จิตต์สุภา ฉิน : หุ่นยนต์ เพื่อนในตอนนี้ ศัตรูในภายหน้า?

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
(FILES) In this file photo taken on April 3, 2020 one of the six robots of the Circolo di Varese hospital stands near a patient, to help the healthcare staff of the High Intensity Medicine department to assist twelve patients suffuring from the epedemic Covid-19, caused by the novel coronavirus. (Photo by Miguel MEDINA / AFP)

การแพร่ระบาดของไวรัสเป็นเสมือนตัวเร่งให้อะไรก็ตามที่เราเคยง้างไว้ว่าจะทำแต่ไม่ได้ทำสักทีเกิดขึ้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างเช่น ดิจิตอลทรานสฟอร์มเมชั่นที่ทุกองค์กรวางแผนเอาไว้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรของตัวเองให้เป็นดิจิตอลให้มากที่สุด

แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จสักที มาสำเร็จเอาตอนที่ไวรัสระบาดและทุกคนถูกบังคับให้ต้องทำงานจากที่บ้านนั่นแหละ

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ก่อนหน้านี้องค์กรจะทำก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น หรือจะทำเฉพาะกับพนักงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ

แต่ใครที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ฟ้าจะร้อง รถจะติดนรกสักแค่ไหน ทุกคนก็ต้องลากสังขารเข้ามานั่งอยู่ในห้องประชุมเดียวกันให้ได้

ไวรัสระบาดได้แค่ไม่ถึงเดือน จากพนักงานที่ไม่เคยได้ยินแม้กระทั่งชื่อของแอพพลิเคชั่นที่ใช้ประชุมวิดีโอคอลล์ได้สักชื่อ ก็กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ตอบได้หมดว่าถ้าจะวิดีโอคอลล์ควรใช้แอพพ์ไหน มีฟังก์ชั่นอะไร จะแก้ปัญหาภาพ เสียงอย่างไร

ทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้เร่งด่วนที่เกิดจากสถานการณ์บังคับทั้งนั้น

และถ้าไม่มีสถานการณ์นี้บังคับ อีกปี สองปี หรือสามปี ก็ไม่รู้ว่าจะมาถึงระดับอย่างวันนี้ได้หรือเปล่า

การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตประจำวันก็เช่นเดียวกัน แม้จะเป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายสักเท่าไหร่

มาถึงยุคระบาดของไวรัสนี่แหละที่หุ่นยนต์เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากมนุษย์ต้องการลดการสัมผัสหรือการเจอหน้ากันแบบตัวต่อตัวให้ได้เหลือน้อยที่สุด ทำให้ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการนำหุ่นยนต์มาใช้คั่นกลางระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง

 

หุ่นยนต์ถูกหยิบไปใช้เป็นสื่อกลางในการพบปะกันระหว่างบุคลากรด้านสาธารณสุขอย่างแพทย์และพยาบาลกับผู้ป่วยเพื่อให้สามารถสื่อสารกันผ่านฟังก์ชั่นวิดีโอคอลล์ของหุ่นยนต์ได้ หุ่นยนต์ไปประจำการทำหน้าที่คอยแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือตามห้างสรรพสินค้า ไปยืนหลังเคาน์เตอร์บาร์เพื่อคอยแจกจ่ายดริงก์แทนบาร์เทนเดอร์ ในขณะที่บางตัวต้องรับภารกิจคอยตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายของคนที่เข้ามาใช้บริการภายในอาคารสำนักงานต่างๆ

หนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจว่าอะไรมนุษย์ควรทำ อะไรหุ่นยนต์ควรทำ ก็คือการดูว่ากิจกรรมนั้นๆ เป็นภัยคุกคามหรือเป็นความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของมนุษย์หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ทางแก้ก็ง่ายนิดเดียว ส่งหุ่นยนต์เข้าไปแทน

ที่ผ่านมาหุ่นยนต์เป็นเหมือนตัวตายตัวแทนเข้าไปรับความเสี่ยงแทนเราอยู่แล้ว ทั้งภารกิจการกู้ระเบิด ภารกิจช่วยเหลือในเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างตอนที่เกิดเหตุไฟไหม้หลังคาของน็อทร์-ดามในปารีส มนุษย์เราก็ใช้หุ่นยนต์นี่แหละเข้าไปช่วยนำสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอาคารออกมา

หลายต่อหลายครั้ง หุ่นยนต์ช่วยให้มนุษย์ปลอดภัย รับความเสี่ยงน้อยลง และทำให้สามารถปฏิบัติงานที่ทำอยู่ต่อไปได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มาพร้อมกับราคาที่มนุษย์ต้องจ่าย ในเมื่อหุ่นยนต์สามารถทำงานบางอย่างแทนได้

ก็อาจจะแปลว่าอาชีพของมนุษย์ก็ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะหายไปเมื่อไหร่ก็ได้เช่นเดียวกัน

