงให้สัมภาษณ์

การสัมภาษณ์นี้จึงเป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่ใช่ครั้งเดียวจบแล้วไปเขียนเรื่องได้เลย คุณลอยด์ผ่าน “กระบวนการให้สัมภาษณ์” แล้วการณ์กลับกลายเป็นว่าคุณลอยด์กลายเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์เสียเอง

การได้รู้จักพูดคุยกับมิสเตอร์รอเจอร์บ่อยครั้งเข้า กลายเป็นการเปิดประตูให้คุณลอยด์เดินทางเข้าไปสำรวจ ค้นพบ และคลี่คลายเบื้องลึกจิตใจตนเอง จิตใจส่วนที่ลึกสุดที่ถูกถมทับไว้ด้วยความโกรธเกลียด แล้วแสร้งทำเป็นลืมๆ ว่าไม่มีอะไร

ฉันชอบฉากหนึ่งที่มิสเตอร์รอเจอร์ถ่ายฉากกางเต็นท์ แล้วกางไม่สำเร็จ It must take two grown-ups to set up a tent. กางเต็นท์นี่ต้องใช้ผู้ใหญ่สองคนมากางนะ

ทีมงานจะเซ็ตอุปกรณ์แล้วถ่ายใหม่ มิสเตอร์รอเจอร์มาดูเทปบันทึกภาพที่ถ่ายไว้ แล้วไม่เอน “Children need to know that even when adults make plans, sometimes they don’t turn out the way we’d hoped.” เด็กๆ จำเป็นต้องรู้ว่า ผู้ใหญ่วางแผนไว้ก็จริง แต่บางทีมันก็ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ได้

หนังเรื่องนี้ซาบซึ้งประทับใจเป็นที่ยิ่ง พี่ทอม แฮงก์ส แสดงดี การแสดงเหนือมนุษย์ ไม่ได้พยายามเลียนแบบจะเป็นมิสเตอร์รอเจอร์ แต่ถอดอากัปกิริยามาแสดงเป็นเขา หนังดีจังเลย น้ำตาไหล ความปีติมันท่วมท้นล้นหัวใจ

ฉันเอง