นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : คำถามที่ดี (จบ)

คําถามที่ดี พาเภสัชกรคนหนึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน ไต่เต้าจากพนักงานที่เล็กที่สุดในองค์กรสู่หัวหน้าแผนก และในที่สุดก็เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์

ทว่า นอกจากในสายงานอาชีพของตัวเองแล้ว ผมพบว่าการที่ผมกลายเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอจนติดเป็นนิสัย และการเป็นผู้ที่เชื่อในการตั้งคำถามที่ดี กลับกลายเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเองอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อใดก็ตามที่ผมต้องเจอกับทางแยกของชีวิตหรือจุดหักเหของการงานที่ต้องใช้การตัดสินใจที่ละเอียดและถี่ถ้วน ผมมักเริ่มต้นคิดกับตัวเองด้วยการตั้งคำถาม

 

ตอนผมลาออกจาก a day นิตยสารที่ให้โอกาสผมได้ทำงานที่รักที่สุด เพราะได้รับคำทาบทามให้ไปทำนิตยสาร Elle Men ผมถามกับตัวเองว่า…

อิ่มตัวกับที่นี่หรือยัง?

ความท้าทายของตัวเองคืออะไร?

เราทำงานได้ดีกับผู้คนหรือทำงานคนเดียวได้ดีกว่า?

จุดแข็งของตัวเองคืออะไร?

จุดอ่อนของตัวเองคืออะไร?

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เราอยากได้ในการทำงาน?

เราเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?

เราให้คุณค่ากับตัวเองหรือองค์กร?

คุณค่าขององค์กรใหม่ตรงกับคุณค่าที่เรายึดถือหรือไม่?

งานนี้ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร?

เป้าหมายสูงสุดของเราคืออะไร?

แล้วงานนี้ทำให้เราได้เข้าใกล้เป้าหมายนั้นหรือไม่?

ผมพบว่าการถามตัวเองด้วยคำถามยากๆ ที่ต้องใช้เวลาครุ่นคิดนานๆ (บางคำถามต้องให้คนใกล้ชิดช่วยตอบ) ช่วยทำให้ผมเหมือนได้ปอกเปลือกและกะเทาะตัวตนที่ห่อหุ้มเข้าไปถึงข้างใน

ผมเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้นผ่านคำถามเหล่านี้

คำถามไม่ได้ทำให้ผมพบคำตอบ แต่คำถามทำให้ผมได้พบกับความจริง

ภายหลัง เมื่อต้องตัดสินใจเลิกงานอะไรสักอย่าง หรือรับงานอะไรสักอย่าง ผมก็มักจะใช้คำถามชุดนี้ อาจจะมีเพิ่มเสริมเติมแต่งคำถามอื่นๆ มาบ้าง แต่คำถามเหล่านี้ทำให้ผมสามารถตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น และไม่ค่อยเสียใจเมื่อมองย้อนกลับมา

เหมือนได้เคลียร์ตัวเองหมดแล้ว

บางทีนี่อาจเป็นประโยชน์สูงสุดของการตั้งคำถามกับตัวเอง เหมือนกับที่โสเครติสเคยกล่าวว่า “ความเป็นเลิศของมนุษย์อยู่ที่การตั้งคำถามกับตนเองและผู้อื่น”

โสเครติสคือเทพแห่งการตั้งคำถาม แทนที่จะสอน เขากลับโยนคำถามกระตุกต่อมความคิดให้กับลูกศิษย์ เขาดึงความสนใจให้คนอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ ตีแผ่สมมติฐานของลูกศิษย์ จากนั้นจึงค่อยๆ เจาะลึกไปถึงแก่น

“ความดีคืออะไร” คือคำถามที่โสเครติสมาใช้ในชั้นเรียน เหตุผลเพราะเราใช้คำพวกนี้เป็นประจำ แต่เรากลับไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมัน

ประโยคคลาสสิคของโสเครติสที่ผมชอบมากคือ

“ชีวิตที่ไม่เคยตั้งคำถามช่างปราศจากคุณค่า”

 

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านหนังสือ 2 เล่ม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทั้งสองเล่มนี้แม้จะมีใจความสำคัญที่แตกต่างกัน แต่กลับพูดเรื่องการตั้งคำถามที่เหมือนกันโดยบังเอิญ

หนังสือเล่มแรกชื่อ Start With Why ของ Simon Sinek นักเขียนชาวอังกฤษที่ย้ายไปพำนักที่อเมริกา เขาเคยทำงานในเอเจนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่และทำธุรกิจของตัวเอง ปัจจุบันเขามีผลงานเขียนมาแล้ว 3 เล่ม คือ Start with Why, Leaders Eat Last และ Together Is Better นอกจากนี้ ยังเป็นนักพูดให้แรงบันดาลใจและที่ปรึกษาด้านการตลาด

หนังสือเล่มที่สองชื่อ Managing Oneself เขียนโดย Peter F.Drucker บิดาแห่งวิชาจัดการสมัยใหม่ ผู้คิดหลักสูตร MBA สำหรับผู้บริหาร หนังสือเล่มนี้ถูกนำเสนอและถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชื่อ ปัญญางาน จัดการตน โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

