วิรัตน์ แสงทองคำ : ว่าด้วยกรุงเทพฯ (1) บางปรากฏการณ์ สะท้อนพลวัตที่มีพลังอย่างล้นเหลือ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

บางปรากฏการณ์ในกรุงเทพฯ

สะท้อนพลวัตที่มีพลังอย่างล้นเหลือ

ปรากฏการณ์บางกรณี เป็น “ภาพต่อ” ควรแก่การพิจารณาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ กำลังดำเนินแผนการพลิกโฉมหน้ากรุงเทพฯ ครั้งใหญ่

ที่จริงถือเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากข้อเขียนในตอนที่แล้ว (กรณีดุสิตธานี-เซ็นทรัล (5) มติชนสุดสัปดาห์ 7 เมษายน 2560) ก็ว่าได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญซึ่งกล่าวมาแล้ว

ปรากฏการณ์ข้างต้นอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของกรุงเทพฯ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ (การชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ปี 2556) ตามมาด้วยการรัฐประหารและรัฐบาลทหาร (2557-ปัจจุบัน)

ในปี 2556 นั่นเอง หลังประสบความสำเร็จในแผนการหลอมรวม “สยามเซ็นตอร์ สยามดิสคัฟเวรี่ และสยามพารากอน” แล้ว กลุ่มสยามพิวรรธน์ได้ประกาศความร่วมมือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เปิดฉากโครงการใหญ่ที่สุด (เวลานั้น) –ไอคอนสยาม (ICONSIAM) มูลค่าถึง 50,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาแบบผสม (Mix-used) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นความมุ่งมั่นที่มีเป้าหมายใหญ่ พัฒนาและยกระดับกรุงเทพฯ เทียบเคียงกับเมืองใหญ่ริมน้ำในระดับโลกเลยทีเดียว กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการบางส่วนภายในสิ้นปีนี้

จากนั้น ดีลดุสิตธานี-เซ็นทรัล เกิดขึ้นตามมาอีก (เมื่อ 1 มีนาคม 2560) ที่เพิ่งผ่านมา (ผมสาธยายเริ่องราวนี้ค่อนข้างยาวถึง 5 ตอน) บริษัทดุสิตธานีกับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ได้เปิดแผนการร่วมลงทุนโครงการลักษณะผสม (Mix-used) เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 36,700 ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่

แม้ว่าจะดูไม่ใหญ่เท่า ICONSIAM แต่เชื่อว่า “เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ ให้ก้าวสู่การเป็นมหานครที่มีความทันสมัยแห่งหนึ่งในยุคโลกาภิวัตน์” (ชนินทธ์ โทณวณิก ผู้นำกลุ่มดุสิตธานีกล่าวไว้)

 

ปรากฏการณ์ที่ใหญ่ที่สุดอย่างแท้จริง เปิดตัวขึ้นตามมาติดๆ (เมื่อ 3 เมษายน 2560) กลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของของ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ประกาศโครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mix-used) ตามแบบฉบับ ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน เช่นเดียวกัน พร้อมกับแผนการที่น่าสนใจยิ่งขึ้น การสร้างตึกสูงที่สุดในไทยถึง 90 ชั้น

“บริษัทรู้สึกเป็นเกียรติที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อนุญาตให้ทีซีซี กรุ๊ป เป็นผู้พัฒนาที่ดินผืนสำคัญนี้ เราได้รวมบุคลากรจากทั้งทีซีซีและเฟรเซอร์สฯ จากทั่วโลกมาช่วยกันทำงานบนที่ดินผืนนี้ ซึ่งอยากจะให้เป็นแลนด์มาร์กของไทยและให้เป็นที่รู้จักของโลก” เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกลุ่มทีซีซี กล่าวไว้ (ปรากฏในเอกสารแถลงข่าว สื่อหลักๆ นำเสนออย่างไม่ตัดทอน) นอกจากจะให้ภาพความสำคัญของโครงการข้างต้นแล้ว ยังให้ภาพอีกภาพที่น่าสนใจ

เกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโครงการ One Bangkok ถือได้ว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแผนการซึ่งดำเนินไปอย่างมีจังหวะก้าว อย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งดูคึกคักมากที่สุดในช่วงเวลานี้

มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น คือ ทั้งโครงการดุสิตธานี-เซ็นทรัล และทีซีซี ล้วนเป็นที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามสูตรสัญญา 30 ปีต่ออีก 30 ปี (จะขอนำเสนอบางแง่มุมในโอกาสต่อไป)

