เทศมองไทย : แบนสารเคมีไทย กับประเด็นที่ยังค้างคา

รายงาน “เอ็กซ์คลูซีฟ” ของพัชร์พิชา ธนาเกษมพิพัฒน์ เผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส เมื่อ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า การห้ามใช้ ห้ามจำหน่ายสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงในกระบวนการผลิตทางด้านการเกษตรยังคงมีประเด็นคาราคาซังอยู่มากมายเหลือเชื่อครับ นอกเหนือจากประเด็นปัญหาใหม่พัวพันกันจนยุ่งเหยิง

รายงานของรอยเตอร์สโฟกัสไปที่ปัญหาใหม่ อย่างที่สหรัฐอเมริกากับบราซิล ที่คัดค้านแนวทางดำเนินการของไทย ซึ่งแจ้งต่อองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอตามระเบียบของดับเบิลยูทีโอ เนื่องจากการห้ามใช้ ห้ามนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีพาราควอตกับคลอร์ไพริฟอสนั้น ผูกพันให้ต้องห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรซึ่งมีสารเคมีทั้งสองตัวนี้ตกค้างอยู่จากกระบวนการเกษตรกรรมในประเทศที่ยังใช้สารเคมีที่ไทยสั่งแบนเด็ดขาดมาตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

ข้อผูกพันตามกฎหมายไทยว่าด้วยเรื่องการห้ามนำเข้านั้น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สหรัฐอเมริกากับบราซิล สองผู้ผลิตสินค้าเกษตรอย่างถั่วเหลืองและข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ยื่นจดหมายถึงดับเบิลยูทีโอ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามนำเข้าข้าวสาลีและถั่วเหลืองจากทั้ง 2 ประเทศ โดยอ้างว่าไทยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่มาแสดงในเรื่องนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมในการห้ามการนำเข้า อันเป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลกว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (เอสพีเอส)

ผู้ร้องทั้งสหรัฐอเมริกาและบราซิลเห็นว่า กรณีของไทยจึงส่อเจตนาเข้มงวดหรือจำกัดการนำเข้า ไม่ได้เกิดจากความจำเป็นที่ต้องห้ามนำเข้าแต่อย่างใด

ประเด็นก็คือ ในขณะที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและถั่วเหลืองรายใหญ่ ไทยเองก็เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรทั้งสองอย่างนั้นระดับหัวแถวเช่นเดียวกัน มูลค่ารวมของข้าวสาลีและถั่วเหลืองที่อาจได้รับผลกระทบจากการนี้สูงถึงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

 

ปรากฏคำตอบจาก “แหล่งข่าว” ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันถัดมาสรุปได้ความว่า สำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำกรุงเจนีวาแจกแจงว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการ “ร้องค้าน” อย่างที่รอยเตอร์สเข้าใจ แต่เป็นเพียงการตั้งคำถาม “ล่วงหน้า” เพื่อให้ไทย ที่เป็นผู้ออกกฎใหม่ตามมาตรการเอสพีเอส ตอบคำถามในที่ประชุมคณะกรรมการเอสพีเอสต่อไป

ฟังเหมือนไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น นอกเหนือจากกระบวนการธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

แต่ในรายงานของรอยเตอร์สบอกว่า กรณีนี้กำลังกลายเป็นเงื่อนปมให้เกิด “ดิพโพลแมต โชว์ดาวน์” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและบราซิลกับไทยเลยทีเดียว

นั่นคือปมปัญหาใหม่ แต่ในรายงานของรอยเตอร์สชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากปมปัญหาทางการทูตแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ทยอยไล่กันเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดอันเนื่องมาจากการห้ามนำเข้าที่ว่านี้ต่อห่วงโซ่อาหารทั้งหลายในประเทศ ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารปศุสัตว์, อาหารปลา และตัวอุตสาหกรรมอาหารเอง

ตัวอย่างของผลต่อเนื่องที่ว่าก็คือ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย ที่เกือบหมดทั้งอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอย่างถั่วเหลืองมากถึง 5 ล้านตัน และข้าวสาลีอีก 1 ล้านตันต่อปี

การห้ามนำเข้าดังกล่าวจึงอาจสร้างความเสียหายให้กับบริษัทไทยได้ถึง 1.7 ล้านล้าน กับตำแหน่งงานอีก 12 ล้านตำแหน่ง

 

ที่น่าสนใจก็คือ พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอสนั้นเป็นสารเคมีต้องห้ามอยู่ในหลายประเทศ ยุโรปก็ห้าม จีนก็ห้าม แม้แต่ในบราซิลเองก็ห้าม แต่ก็กำหนดมีผลบังคับใช้ในตอนปลายปีนี้ แต่ทั้งสหรัฐอเมริกาและบราซิลก็ยังเรียกร้องให้ไทยยกเลิกการห้ามนำเข้า แต่ให้หันไปกำหนดมาตรฐานสูงสุดของสารพิษตกค้าง (เอ็มอาร์แอล) แทน เปิดทางให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีสารพิษตกค้างต่ำกว่าระดับดังกล่าวยังคงสามารถส่งสินค้าเข้ามายังไทยได้

ถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจเลือกใช้วิธีอย่างที่สหรัฐอเมริกาและบราซิลเสนอมา ก็คงประหลาดพิลึกไม่น้อย

ด้วยเหตุที่ว่าเราแบนการใช้สารนี้เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ด้านสุขอนามัยของคนในชาติ แล้วยังปล่อยให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ปนเปื้อนเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่วงจรอาหารของเราต่อไปได้อีกไม่รู้จบ

ถ้าจะเอาอย่างนั้น ก็เลิกแบนแล้วหันมากำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างในประเทศบ้าง ไม่ดีกว่าหรือไงครับ?

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่