เพ็ญสุภา สุขคตะ : “สะพานดำเมืองลำพูน” เชื่อมข้ามสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สู่วิถีแห่งสันติ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ข่าว #save สะพานดำเมืองลำพูน ดังกระหึ่มในสังคมนักอนุรักษ์ ตามหลังไล่มาติดๆ กับกรณี #save บ้านเขียวบอมเบย์เบอร์มาเมืองแพร่ และ #save ถนนท่าแพจากโครงการเตรียมก่อสร้างตึกสูง 13 ชั้นของเมืองเชียงใหม่

ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สังคมไทยให้ความสนใจและตระหนักถึงคุณค่าของ “เมืองเก่า” รณรงค์ให้พิทักษ์ปกป้อง “โบราณสถาน” อย่างต่อเนื่อง

ในบทความนี้ ดิฉันขอนำเสนอถึงปัญหาของ “สะพานดำเมืองลำพูน” ก่อน เนื่องจากกรณีการรื้ออาคารไม้สักทองเมืองแพร่มีผู้ศึกษากันอย่างกว้างขวางแล้ว

และหากมีโอกาสที่เหมาะสม จักได้วิเคราะห์เจาะลึกถึงปัญหาของกรณีตึกสูงย่านท่าแพต่อไป

 

สะพานดำสร้างเมื่อใด

สะพานดำเมืองลำพูน หมายถึงสะพานเหล็กสีดำที่ใช้ข้ามแม่น้ำ 2 ช่วงสำหรับให้รถไฟผ่าน ช่วงแรกใช้ข้ามแม่น้ำสาร บ้านสันคะยอม ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง

กับอีกช่วงคือข้ามแม่น้ำกวง อยู่รอยต่อระหว่างบ้านวังทอง ตำบลเหมืองง่า กับสุดเขตตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง

ไม่พบประวัติการก่อสร้างสะพานดำทั้งสองแห่งนี้จากเอกสารใดๆ แบบตรงไปตรงมาอย่างละเอียด ไม่ว่าจากบันทึกประวัติการก่อสร้างสะพานเหล็กสายต่างๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่พบแม้แต่จะแฝงอยู่ในงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์เมืองลำพูน

หากพูดถึงรถไฟ ข้อมูลจากทุกแหล่งมักโฟกัสไปที่เรื่องราวของการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานอย่างละเอียดมากกว่า หรืออย่างเก่งก็อาจมีเรื่องราวของสะพานขาวทาชมภูเพิ่มขึ้นบ้างประปรายแต่ก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 สะพานดำได้ตกเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับ ที่ต่างพาดหัวว่า “ชาวสันคะยอมวิงวอนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนอนุรักษ์สะพานดำยุคสงครามโลกครั้งที่ 2”

หากไม่มีการศึกษาเจาะลึก ก็อาจเข้าใจผิดคิดไปว่า “สะพานดำ” ทั้งสองแห่งในเมืองลำพูนสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่าง พ.ศ.2484-2486) กระมัง

ในความเป็นจริงแล้ว สะพานดำสร้างขึ้นก่อนเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบ 20 ปี คือสร้างในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ว่าได้

แล้วดิฉันเอาหลักฐานอะไรมาเป็นตัวกำหนดความเก่าแก่ของสะพานดำเล่า ในเมื่อเพิ่งบอกเองอยู่หลัดๆ มิใช่หรือว่าไม่พบประวัติการก่อสร้างสะพานดำจากเอกสารเล่มใดๆ เลย

ดิฉันยึดเอาห้วงเวลาการเปิดใช้งานสถานีรถไฟเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ ระบุว่าเป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464 (เอกสารโบราณนับวันที่ 13 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ ดังนั้น เดือนมกราคม 2464 หากนับตามปฏิทินปัจจุบันจะเป็นปี 2465)

