เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | อยู่บ้านอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือคือการอ่านความคิดของคนอื่น การเขียนหนังสือคือการอ่านความคิดของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น ทั้งการอ่านและการเขียนจึงเป็นการทำงานทางความคิด

พัฒนาความคิดคือการพัฒนาคุณภาพคน

นี้เป็นส่วนหนึ่งที่บ้านเรายังขาดอยู่

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 คณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมของวุฒิสภา ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. กระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมทั้งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ทั้งสามหน่วยงานมาร่วมให้ข้อมูลงานบริการเกี่ยวกับหนังสือในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้

ขอคัดตัดตอนข้อมูลน่าสนใจมาถ่ายทอดเพื่อผู้สนใจจะใช้บริการหรือเพื่อรับรู้ความเคลื่อนไหวของแวดวงวรรณกรรมว่ายังมีลมหายใจอยู่อย่างไร หรือไม่

ดังนี้

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ปิดบริการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวสำนักหอสมุดแห่งชาติได้ปรับรูปแบบการให้บริการเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยสามารถเข้าใช้บริการหอสมุดแห่งชาติได้ดังนี้

1) ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติ และแอพพลิเคชั่น 2ebook ที่รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ android ซึ่งมีฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (2ebook) ให้บริการหนังสือฉบับเต็มที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์มากกว่า 1,700 ชื่อเรื่อง ในหมวดต่างๆ เช่น กฎหมาย การศึกษา กีฬา การท่องเที่ยว สุขภาพ วิทยาศาสตร์ นวนิยาย เป็นต้น

2) การให้บริการฐานข้อมูลห้องสมุดดิจิตอล D-Library เป็นการให้บริการจัดเก็บหนังสือหายาก หนังสือพิมพ์และวารสารหายากฉบับเต็มที่หอสมุดแห่งชาติได้ทำการดิจิไทซ์ ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 16,000 ชื่อเรื่อง ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้

3) การให้บริการฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์และนิตยสารออนไลน์ (pressreader) จากประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ มากกว่า 60 ภาษา ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับเต็มได้มากกว่า 7,000 ชื่อเรื่อง และยังสามารถอ่านย้อนหลังได้ 90 วัน ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ www.pressreader.com และแอพพลิเคชั่น pressreader ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ android

4) การให้บริการฐานข้อมูลเอกสารโบราณ ซึ่งมีการนำเข้าเอกสารโบราณและวัตถุในโครงการ ASEAN Culture Heritage Digital Archive โดยแบ่งเป็นสมุดไทยเนื้อหาฉบับเต็ม ตู้พระธรรมและหีบพระมาลัยในรูปแบบดิจิตอล 3D รวมกว่า 70 ชิ้น ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ https://heritage.asean.org

5) การให้บริการหนังสือแบบเรียนเก่าผ่านแอพพลิเคชั่น NLT Library ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้จัดเก็บหนังสือแบบเรียนเก่า หนังสือหายาก เอกสารโบราณ หนังสือกรมศิลปากร องค์ความรู้และสิ่งพิมพ์ของหอสมุดแห่งชาติ มากกว่า 1,200 รายการ ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ www.mobile.nlt.go.th หรือแอพพลิเคชั่น NLT Library ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ android

6) แอพพลิเคชั่น NLT VDO on Demand จัดเก็บไฟล์วีดิทัศน์ประเภทดนตรีและนาฏศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปะ-สถาปัตยกรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร รวมถึงวีดิทัศน์การประชุม สัมมนาและกิจกรรมต่างๆ ของหอสมุดแห่งชาติ มากกว่า 550 รายการ

ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ www.vdo.nlt.go.th หรือแอพพลิเคชั่น NLT VDO on Demand ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ andriod

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของสถานการณ์ยอดขายอุตสาหกรรมหนังสือไทย ซึ่งยอดหนังสือขายในปี 2563 ลดลงอาจเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้อ่านหนังสือมีความเปลี่ยนไป รวมทั้งร้านหนังสือถูกปิด

