“3 ป.” กอดคอยึด “พลังประชารัฐ” ขยายฐานอำนาจ “ระดับชาติ-ท้องถิ่น” พร้อมปูทางวาง “ทายาทการเมือง”

ในที่สุด วาระครบรอบ 1 ปีของ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” และครบรอบ 6 ปีที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เดินทางมาถึง

ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้นายกฯ ไปอีก 3 ปีตามวาระ ก็เท่ากับว่าเขาจะครองตำแหน่งผู้นำประเทศยาวนานถึง 9 ปี

ใกล้เคียงกับ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยาวนาน 8 ปี 5 เดือน ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารและการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ที่เครือข่าย คสช.จัดตั้งขึ้นผ่านร่างทรง “4 กุมาร” เพื่อลดแรงเสียดทานในข้อหาการเป็นพรรคทหารและการสืบทอดอำนาจ

จากนั้น “เจ้าของพรรคตัวจริง” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เข้ามาคุมพรรคเต็มตัวในตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และกำลังจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเอง หลังปฏิบัติการยึดพรรคคืนจาก “4 กุมาร”

แม้จะมีการวิเคราะห์ว่าการยึดพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตรมีจุดประสงค์เพื่อขัดตาทัพ-สลายกลุ่มก๊กต่างๆ ภายในพรรค

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ พล.อ.ประวิตรจะกลายเป็นศูนย์กลางของ “ซูเปอร์คอนเน็กชั่น” ที่ดึงดูดพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาในเครือข่ายอำนาจ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ ในพรรคพลังประชารัฐก็มีอดีตสมาชิกไทยรักไทย-เพื่อไทยอยู่หลายคน โดยเฉพาะ “กลุ่มสามมิตร” ที่กำลังจะได้ผงาดคุมพรรค อันประกอบด้วย “สมศักดิ์ เทพสุทิน”, “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “อนุชา นาคาศัย” เต็งหนึ่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ รวมทั้ง “สันติ พร้อมพัฒน์” ว่าที่ ผอ.พรรค

ความเปลี่ยนแปลงในพลังประชารัฐเกิดขึ้นพร้อมกระแสข่าวเรื่อง “สูตรพิสดาร” ว่าอาจมีการดึงพรรคเพื่อไทยมาร่วม “รัฐบาลปรองดอง” โดยใช้สายสัมพันธ์ของสันติ ซึ่งเคยเป็นนายทุนพรรคเพื่อไทย และมีความใกล้ชิดกับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”

นอกจากนั้น บิ๊กป้อมเองก็เคยขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก่อนเกษียณ 1 ปี ด้วยอภินิหารบางอย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ ท่ามกลางเสียงเล่าลือว่า “พี่ใหญ่แห่ง 3 ป.” มีความคุ้นเคยกับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อยู่ไม่น้อย

ขณะเดียวกัน “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็มีสายสัมพันธ์สนิทสนมกับ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกวุฒิสภา และเพื่อนรักร่วมรุ่น ตท.6 ของบิ๊กป้อม

อีกหนึ่งคีย์แมนสำคัญของพลังประชารัฐคือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ ที่มีชื่อเป็นว่าที่รองหัวหน้าพรรค ด้วยผลงานชนะศึกเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สามารถนำทัพไปตีเมืองเหนือได้หลายเก้าอี้ ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 รวมถึงมีบทบาทในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

ร.อ.ธรรมนัสเคยเปิดตัวชัดเจนว่าเป็น “คนไทยรักไทย-เพื่อไทย” ก่อนจะย้ายข้างมาอยู่ขั้วพลังประชารัฐ ด้วยเหตุผลว่า “มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ผมให้ความรัก ความเคารพ เป็นรุ่นพี่ คือพี่ท่านนี้ก็ดูแลชีวิตผมมาตลอด ให้ความเมตตาผมมาตลอด ท่านถามผมว่าพอรึยังกับสิ่งที่มีอยู่ทุกวันนี้”

คาดกันว่านี่คือประโยคที่หนึ่งใน “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” เอ่ยปากชักชวนผู้กองคนดังแห่ง ตท.25 มาร่วมงาน

ว่ากันว่า รมช.เกษตรฯ มีสายสัมพันธ์กับ “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เนื่องจากบิ๊กป๊อกเป็นเพื่อน ตท.10 ของ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต นายทหารผู้กว้างขวางที่ล่วงลับไปแล้ว

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสก็เป็นน้องรักคนหนึ่งของ เสธ.ไอซ์

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจคือ “การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น” ซึ่งนายกรัฐมนตรีถึงกับลั่นวาจา “จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้” ภายในปี 2563

ส่วนจะนำร่องในพื้นที่ใดนั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าขอพิจารณาดูก่อน ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยและ กกต.

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ รมว.มหาดไทย ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นแน่นอน โดย กกต.ได้มีการทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และดำเนินการจัดทำระเบียบสำหรับการเลือกตั้ง

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ถ้ามีการจัดเลือกตั้งในปีใด จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็ต้องอ้างอิงจากจำนวนราษฎรในปีก่อนหน้านั้น โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการประกาศเรื่องนี้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยเเล้ว ขณะที่กรมการปกครองก็รับผิดชอบงานด้านการแบ่งเขตเลือกตั้ง

มีการประเมินกันในฝั่งอำนาจรัฐว่า กระแสความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีกำลังเพิ่มสูงขึ้น จากผลงานการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 พร้อมๆ กันนั้นบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลขนาดกลางอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ก็ดูจะ “เสียคะแนน” ไปพอสมควรกับผลงานใน ครม.ช่วงที่ผ่านมา

เมื่อประกอบกับภาวะที่ฝ่ายค้านกำลังอ่อนแอ ทั้งจากปรากฏการณ์การแตกก๊กในพรรคเพื่อไทย การก่อกำเนิดของกลุ่ม CARE การตั้งไข่ที่ยังไม่มั่นคงลงตัวและไม่เป็นเอกภาพของพรรคก้าวไกล รวมถึงข่าวลือเรื่องความระหองระแหงระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล

ด้วยเหตุนี้ หากมีการจัดการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดในเร็ววัน คะแนนเสียงจึงย่อมเทมาทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังจัดทัพใหม่เพื่อบุกทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการ “กระชับอำนาจ” ในทุกระดับของ “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” จากนั้นจึงจะมีการปูทางสู่การถ่ายโอนอำนาจให้ “ทายาททางการเมือง” ลำดับถัดไป ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำรุ่นปัจจุบัน

เพื่อให้การลงจากหลังเสือของอดีต ผบ.ทบ.ทั้งสามรายไม่ซ้ำรอยกับผู้นำทหารในอดีต ที่มักปิดฉากได้ไม่สวย ส่งผลให้สิ่งที่พวกตนทุ่มเททำงานลงไปต้อง “เสียของ”

แน่นอนว่าขั้นตอนของ “การลง หลังเสือ” นั้นต้องใช้เวลา บางทีอาจสำเร็จเสร็จสิ้นในวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลชุดนี้ หรือบางทีก็อาจต้องใช้เวลายาวนานต่อเนื่องไปอีก 7 ปี ตามแต่สถานการณ์ของบ้านเมือง

แต่ไม่ว่าอย่างไร “3 ป.” ก็ต้องกอดคอร่วมชะตากรรมไปด้วยกันตลอดกาล