ส่วนอุโมงค์ขุนตานที่เชื่อมสองจังหวัดลำปาง-ลำพูนนั้น เอกสารบางเล่มระบุว่าสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2459 แล้ว แต่ป้ายทางเข้าอุโมงค์เขียนตัวเลขว่า 2461

หมายความว่า ระหว่างปี 2460-2464 ควรเป็นระยะเวลาแห่งการก่อสร้างสะพานขาวทาชมภู สะพานเหล็ก (สะพานดำ) 2 แห่งในลำพูน สถานีรถไฟลำพูน ป่าเส้า สารภี ไปสุดปลายรางที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ บ้านสันป่าข่อย

คิดอย่างง่ายๆ แล้ว เราน่าจะได้ข้อยุติว่า สะพานขาว-สะพานดำ มีอายุ 100 ปีโดยประมาณ ใช่หรือไม่

แต่ก็มีปริศนาที่ตามมาอีก 2 ข้อ

1. สะพานดำทั้งสองแห่งยุคแรกสร้างเคยเป็นสะพานไม้มาก่อนไหม หรือสร้างเป็นสะพานเหล็กเลย ในทำนองเดียวกับสะพานรัษฎาภิเศกที่ข้ามน้ำแม่วังของลำปางหรือสะพานนวรัฐข้ามแม่ปิงที่เชียงใหม่ ก็ล้วนแต่เคยเป็นสะพานไม้มาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างเหล็กและแฟโรคอนกรีตในภายหลัง

2. นายช่างที่สร้างสะพานดำเมืองลำพูนคือใคร จะเป็นวิศวกรเยอรมัน เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (Emil Eisenhofer) ผู้ควบคุมการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานล่ะหรือ ในเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 2460 เขาต้องถูกส่งไปกักกันตัวในค่ายเชลยที่อังกฤษและอินเดียตามลำดับอย่างกะทันหัน เพราะสยามอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมนี กว่าเขาจะกลับมาสยามได้อีกครั้งเวลาก็ล่วงเลยไปถึง 13 ปี

หรือควรจะเป็นกลุ่มของนายช่างอิตาเลียนมากกว่า คุมทีมโดยวิศวกรมาร์ควิส กามบาโซ (Marquise Cambiaso) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างสะพานเหล็ก เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสะพานนวรัฐรุ่นที่ 2 (หรือที่เรียกว่าขัวเหล็ก – ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน) ซึ่งเรื่องนี้ต้องสืบค้นกันต่อไป

ที่แน่ๆ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือทั้งหมดหลังจากไร้ทีมวิศวกรเยอรมันตั้งแต่ 22 กรกฎาคม 2460 เป็นต้นมา ก็คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น

 

ชิ้นส่วนเหล็กผลิตจากที่ไหน

จากการลงพื้นที่สำรวจสะพานดำเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ดิฉันได้พบตัวอักษรปริศนาประทับเป็นตัวนูนภาษาอังกฤษกระจายอยู่ตามแผ่นเหล็กที่ใช้ประกอบสะพานรถไฟอยู่ 3 จุด คือคำว่า

1. Frodingham Iron and Steel Co, Ltd, England

2. Dorman Long & Co. Ld. Mbro.

3. BV Co.

ตัวอักษรเหล่านี้น่าจะช่วยคลี่คลายปมปริศนาบางอย่างได้บ้าง พบว่า Frodingham เป็นบริษัทผลิตเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอุตสาหกรรมหนัก สำนักงานตั้งอยู่ที่เมือง North Lincornshire ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ

เป็นบริษัทเดียวกันกับที่ผลิตเหล็กใช้สร้างขัวนวรัฐรุ่นที่ 2 (สะพานท่าปาย) แต่เหล็กของขัวนวรัฐพิมพ์ตัวอักษรนูนว่า Appleby-Frodingham ซึ่งเป็นชื่อเก่าก่อนเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Frodingham Iron and Steel