งานหนังสือใหญ่ 2 งานที่เคยจัดไม่ได้จัดเช่นเดิม ผู้ผลิต-จัดจำหน่ายหนังสือเรียนและสื่อการเรียนการสอน คาดว่าสูญเสียรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท

อาจกล่าวได้ว่า ระบบอุตสาหกรรมหนังสือกำลังจะตาย ห่วงโซ่อุปทานเสียหายทั้งระบบ ผู้จัดจำหน่ายมีหนี้สิน ขาดสภาพคล่อง ยืดการจ่ายเงินสำนักพิมพ์ และไม่ชำระหนี้การค้าตามกำหนดต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

จากสถานการณ์ปกติ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่น การจัดงานหนังสือในกรุงเทพฯ และภูมิภาค โครงการ 1 อ่านล้านตื่น และชุมชนการอ่านในร้านหนังสืออิสระ

แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทางสมาคมต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นรูปแบบ Online Book Fair จาก Event สู่ Online Book Market ที่ยั่งยืน เช่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สู่ Platfrom Online 100% ผ่านทาง www.Thaibookfair.com กิจกรรมเวทีเสวนา หรือนิทรรศการนำเสนอสู่ “ดิจิตอลคอนเทนต์” กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน Online ระดับ ASEAN

โดยทางสมาคมมีความตั้งใจที่จะผลักดันการสร้าง Online Book Market ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อดึงดูดนักอ่านให้เข้ามาชมหนังสือ มีหนังสือใหม่หลากหลายให้นักอ่านได้อ่าน และสร้างกลุ่มนักอ่านหน้าใหม่

นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจที่จะเป็นศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้าง Platform Model ให้กับเครือข่ายงานหนังสือนานาชาติ

และได้มีแนวคิดเพิ่มเติมในอนาคตที่จะมีโครงการอ่านเท่ เพื่อกระตุ้นในเกิดกระแสการอ่าน สร้างวัฒนธรรมการอ่านและนิสัยรักการอ่าน สร้างกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่ สร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย

สอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านฯ ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โครงการครูอาสาประจำชุมชน (คอช.) ฐานรากแห่งการพัฒนาคนไทย

ดังนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดข้อเสนอแนะมาตรการดูแลเยียวยาช่วง COVID-19 ดังนี้

1. มาตรการลดหย่อนภาษี “ช้อปหนังสือช่วยชาติ” ลดหย่อนได้ 3 เท่า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้ซื้อหนังสือทั้งการใช้จ่ายส่วนบุคคลและองค์การ เกิดการหมุนเวียนเงินในธุรกิจหนังสือ ซื้อหนังสือ 10,000 บาท จำนวน 100,000 รายการ และเกิดเงินหมุนในระบบห่วงโซ่อุตสาหรรม 3-4 พันล้านบาท

2. การบูรณะหรือสร้างห้องสมุดชุมชน “งบฯ ซื้อหนังสือ” เข้าห้องสมุด ชุมชน หมู่บ้าน และสถาบันการศึกษา วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการซื้อหนังสือขององค์การภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในการระบายสินค้า ให้เกิดสภาพคล่อง ผู้รับหนังสือปลายทางมีแหล่งอาหารสมอง เกิด “การอ่าน” กับคนไทยทุกระดับ และพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งในชุมชน หมู่บ้าน และสถาบันการศึกษา

3. กองทุนหนังสือ ปรับปรุงพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบธุรกิจหนังสือ 500 องค์การทั่วประเทศ สร้างโอกาส ต่อยอด และเพิ่มช่องทางในการดำเนินธุรกิจหนังสือ ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตามพฤติกรรมผู้อ่านและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

4. National Online Book Platfrom สร้างแพลตฟอร์มหนังสือออนไลน์แห่งชาติ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการซื้อ-ขายหนังสือออนไลน์

5. Copyright Collective Management จัดตั้ง Copyright Collective Management การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์การใช้ซ้ำ (Secondary Rights) สร้างรายได้จากการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่ยืนยันถึงความยืนยงของ

โลกหนังสือ