 

เรื่องหุ่นยนต์จะแย่งงานเราหรือไม่เป็นเรื่องที่ผ่านการถกเถียงกันมาแล้วมากมาย แต่การแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งจะนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึกหลังจากนี้ก็จะทำให้ความกลัวนี้ถูกหยิบมาขยายให้เด่นชัดขึ้นอีกครั้ง เพราะมันอาจจะทำให้เกิดการนำหุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานมนุษย์มากยิ่งกว่าที่เป็นมาได้

แม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่ออกมาให้ความคิดเห็นว่าหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติทั้งหลายจะไม่เข้ามาแย่งงานในสายงานการผลิตแน่ๆ

แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ให้เห็นว่าไม่จริงเสมอไป ยกตัวอย่างจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในปริมาณที่เยอะภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็พบว่ามีตัวเลขงานที่สูญเสียไปมากถึง 12.5 ล้านตำแหน่งในช่วงปี 2013-2017

การสูญเสียตำแหน่งงานนำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Robophobia หรือโรคกลัวหุ่นยนต์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดที่สุดในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี่แหละ

 

ก่อนหน้า COVID-19 ผลวิจัยของ IE มหาวิทยาลัยในสเปนระบุว่า มีเพียง 27% ของคนจีนเท่านั้นที่สนับสนุนให้มีการจำกัดการใช้งานหุ่นยนต์ แต่หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาด ตัวเลขนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งก็ทำให้ตัวเลขไปใกล้เคียงกับประเทศอย่างฝรั่งเศสที่เป็นประเทศที่มีทัศนคติแง่ลบต่อหุ่นยนต์มากที่สุดในโลก

การศึกษาในครั้งนี้ยังบอกอีกว่า ทัศนคติด้านลบที่มีต่อหุ่นยนต์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับอายุและระดับการศึกษาด้วย กลุ่มคนที่เกลียดและกลัวหุ่นยนต์ที่สุดก็คือกลุ่มคนอายุน้อยที่มีระดับการศึกษาไม่สูงนัก คนที่มองเห็นว่าหุ่นยนต์อาจจะมาแย่งงานคนได้นั้นก็ให้เหตุผลว่าจริงอยู่ที่เทคโนโลยีก็สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ได้เหมือนกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่เมื่อเราก้าวเข้าสู่โลกแห่งดิจิตอลอย่างทุกวันนี้ อาชีพที่เกิดใหม่นั้นก็น้อยลงเรื่อยๆ

วงการปัญญาประดิษฐ์พัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เราอาจจะเคยนึกกันว่าความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์หมายถึงการสูญเสียงานของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่อันที่จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศก็เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน และไม่มีกลุ่มอาชีพไหนเลยที่จะไม่ได้รับผลกระทบแม้แต่นิด

ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้แปลว่าหุ่นยนต์จะไม่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ เมื่อดูตัวอย่างจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้ก็จะพบว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติขั้นสูงก็มาพร้อมกับอัตราการว่างงานที่ต่ำได้เหมือนกัน เนื่องจากสองประเทศนี้มีอัตราการใช้งานหุ่นยนต์สูงเมื่อเทียบกับขนาดของแรงงาน

แต่อัตราการว่างงานก็อยู่ในระดับที่ต่ำจนน่าพอใจ

 

แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้ก็คือการแพร่ระบาดของไวรัสที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนหวาดกลัวการเข้ามาของหุ่นยนต์และกลัวว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานมากกว่าเดิม

วินาทีนี้อาจจะยังไม่แย่เท่าไหร่เพราะเรายังรู้สึกว่าหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เราไม่ต้องเสี่ยงกับเชื้อไวรัส แต่ทันทีที่การแพร่ระบาดของไวรัสหยุดลงและเหลือทิ้งไว้แค่หุ่นยนต์ เมื่อนั้นความกลัวหุ่นยนต์จะกลับมาเด่นชัดอีกครั้ง

สิ่งที่เราอาจจะยังไม่ต้องเป็นห่วงก็คือความเคลื่อนไหวในการต่อต้านการพัฒนาหุ่นยนต์ เนื่องจากกลุ่มคนที่จะตกงานเพราะหุ่นยนต์นั้นหลักๆ จะอยู่ในภูมิภาคที่มีปัญหาเรื่องงานภาคการผลิตที่น้อยลงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไวรัสจะระบาด

แต่ไวรัสทำให้เราได้ตื่นและลืมตามองเห็นว่าสิ่งที่เราเคยคิดเอาไว้ว่า โอ๊ย อีกตั้งนานแหละกว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานไปจากฉันได้

มันอาจจะมาเร็วกว่าที่คิดเพราะปัจจัยกระตุ้นที่เราคาดไม่ถึงก็ได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่