นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ซากอนุสาวรีย์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมได้แต่อ่านข่าวการล้มอนุสาวรีย์ทั้งในอเมริกา, ยุโรป และแอฟริกาไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกอะไร จนกระทั่งเขายกเอาอนุสาวรีย์คานธีออก ที่มหาวิทยาลัยฆานา และทำท่าจะยกออกจากบางเมืองในอังกฤษด้วยนั่นแหละ ผมจึงเริ่มตกใจจนหันมาคิดว่าเกิดอะไรขึ้นวะ

ครับ ผมนับถือคานธี แม้รู้ดีว่าเขาเป็นมนุษย์ธรรมดา ซ้ำยังไม่สู้จะเห็นด้วยกับเขาที่จะนำเอานโยบายเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เมื่ออินเดียเป็นเอกราชแล้ว แม้ยอมรับสองอย่าง คือหนึ่ง นโยบายนี้มีพลังสูงมากในการรวมคนอินเดียทุกวรรณะเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับเจ้าอาณานิคม และสอง นโยบายนี้สอดคล้องกับหลักการอหิงสาของเขา เพราะการผลิตในระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบเขา เบียดเบียนธรรมชาติ, สัตว์อื่น และมนุษย์ด้วยกันน้อยที่สุด แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะถอยอินเดียซึ่งเพิ่งหลุดจากอังกฤษกลับไป 2,000 ปี

นอกจากนี้ จะมีคนสมบูรณ์พร้อมในโลกนี้หรือ หากใช้มาตรฐานสมบูรณ์พร้อม จะไม่มีอนุสาวรีย์บุคคลเหลือไว้สักแห่งทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านี้ สิ่งที่เรียกว่า “สมบูรณ์” หรือ “คุณค่า” หรือ “ความดี” นั้น ยังขึ้นกับกาละและเทศะอย่างยิ่ง มองจากยุโรป สิ่งที่คนเอเชียถือว่าประเสริฐก็กลายเป็นความไม่รับผิดชอบ (เช่น มหาภิเณษกรมณ์ เป็นต้น) ในทางกลับกัน มองจากมุมอื่นๆ ก็อาจไม่เหลืออะไรที่เป็นคุณค่าสากลและถาวรสักอย่างเดียว กาลเวลาที่แปรผันก็ทำให้ไม่เหลือความแน่นอนอะไรในโลกนี้ รวมทั้งความดีด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น อนุสาวรีย์ทุกชนิด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปบุคคล, อาคาร, รูปเคารพ, หรือสถานที่ ย่อมท้าทายกาลเวลาและโลกาภิวัตน์ระดับต่างๆ ตลอดไป จนกว่ามันจะกลายเป็นโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน ซึ่งเปิดตนเองให้กว้างพอจะใส่ความหมายใดๆ ลงไปได้อย่างเสรี เมื่อนั้นอนุสาวรีย์จึงมีความคงทนเพิ่มขึ้น แต่ก็สูญเสียบทบาทของอนุสาวรีย์ไปจนแทบหมด

อนุสาวรีย์มีบทบาทอะไรบ้าง?

มักเข้าใจกันว่าอนุสาวรีย์รับใช้อดีต หรือรักษาความทรงจำอดีตบางเรื่องไว้ให้ดำรงอยู่สืบมา แต่ที่จริงแล้วอนุสาวรีย์รับใช้ปัจจุบันมากกว่า เพราะความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่ถูกเลือกมาประกาศด้วยอนุสาวรีย์นั้น ถูกเลือกโดยคนมีอำนาจในปัจจุบัน เพื่อทรงจำสิ่งที่คนมีอำนาจอยากให้คนอื่นทรงจำไว้

ความหมายของอนุสาวรีย์เซอร์สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ที่สิงคโปร์ ถูกรักษาไว้เพื่อให้คนสิงคโปร์ในปัจจุบันมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่เสริมอำนาจของชนชั้นนำสิงคโปร์ให้มั่นคงแข็งแรง (Michael D. Barr, Singapore, A Modern History) สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวของอุษาคเนย์ที่รักษาประวัติความเป็นอาณานิคมของตนอย่างเหนียวแน่น คงไม่ได้เปลี่ยนชื่อถนนสักสายเดียวกระมัง เพราะอังกฤษแสดงให้เห็นว่า อาศัยบุคคลที่ฉลาด, ซื่อสัตย์ (?) และมีสมรรถภาพ เกาะเล็กๆ อันเป็นที่พักของชาวประมงไม่กี่ครอบครัว ก็อาจถูกเปลี่ยนให้เป็นเมืองท่าศูนย์กลางของภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งได้ ชนชั้นนำสิงคโปร์ซึ่งล้วนเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษกลุ่มนี้แหละ สมควรจะรับมรดกและความรับผิดชอบต่อจากอังกฤษ เพราะพวกเขาฉลาด ซื่อสัตย์ และมีสมรรถภาพไม่ต่างกัน

