E-DUANG : แรงกดดัน จาก พลังประชารัฐ กระแทก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความขัดแย้งที่อึกทึกครึกโครมอยู่ในรัฐบาลขณะนี้แม้จะมีร่องรอยการปะทะกับพรรคเพื่อไทย แม้จะมีร่องรอยการปะทะกับพรรคก้าวไกลดำรงอยู่ แต่มิได้เป็นปัญหาใหญ่

แม้จะมีร่องรอยระหว่างรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชา ธิปัตย์ ดำรงอยู่ แต่มิได้เป็นปัญหาใหญ่

ปัญหาใหญ่อยู่กับความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ

นับแต่ 18 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในก็ปะทุขึ้นและเป็นที่รับรู้ของสังคม

เพราะเป้าหมายของปฏิบัติการครั้งนี้คือ ต้องการปลดหัวหน้า พรรค ต้องการปลดเลขาธิการพรรค ต้องการเปลี่ยนกรรมการบริหาร พรรค

ผลที่แสดงออกในวันที่ 27 มิถุนายนก็เป็นไปตามเป้าหมายครบ ถ้วนทุกประการ ไม่เพียงแต่ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จะถูกอับเปหิออกไปจากหัวหน้าและเลขาธิการพรรค

หากแม้กระทั่งเครือข่ายของ นายอุตตม สาวนายน ก็ถูกกระทำในลักษณะ”ล้างบาง”เหี้ยนเต้ สมบูรณ์

 

พลันที่ประสบผลสำเร็จในการยึดครองอำนาจการบริหารภายในพรรคกลุ่มอำนาจ”ใหม่”ก็รุกคืบเข้ามาด้วยความฮึกห้าวเหิมหาญตามความคาดหมาย

กลายเป็นคำถามถึงตำแหน่งรัฐมนตรีของ “กลุ่ม 4 กุมาร”ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

คราวนี้ประเด็นและปัญหาอันมีส่วนอย่างสำคัญในการกระพือจุดแห่งความขัดแย้งก็ย้ายออกจากภายในพรรคพลังประชารัฐกลายเป็นการปะทะระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับรัฐบาล

นั่นก็คือ การปะทะกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พรรคพลังประชารัฐ

 

ในเมื่อหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันสัม พันธ์และยึดโยงกันใน”กลุ่ม 3 ป.”

เหมือนกับที่คิดว่าเป็นปัญหาก็ไม่น่าเป็นปัญหา

แต่ปรากฏการณ์ที่วูบวาบไม่ว่าจะออกมาจากภายในรัฐบาล ไม่ว่าจะออกมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐทำให้สังคมรับรู้ว่าที่คิดว่าไม่เป็นปัญหากลับกลายเป็นปัญหาเด่นชัดมากขึ้นเป็นลำดับ

คำถามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะบริหารจัดการกับความขัดแย้งนี้อย่างไร