ถ้าเช่นนั้นก็ย่อมหมายความว่า สะพานดำสร้างขึ้นหลังสะพานเหล็กนวรัฐใช่หรือไม่ ในเมื่อสะพานนวรัฐยุคขัวเหล็กระบุว่าสร้างปีเดียวกันกับที่ทางรถไฟเชียงใหม่มาถึง (2464 หรือนับแบบสากลคือ 2465) เราจึงได้ข้อสรุปว่า สะพานดำลำพูนทั้ง 2 แห่ง น่าจะสร้างขึ้นหลัง พ.ศ.2462 เล็กน้อย

ชื่อที่สอง บริษัท Dorman Long & Co. Ld. Mbro. ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกันกับที่พบในบันทึกประวัติการซ่อมบูรณะสะพานพระจุลจอมเกล้าที่ข้ามแม่น้ำตาปี สุราษฎร์ธานี ในปี 2486

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานรถไฟเกือบทั่วประเทศได้รับความเสียหายบ้างจากกระสุน บ้างจากระเบิด เนื่องจากสะพานเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม สะพานดำบ้านลันคะยอมก็เช่นกัน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า กรมรถไฟหลวงในขณะนั้นได้จ้างเหมาให้บริษัท Dorman Long จากเมือง Middlesbrough ทางทิศเหนือของอังกฤษ มาเดินสายบูรณะซ่อมแซมโครงเหล็กให้แก่สะพานรถไฟที่ชำรุดจากสงครามทั่วราชอาณาจักรในปี 2486

ตัวอักษรสุดท้าย BV Co. ย่อมาจากชื่อเต็มของบริษัท Bolcknow and Vaughan เป็นบริษัทของชาวอังกฤษที่รับงานประกอบชิ้นส่วนสะพานในแถบเอเชียและแอฟริกา

ดิฉันขอสันนิษฐานเบื้องต้นพอเป็นแนวทางให้อนุชนไปศึกษาต่อไปว่า สะพานดำลำพูนนี้ ชิ้นส่วนเหล็กหลักๆ สั่งซื้อมาจากบริษัท Frodingham Iron and Steel ส่วนบริษัทที่รับหน้าที่ไขน็อตสกรูประกอบขึ้นโครงเหล็กคือ BV Co. และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานเกิดชำรุด จึงได้บริษัท Dorman Long มาทำการบูรณะ

 

รอยกระสุนแห่งความทรงจำ

ข้อมูลจากมิสเตอร์แฮ็ก ฮาคันสัน (Mr. Hak Hakanson) ผู้สันทัดกรณีเรื่องสะพานเหล็กในสยามยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้ระบุว่า สะพานดำที่บ้านสันคะยอมเป็นสะพานดำในภาคพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) เพียงแห่งเดียวที่พบร่องรอยของกระสุนปืนจากการสู้รบ

คุณแฮ็กตระเวนลงพื้นที่ศึกษาเรื่องสะพานยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มานานกว่า 20 ปีแล้ว เขาเขียนในบทความว่าพบรอยกระสุนบนสะพานเหล็กทั้งหมด 7 จุด มีทั้งเป็นโพรงใหญ่ กลาง เล็ก หรือบางจุดพบแค่รอยบิ่น

อันเป็นการยิงมาจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งในที่นี้เป็นทหารอเมริกัน ยิงเพื่อสกัดไม่ให้กองกำลังของทหารฝ่ายอักษะนำโดยญี่ปุ่นรุกคืบขึ้นมาเรื่อยๆ จากลำปาง สู่ลำพูน เข้าเชียงใหม่

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของพ่ออุ้ยเงิน ซุนสัก ชาวบ้านสันคะยอม วัย 93 ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านมีอายุ 10 กว่าขวบ เล่าว่าต้องคอยวิ่งเข้าหลุมหลบภัยเมื่อได้ยินเสียงห่ากระสุนกราดยิงบนสะพาน พ่ออุ้ยบอกว่าฝ่ายที่ยิงเป็นฝรั่งผมสีทอง