เช่นเดียวกับนครวัดในกัมพูชา ซึ่งฝรั่งเศสแปลงศาสนสถานให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และนักชาตินิยมแปลงพิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็น “ชาติ” (Penny Edwards, Cambodge)

อีกอย่างหนึ่งที่อนุสาวรีย์รับใช้คือคุณค่าบางอย่าง ที่ยังนับถือยกย่องกันในสังคม (อย่างจริงใจหรืออย่างแกนๆ ก็ตาม) อนุสาวรีย์ที่จะคงทนถาวรสักหน่อย ก็ต้องเลือกคุณค่าที่เก็งว่าจะคงทนถาวรสักหน่อยเหมือนกัน (เช่น คุณค่าทางศาสนา) หรือคุณค่าที่เปิดให้แก่การปรับเปลี่ยนตีความตามยุคสมัยได้บ้าง ไม่แข็งทื่อจนเกินไป (นี่อาจทำให้คุณค่าทางศาสนาคงทนถาวร เพราะศาสนามักมีนักบวชหรือผู้รู้คอยตีความให้ทันสมัยเสมอ)

แต่หากไม่นับอนุสาวรีย์ทางศาสนาแล้ว จะหาคุณค่าใดที่คงทนถาวรได้ยาก โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน นักเขียนชาวรัสเซียคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้หนีออกจากรัสเซียแล้ว เล่าถึงสุสานอนุสาวรีย์ในมอสโก ซึ่งเธอเพิ่งค้นพบเมื่อกลับไปในฐานะนักท่องเที่ยว มีรูปปั้นที่เคยตั้งในที่สาธารณะวางระเกะระกะ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์ลงมาถึงผู้นำบอลเชวิกและจนหลังบอลเชวิค เพราะคงจะหาสังคมอะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินหลายต่อหลายตลบในศตวรรษเดียวยิ่งไปกว่ารัสเซียได้ยาก และด้วยเหตุใดก็ตาม รัสเซียใช้อนุสาวรีย์เหมือนเราใช้วิทยุกรมโฆษณาการ, กรมประชาสัมพันธ์, โทรทัศน์กองทัพบกและโทรทัศน์ NBT

รัสเซียจึงเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์ เพื่อประกาศหรือโฆษณาสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้ราษฎรยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วผู้มีอำนาจก็เปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนกลุ่ม ทำให้ต้องรื้อโฆษณาเก่า แล้วติดตั้งโฆษณาใหม่ไปทุกจัตุรัสและสวนสาธารณะ

จนแม้ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์เองก็ยังมีอนุสาวรีย์บุคคลที่พรรคเคยยกย่อง แต่ต่อมาก็ลบทิ้งจากหน้าประวัติศาสตร์ไป จึงต้องถอดอนุสาวรีย์มาทิ้งไว้ในป่าช้า

และว่าที่จริง ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั่วทั้งโลกมีอนุสาวรีย์ที่ถูกโค่นล้มไปไม่รู้จะกี่ร้อยกี่พันแห่ง เพียงแต่ไม่มีสุสานไว้เก็บเหมือนที่มอสโกเท่านั้น ผมอยากเดาว่าส่วนใหญ่คงถูกนำไปหลอมเพื่อเอาโลหะไปใช้ บางส่วนอาจบังเอิญเอาไปใช้หล่ออนุสาวรีย์อื่นก็เป็นได้

ดังนั้น การล้มอนุสาวรีย์ที่ขยายไปยังโลกเกือบทั้งใบ (ไม่ได้ยินข่าวจากเอเชีย ซึ่งโดยตัวของมันเองก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ทำไมไม่ได้ยินข่าวจากเอเชีย) จึงไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว แม้แต่การล้มเกิดจากฝูงชน ไม่ใช่คำสั่งของรัฐ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เหมือนกัน มีอนุสาวรีย์นับร้อยที่ถูกฝูงชนล้มมาแล้ว

และเอาเข้าจริง เวลาฝูงชนล้มอนุสาวรีย์ ความต้องการที่แท้จริงกลับไม่ใช่การทำลายตัวอนุสาวรีย์เท่ากับการประกาศอะไรบางอย่างที่ตนสำนึกว่ามีความสำคัญยิ่งยวด การล้มอนุสาวรีย์กับการเอาสีไปป้ายหรือไปเขียนข้อความประณามอะไรบางอย่างไว้ที่อนุสาวรีย์ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน

สิ่งสำคัญยิ่งยวดในสำนึกของฝูงชน ซึ่งไม่อาจทำได้ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์เท่ากับการทำลายอนุสาวรีย์ (สร้างขึ้นใหม่ก็เป็นไปได้ในบางสถานการณ์ เช่น อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และอนุสาวรีย์อีกหลายชนิดที่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงสร้างขึ้น) คืออุดมการณ์ซึ่งครั้งหนึ่งอาจไม่มีความสำคัญในสำนึกเท่าปัจจุบัน

เฉพาะในกระบวนการล้มอนุสาวรีย์ในช่วงนี้ ผมรู้สึก (คือไม่ได้คิดและสำรวจข้อมูลมากพอ) ว่า อุดมการณ์ดังกล่าวคือความเสมอภาคระหว่างชาติพันธุ์ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์กลับมาใหม่อีกครั้งจากช่วงทศวรรษ 1960-1970 เมื่อคนดำในสหรัฐเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของตน แม้ได้ล้มเลิกกฎหมายและออกกฎหมายใหม่จำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนั้น ในทางปฏิบัติก็ยังไม่บรรลุผล อีกทั้งในระยะหลังยังมีการออกกฎหมายเพื่อให้การเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีเป็นไปได้สะดวกขึ้นในทางปฏิบัติเสียอีก (เช่น กฎหมายลิดรอนสิทธิทางการเมืองของผู้มีประวัติต้องโทษอาญา)

ความทารุณโหดเหี้ยมของตำรวจในครั้งนี้ เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่สังคมอเมริกันทนไม่ไหว และลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน ไม่ใช่เพียงการปฏิรูปด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนผิวสีได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกับคนผิวขาว แต่รวมถึงในทางปฏิบัติด้วย ที่คนผิวสีต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติอีกต่อไป

คำถามคือ ความเคลื่อนไหวนี้จะเกิดเป็นไฟไหม้ฟาง หรือจะกลายเป็นความเคลื่อนไหวและการจัดองค์กรนานาชนิด ด้วยวิธีการนานาชนิด เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันตามอุดมการณ์นั้น อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1960-1970 หรือไม่?

ผมอยากเดาว่า คงจะเกิดขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวของฝูงชนไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในสหรัฐเท่านั้น ยังกระจายไปยังละตินอเมริกา, ยุโรป และแอฟริกาด้วย

โดยสรุปก็คือ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์กำลังกลับมาใหม่

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในศตวรรษที่แล้วไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำ แต่ขยายไปยัง “อัตลักษณ์” อื่นๆ อีกมาก เช่น คนผิวสีอื่น, ชนกลุ่มน้อย, ผู้หญิง, คนจน, นักศึกษา, โสเภณี, คนพิการ, เพศทางเลือก, ผู้ป่วย ฯลฯ จนแม้แต่สัตว์ร่วมโลก

ที่น่าสนใจสำหรับคนไทยก็คือ หากการณ์เป็นไปอย่างที่ผมเดา การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในต่างประเทศจะทำให้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของไทย (ซึ่งยังไม่พาใครไปถึงไหน คงจำเรื่องของบิลลี่และชัยภูมิ ป่าแส ได้ใช่ไหมครับ) เข้มข้นขึ้นในเวลาข้างหน้า

ในบรรดาปัจจัยนับหลายสิบที่ทำให้เกิด 14 ตุลา การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ซึ่งกำลังถึงจุดเดือดทั่วโลกในเวลานั้นก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น ยิ่งในภาวะวิกฤตหลากหลายชนิดที่กำลังเกิดในเมืองไทย และจะเกิดแรงขึ้นอีกอย่างแน่นอนหลังโควิด เป็นไปได้ว่าอนุสาวรีย์ในประเทศไทย (ซึ่งก็ถูกล้มอยู่แล้วโดยผู้มีอำนาจในเวลานี้) จะถูกล้มลงมากขึ้นไปอีก โดยฝูงชนที่โกรธแค้นบ้าคลั่งส่วนหนึ่ง และโดยผู้อยากมีหรืออยากรักษาอำนาจทางการเมืองของตนไว้อีกส่วนหนึ่ง

ใครที่ชื่นชอบหรือสนใจศิลปะของอนุสาวรีย์ ก็ถ่ายรูปไว้หลายๆ มุม หลายๆ แสงให้แยะ เพื่อเก็บไว้เถิดครับ