ว่าไปแล้วแผนการใหญ่ดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นไปตามจังหวะเวลา ในช่วงเวลากรุงเทพฯ กำลังเดินหน้าตามแผนการสร้างเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดด้วยเช่นกัน

 

เบื้องต้นเมื่อมองเฉพาะกรุงเทพฯ ปรากฏการณ์ซึ่งเป็น “ภาพต่อ” ข้างต้น เป็นไปตามแนวคิดที่ผมเสนอไว้ในข้อเขียนตอนที่แล้วเช่นกัน “ศูนย์กลางใหม่ๆ โมเดลสยามพิวรรธน์ กับโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน) จะสร้างแรงขับเคลื่อนอ้างอิง ไปสู่โครงการขนาดใหญ่มากขึ้น ผลักดันให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงสมัยใหม่ ซึ่งมี “อาณาบริเวณ” เป็นศูนย์กลางหลายแห่งในย่านสำคัญต่างๆ เกิดขึ้นภายใต้แรงขับเคลื่อนโดยโครงการแบบผสม (Mix-used) ซึ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นๆ” (อ้างแล้ว)

ในภาพที่ใหญ่ขึ้น อาจตีความได้ว่ากรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้นจากเดิมอย่างมาก ภาพที่ใหญ่กว่านั้นอีก ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงกับหัวเมือง และชนบท สะท้อนสถานการณ์ใหม่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย

“ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 เป็นต้นมา พื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจมากขึ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื่อว่าในช่วงจากนี้ไป แรงกระตุ้นจะเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างมหาศาล ระบบเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทไทย กำลังพัฒนาไปอย่างซับซ้อน และมีแรงดึงดูดมากกว่าครั้งใดๆ” ผมเคยเสนอมุมมองอย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่าด้วยความสำคัญของหัวเมืองและชนบท เมื่อประมาณทศวรรษที่แล้ว เชื่อมโยงความคิดเข้ากับปรากฏการณ์สำคัญๆ

อาจถือเป็นทศวรรษของหัวเมืองและชนบท

 

ต่อมาในปลายปี 2553 (อ้างอิงข้อเขียน สังคมหัวเมืองและชนบทซับซ้อนมากขึ้น) ได้เสนอบทสรุปภาพกว้างๆ ภาพใหม่ของหัวเมืองและชทบทเอาไว้

จาก Contract farming สู่ plantation ระบบเศรษฐกิจในชุมชนเกษตรดั้งเดิมของไทย เริ่มต้นปะทะกับปรากฏการณ์ใหม่อันน่าทึ่ง ในช่วงท้ายของยุคสงครามเวียดนาม แม้เป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ถือเป็นหน่อวิวัฒนาการสำคัญ ว่าด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ เกือบๆ สามทศวรรษ Contract farming ซึ่งจำกัดบทบาทและลดอิทธิพลลงพอสมควร ได้มีบทบาท และยกระดับขึ้นอีกขั้น ในฐานะแกนกลางของระบบการจัดการเกษตรกรรมสมัยใหม่กับพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า plantation

เป็นชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของภาพรวมสถานการณ์ใหม่ในชนบทไทย กำลังเดินหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานซับซ้อนขึ้น

จากโรงงานในกรุงเทพฯ สู่นิคมอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสู่หัวเมืองและชนบทอย่างเป็นกระบวนการ ต่อเนื่องจากแนวทางขยายเขตการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปในขอบเขตทั่วประเทศ รวมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่สร้างขึ้นสำหรับกิจการในเครือข่ายของตน เช่น กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มกระทิงแดง และเกษตรรุ่งเรือง

ชนบทไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปครั้งใหญ่ อาชีพเกษตรกร เคยเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่โรงงานในช่วงตุลาคม 2516 จากชนบท ต้องเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองหลวงโดยตรง จากนี้มีทางเลือกมีมากขึ้น สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่หัวเมือง หรือแม้กระทั่งอยู่ในชนบท ที่ถูกพัฒนาใหม่หรือในอาณาบริเวณภูมิลำเนา

ความสัมพันธ์ในสังคมเกษตรเดิมเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงกับภาคนอกเกษตรกรรมมากขึ้น ทั้งเชิงเศรษฐกิจ ประสบการณ์ ทักษะ และระบบการจ้างงานด้วย