มีสิ่งหนึ่งที่หนังสือทั้งเล่มนี้พูดเหมือนกัน คือการตั้งคำถามกับตัวเอง

มี 3 คำถามที่สำคัญที่สุด หากคุณตอบ 3 คำถามนี้ได้ นั่นเท่ากับว่าคุณมีโอกาสที่จะทำงานได้ประสบความสำเร็จมากกว่าผู้อื่น

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เขียนว่า คนที่ประสบความสำเร็จมักจะตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อนี้ได้อย่างชัดเจน

อะไรคือจุดแข็งของฉัน

ฉันทำงานด้วยวิธีการอย่างไร

ฉันให้ค่าต่อสิ่งใด

ก่อนจะสรุปว่า “ความสำเร็จในอาชีพการงานนั้นมิได้เกิดจากการวางแผน หากพัฒนาขึ้นเมื่อคนเตรียมพร้อมเพื่อรับโอกาสใหม่ๆ เพราะพวกเขารู้จุดแข็ง รู้วิธีการทำงาน และรู้คุณค่า”

 

ลองมาดูฝั่ง Simon Sinek กันบ้าง เขาเขียนว่าถึงวงกลม 3 วงซ้อนกัน และเรียกว่า วงกลมทองคำ (The Golden Circle)

วงนอกคือคำถามว่า “อะไร”

วงกลางคือคำถามว่า “อย่างไร”

วงในสุดคือคำถามว่า “ทำไม”

ฉันทำงานอะไร

ฉันทำงานอย่างไร

ฉันทำงานนี้ไปทำไม

Simon Sinek บอกว่าองค์กรทุกองค์กรในโลกนี้ รู้ว่าตัวเองทำอะไร และทำอย่างไร เช่น งานที่ทำอยู่คืออะไรบ้าง และเราต้องทำอย่างไรจึงจะสัมฤทธิผล แต่มีคนหรือองค์กรจำนวนน้อยมากๆ ที่รู้ว่าเขาทำสิ่งที่ทำอยู่ไป “ทำไม”

เขาเล่าต่อว่า วิธีคิด การกระทำ และการสื่อสารของคนทั่วไป มักเริ่มจากข้างนอกเข้ามาข้างใน (อะไร -> อย่างไร -> ทำไม) แต่ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และองค์กรที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจอะไร ล้วนคิด ทำ และสื่อสาร จากข้างในออกมาข้างนอก (ทำไม -> อย่างไร -> อะไร)

เมื่อนำ 3 คำถามนี้มาเชื่อมโยงกันจะพบความสัมพันธ์ที่ตรงกันมาก ระหว่างบิดาแห่งการจัดการสมัยใหม่ผู้ล่วงลับ และที่ปรึกษาด้านการตลาดรุ่นใหม่ไฟแรง

อะไรคือจุดแข็งของฉัน – ฉันทำงานอะไร

ฉันทำงานด้วยวิธีการอย่างไร – ฉันทำงานอย่างไร

ฉันให้ค่าต่อสิ่งใด – ฉันทำงานนี้ไปทำไม

คุณตอบคำถามเหล่านี้ได้ไหม?

 

ในฐานะของคนที่ต้องทำงานอยู่กับคำถามเป็นประจำ และต้องกลั่นกรองคิดคำถามดีๆ มาให้กับสังคม รวมทั้งเป็นคนเชื่อว่าคำถามที่ดีน่าช่วยให้เราได้ค้นพบที่ทางของตัวเอง

ผมเชื่อว่า 3 คำถามดังกล่าวเป็นคำถามเบสิกที่สำคัญที่ควรตอบให้ได้เร็วที่สุด

ดรักเกอร์บอกว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักจะตอบคำถามสามข้อนี้ได้ตั้งแต่ตอนอายุก่อน 25 ปี

หากชีวิตเปรียบเหมือนเรือเล็กที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร

คำถามว่า “ทำงานอะไร” จะช่วยทำให้คุณรู้ว่าตัวเองกำลังพายเรืออยู่

คำถามว่า “ทำงานอย่างไร” จะช่วยทำให้คุณรู้ว่าตัวเองมีวิธีการพายเรืออย่างไรให้ไปได้ไกลที่สุด ประหยัดแรงที่สุด และเซฟกล้ามเนื้อมากที่สุด เพื่อทำให้เรือเคลื่อนที่ได้เร็วและได้ระยะทางอย่างที่ต้องการ

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ “ทำงานนี้ไปทำไม” เพราะมันจะช่วยทำให้คุณเหมือนมีเข็มทิศของตัวเอง การตอบได้ว่าตัวเอง “ให้ค่าต่อสิ่งใด” จะเหมือนคุณมีแผนที่ในใจ มองเห็นเป้าหมาย ทิศทาง และฝั่งที่คุณต้องการจะไป

คำถามที่ดีจึงเปรียบเสมือนเข็มทิศที่พาคุณไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

คำถามที่ดีจะช่วยให้เราได้เห็นความจริงในตัวเอง

คำถามที่ดีคือแสงเทียนในความมืดบอด

สุดท้ายแล้ว ผมคงไม่ได้มารณรงค์ให้ทุกคนตั้งคำถามกับตัวเอง แต่จะขอยกประโยคที่ผมชอบที่สุดจากโสเครติสที่ว่า

“ชีวิตที่ไม่เคยตั้งคำถามช่างปราศจากคุณค่า”