ทั้งๆ ที่ชาวบ้าพยายามช่วยกันเอาใบไม้มากองสุมปิดซ่อนเพื่อพรางสะพานเหล็ก ไม่ให้ทหารทั้งสองฝ่ายสังเกตเห็นอย่างโดดเด่น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังถูกยิงอยู่หลายจุด

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ยอมปลดอาวุธ ทำให้ไม่มีการระเบิดสะพานดำแห่งนี้

 

ความเจริญมา อย่าทำลายอดีต

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีโครงการปรับปรุงสะพานดำทั้งสองแห่งเพื่อเพิ่มสมรรถนะการใช้งาน สอดรับกับความเจริญทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จำเป็นต้องขยายรางรถไฟให้มีช่องสะพานที่กว้างขึ้น โครงหลังคายกชั้นสูงขึ้น วัสดุก่อสร้างทันสมัยคงทนต่อการรองรับน้ำหนักได้ดีขึ้น

เมื่อการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่แล้วเสร็จ มีเงื่อนไขอยู่ว่า จะรื้อสะพานดำเก่าออกเสีย หากทำเช่นนั้นจริงสะพานดำก็คงมีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากเศษเหล็ก และคงเป็นเหล็กแหลมที่ทิ่มแทงหัวใจชาวบ้านอย่างเจ็บปวด

วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ชาวบ้านสันคะยอมทุกข์ร้อนใจจนรวมตัวกันทำหนังสือเข้าพบนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เพื่อขอให้ทางผู้ว่าฯ ทำหนังสือระงับยับยั้งการรื้อสะพานดำเก่าต่อการรถไฟ

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ตระหนักดีถึงความรักความหวงแหนของชาวบ้านต่อสะพานดำ เนื่องจากตัวท่านเองก็มีพื้นฐานมาจากสายวิศวะโยธา

สิ่งที่ต้องวางแผนร่วมกันมีอยู่ 2-3 ประเด็น

หนึ่ง เรื่องสถานที่ จะจัดเก็บสะพานดำเก่าไว้ที่ไหน มีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยเสนอว่าควรรื้อมาประกอบใหม่ในบริเวณที่เป็นจุดสนใจกลางเมือง เช่น ที่หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งคร่อมน้ำแม่กวง วางขนานกับขัวมุงไปเลย จะได้เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป

แต่ชาวบ้านสันคะยอมมองว่า คุณค่าของสะพานดำแห่งนี้ต้องอยู่เคียงคู่กับสถานที่เดิม ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิถีกระสุนเหนือลำน้ำแม่สารมาด้วยกัน ไม่ควรย้ายออกนอกหมู่บ้านสันคะยอม หากจะเขยิบออกจากสะพานใหม่ไปบ้างก็ควรอยู่ในรัศมีที่ไม่ไกลเกินไปนัก

สอง เรื่องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดหางบประมาณดูแลสะพานดำ จะยังคงเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือว่าชุมชนจะหางบประมาณมาบริหารจัดการกันเอง

เรื่องงบประมาณนั้นอาจจะเกินกำลังของคนในชุมชน แต่เรื่องการอุทิศแรงกาย แรงใจ ร่วมรักษาดูแลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า รวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับสถานที่อื่นๆ รายรอบที่น่าสนใจ เช่น ดอยติ ดอยไซ สะพานขาวทาชมภู ไม่เกินวิสัยและศักยภาพที่ชาวบ้านสันคะยอมจะดำเนินการได้อย่างแน่นอน

ขอเพียงแต่ให้สะพานดำ 1.อย่าถูกรื้อทิ้งเป็นเศษเหล็ก 2.อย่าถูกโยกย้ายไปที่แห่งอื่น ขอให้สะพานดำคงอยู่คู่ชาวสันคะยอมนานตราบนานชั่วลูกหลานเหลนโหลน