จากเอเย่นต์สู่เครือข่ายค้าปลีกเครือข่ายธุรกิจใหญ่จากเมืองหลวง ขยายกิจการด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย “สายสัมพันธ์ท้องถิ่น” ขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าขยายฐานกว้างมากขึ้น นั่นคือการเติบโตและขยายวงอย่างรวดเร็วของเครือข่ายการค้าสมัยใหม่

เครือข่ายการค้าปลีกขยายตัวทั่วประเทศ เป็นตัวเร่งที่สำคัญมาก ระบบการค้าดั้งเดิมของผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เผชิญแรงผลักดัน ในการปรับตัวอย่างรุนแรง เพียง 2 ทศวรรษจากนั้น เครือข่ายการค้าขนาดใหญ่ขยายตัวถึงระดับตำบลสำคัญๆ

ผู้ประกอบการทั้งรายกลาง รายเล็ก ในหัวเมืองและชนบท จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก อย่างซับซ้อน กระบวนการเกิดขึ้นจากแรงบีบคั้น ได้ทำลายโครงสร้างระบบอุปถัมภ์เดิมไปมาก รวมไปถึงโอกาสใหม่ๆ ที่เปิดขึ้น

จากถนนชนบท สู่โทรศัพท์ไร้สาย ความสามารถและความสะดวกในการเคลื่อนย้าย และสื่อสารของชุมชนชนบทมีคุณค่ามากสะท้อนผ่าน “ถนน” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ “ความเจริญ” มาหลายทศวรรษ

ในช่วงที่ผ่านมา ระบบโทรศัพท์ไร้สาย สร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่หัวเมืองและชนบท ปฏิกิริยาตอบสนองเป็นไปอย่างคึกคัก พร้อมๆ กับโอกาสในการเรียนรู้ เข้าถึงข้อมูล ถือเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นด้วย การศึกษาและการเรียนรู้ใหม่ๆ เข้าถึงชนบทมากขึ้น ทั้งโดยตรง และความสามารถเข้าถึงชุมชนเมืองง่ายขึ้น กลายเป็นชุมชนที่เคลื่อนย้าย อพยพอย่างคล่องตัว แสวงหาโอกาสมากขึ้น

ขณะเดียวกันเริ่มดึงดูดผู้คนเมืองมาสู่หัวเมืองและชนบทมากขึ้น กระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และทักษะในหัวเมืองและชนบทมีมากขึ้น

 

ภาพความสัมพันธ์มีบางมิติขึ้นอีก ในปี 2554 เมื่อกรุงเทพฯ เผชิญวิกฤตอีกครั้งจากน้ำท่วมใหญ่ กินเวลาเกือบครึ่งปี (ปลายเดือนกรกฎาคม 2554-มกราคม 2555)

ภาพดังกล่าวนำเสนอเรื่องราวและปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ภาพความขัดแย้งปรากฏขึ้น เชื่อมโยงมาจากกรณีน้ำท่วมใหญ่เขตอุตสาหกรรมลุ่มเจ้าพระยา ส่งสัญญาณการคุกคามถึงเมืองหลวงโดยตรง

กรุงเทพฯ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ขณะเดียวกันในบางมิติเป็นเมืองซึ่งต้องพึ่งพิงหัวเมืองและชนบทมากขึ้น ปรากฏการณ์ความวิตกกังวล การกักตุนสินค้า สินค้าขาดตลาดอย่างรุนแรง ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ครั้งนั้น สะท้อนความเปราะบาง เป็นอีกด้านกับแนวคิดว่าด้วยอิทธิพลธุรกิจใหญ่ในเมืองหลวง กับเครือข่ายในหัวเมืองและชนบท

กรุงเทพฯ ไม่มีระบบเศรษฐกิจทั้งระบบอยู่อย่างผนึกผสาน เป็นเมืองที่มีบุคลิกเฉพาะมากขึ้นๆ มีระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริง หรือภาคการผลิตตอบสนอง ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมากที่สุดในประเทศกระจุกตัวอยู่ ขณะที่หัวเมืองและชนบทกำลังพัฒนาสร้างระบบเศรษฐกิจอย่างผสมผสานมากขึ้น ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ซึ่งถือเป็นระบบที่พึ่งตนเอง (Self -contained)

กรุงเทพฯ เวลานั้น ดูเปราะบางและอ่อนไหว แต่เวลานี้ดูไม่เป็นเช่นนั้น