ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“เราไม่เคยเห็นวิกฤตการณ์เช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิตเรา”
Ana Botin
Executive Chairman, Santander
การระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังเป็นความท้าทายใหม่ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในมิติด้านความมั่นคงในปัจจุบัน แม้ก่อนหน้านี้โลกจะเคยเผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างในกรณีของโรคเอดส์ ไวรัสหวัดนก ไวรัสซาร์ส (SARS) ไวรัสเมอร์ส (MERS) เป็นต้น
แต่การระบาดในครั้งนั้นดูจะส่งผลกระทบกับระบบระหว่างประเทศอย่างจำกัด
แตกต่างจากผลกระทบรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้อย่างมาก
ผลเช่นนี้ทำให้เกิดข้อคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่อาจจะต้องทบทวนกระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงอย่างจริงจัง
เพราะโลกความมั่นคงในยุคหลังโควิดจะเปลี่ยนไปจากเดิม
และอาจจะเปลี่ยนไปอย่างมากจากยุคก่อนโควิด
แม้รูปแบบหลังการเปลี่ยนแปลงนี้จะยังคงเป็นประเด็นของการถกเถียงในทางวิชาการ
แต่นักคิดและนักวิเคราะห์หลายส่วนมีความเห็นตรงกันว่า โลกยุคหลังโควิดจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป
ข้าศึกใหม่!
อิกอร์ อิวานอฟ (Igor Ivanov) [ประธาน The Russian International Affairs Council และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย] กล่าวว่า เชื้อไวรัสกำลังเปลี่ยนแปลงภัยคุกคามด้านความมั่นคงในระดับโลกอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง
และเรากำลังเผชิญหน้ากับ “ข้าศึกที่ใหม่ที่สุด” ซึ่งทำให้เราจะต้องเปลี่ยนพื้นฐานของการจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาความมั่นคงใหม่ทั้งหมด
ข้อเสนอในเชิงความคิดเช่นนี้เป็นประเด็นสำคัญในกระบวนการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง และแผนยุทธศาสตร์ชาติของทุกประเทศ เพราะชุดวิธีคิดเดิมด้านความมั่นคงมักจะถูกครอบงำด้วยมิติทางทหาร ที่มีความเชื่อว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ” ตั้งอยู่บนฐานของอำนาจกำลังรบแต่เพียงประการเดียว และเน้นรับมือกับภัยคุกคามทางทหารเป็นทิศทางหลักเท่านั้น
อาจจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังโควิด
ซึ่งว่าที่จริงแล้วข้อถกเถียงในประเด็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในยุคหลังสงครามเย็นก็มีการเปิดประเด็นเช่นนี้มาก่อน
ในด้านหนึ่ง “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” (paradigm shift) ในมิติด้านความมั่นคงเกิดมาตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1989/1990 แล้ว
แต่ผู้นำรัฐบาลในบางประเทศก็ไม่มีท่าทีตอบรับในเชิงนโยบายกับกระบวนทัศน์ใหม่
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของคน ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม
ตลอดรวมถึงปัญหาโรคระบาดเช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน
ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลในหลายประเทศแทบจะไม่ลงทุนในการแก้หรือกำหนดมาตรการในการต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเท่าใดนัก
และแน่นอนว่ารัฐบาลในหลายประเทศยังลงทุนในด้านการทหารเป็นหลัก ด้วยความเชื่อพื้นฐานเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่า “อำนาจทางทหารคือความมั่นคงของรัฐ”
แต่การระบาดของโรคครั้งนี้กำลังเป็นเสมือนกับ “มาตรการบังคับ” ให้รัฐต้องเปลี่ยนความคิด และทบทวนสมมุติฐานเดิม เพราะอำนาจทางทหารที่เกิดจากการลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาลไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นศักยภาพของรัฐในการต่อสู้กับ “สงครามโควิด” ครั้งนี้ได้แต่อย่างใด
ในขณะเดียวกันการระบาดที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงกดดันทางสังคมให้รัฐบาลต้องปรับมุมมองด้านความมั่นคงใหม่ และอาจรวมถึงการปรับการใช้งบประมาณของรัฐที่อาจต้องนำมาใช้ด้านสาธารณสุขมากขึ้น หรือเพื่อเตรียมรับมือกับโรคระบาดในอนาคตด้วย
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้นำหลายประเทศต่างก็ยอมรับว่า ความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นโจทย์ความมั่นคงสำคัญในยุคปัจจุบัน หรือที่มีการเสนอเป็นดังคำขวัญใหม่ด้านความมั่นคงว่า “health security is national security” (“ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขคือความมั่นคงแห่งชาติ”)
แน่นอนว่าข้อเสนอเชิงคำขวัญเช่นนี้ท้าทายต่อชุดวิธีคิดเดิมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับนักความมั่นคงในกระบวนทัศน์เดิมอีกส่วน ที่ต้องการอาศัยโควิดเป็นโอกาสทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอำนาจผ่าน “กฎหมายพิเศษ” หรือในบางกรณีก็ใช้โรคระบาดเป็นเครื่องมือของการรวบอำนาจทางการเมือง ผ่านกลไกหรือเครื่องมือสมัยใหม่ในการควบคุมทางสังคม ซึ่งเกิดในหลายประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นกรณีของจีนหรือฮังการี เป็นต้น
โจทย์ใหม่-บทเรียนจากสหรัฐ
สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่อาจจะเป็นข้อพิจารณาในกรณีนี้ ดังที่มีการเปรียบเทียบว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดถึงปลายเดือนพฤษภาคมมีถึง 1 แสนคน (ใกล้เคียงกับการสูญเสียในสงครามโลกครั้งที่ 1 – 116,516 คน) มากกว่าหลายเท่าตัวของผู้เสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายน 2001 (2,977 คน) หรือมากกว่ายอดผู้เสียชีวิตของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม (58,220 คน)
ผลเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า ผู้นำสหรัฐในอนาคตจะยังยึดอยู่กับความคิดในมิติเดิมต่อไปหรือไม่ เมื่อความสูญเสียขนาดใหญ่เกิดจากปัญหาโรคระบาด
แต่หากย้อนกลับไปในอดีต เหตุการณ์ 11 กันยายนส่งผลกระทบในทางยุทธศาสตร์อย่างมาก และนำมาซึ่งยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสหรัฐคือ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” (War on Terror หรือ Global War on Terrorism) ยุทธศาสตร์นี้นำไปสู่การขยายปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในการต่อสู้กับการก่อการร้ายในขอบเขตทั่วโลก
โดยมีขบวนติดอาวุธของโลกมุสลิมเป็นเป้าหมายหลักในทางทหาร
และยังมีนัยถึงการต่อสู้กับรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนกับขบวนติดอาวุธดังกล่าวอีกด้วย (ดูคำกล่าวของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ในวันที่ 16 กันยายน 2001)
ซึ่งส่งผลให้สหรัฐขยายบทบาทใหญ่ทางทหารอีกครั้งในยุคหลังสงครามเวียดนาม
ยุทธศาสตร์เช่นนี้ยังนำไปสู่การขยายปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในสองสงครามใหญ่ คือ สงครามอัฟกานิสถาน (2001) และสงครามอิรัก (2003) ซึ่งทำให้สหรัฐไม่เพียงสูญเสียทหารมากกว่า 7,000 นายเท่านั้น หากยังสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมหาศาล
และสงครามเช่นนี้ทำให้ความสนใจด้านความมั่นคงของประเทศมีศูนย์กลางอยู่กับเรื่องของสงครามก่อการร้ายเป็นประเด็นหลัก
และส่งผลให้ปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
อันมีนัยอย่างสำคัญว่า ทรัพยากรของประเทศจะทุ่มลงสู่ภาคการทหารเป็นทิศทางหลักเพื่อเอาชนะในสงครามดังกล่าว
แม้ผู้นำสหรัฐในยุคต่อมาอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตระหนักถึงผลลบจากนโยบายดังกล่าว
ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2013 ทำเนียบขาวจึงประกาศว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในระดับโลกที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2001 ได้สิ้นสุดลงแล้ว
และในปลายเดือนธันวาคม 2014 ทำเนียบขาวได้ประกาศยุติบทบาทนำของสหรัฐในปฏิบัติการทางทหารในอิรัก
แม้ในช่วงเวลาต่อมาการขยายตัวของ “กลุ่มรัฐอิสลาม” ในกลางปี 2014 จะเป็นปัจจัยสำคัญกดดันจนสหรัฐต้องกลับสู่การมีปฏิบัติการทางทหารในอิรักอีกครั้งหนึ่งในตอนกลางปี 2016
แต่ก็เป็นในรูปของการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนกำลังรบทางบกของรัฐบาลท้องถิ่น
ผลที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกด้านหลังจากเหตุการณ์ในเดือนกันยายน 2001 ก็คือ น้ำหนักในเชิงนโยบายด้านความมั่นคงมุ่งไปสู่การจัดการกับสองสงครามและกับกลุ่มก่อการร้ายของโลกมุสลิม จนทำให้เกิดปัญหาในอีกส่วน
ดังจะเห็นได้ว่าสหรัฐให้ความสําคัญไม่มากนักกับการเปลี่ยนแปลงของ “ภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงใหม่” ในเวทีโลก
ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวใหม่ของรัสเซียหลังจากการล่มสลายในยุคหลังสงครามเย็น
และการเติบโตของจีนที่กำลังก้าวขึ้นสู่สถานะของความเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” (the great power) จนกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของสหรัฐ
ผลจากการ “ติดกับดักสงคราม” ทั้งในอัฟกานิสถานและในอิรัก ทำให้นโยบายความมั่นคงของสหรัฐไม่สามารถรับมือกับโจทย์ใหม่ๆ ในเวทีโลกได้เท่าที่ควร
และยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดที่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการกำหนดนโยบายในลักษณะที่ “แหวกบรรทัดฐาน” ของความเป็นรัฐมหาอำนาจในเวทีโลกด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ความคาดหวังที่จะเห็นการปรับตัวของนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐเป็นไปได้ยากมากขึ้น
ดังนั้น การต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดในต้นปี 2020 จึงเป็นดังการ “ทดสอบนโยบาย” ครั้งสำคัญของผู้นำสหรัฐที่กำลังก้าวสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้
ความท้าทายใหม่
แม้นว่าทรัพยากรบางส่วนในระบบการเมืองอเมริกันอาจจะถูกจัดสรรให้แก่การจัดการกับปัญหาใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ หรือการเตรียมรับมือกับโรคระบาด แต่การจัดสรรเช่นนี้น้อยเกินไปจนไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
เช่น ทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ตัดงบประมาณที่ให้แก่ศูนย์ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (The Center for Disease Control and Prevention : CDC)
หรือเห็นจากงบประมาณโดยเฉลี่ยจากปี 2010 ว่า สหรัฐใช้งบประมาณราว 180 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในการต่อสู้กับการก่อการร้าย แต่ใช้งบฯ ราว 2 พันล้านเหรียญต่อปีกับงานทางด้านสาธารณสุขในการต่อสู้กับปัญหาโรคระบาด
หรือในงบประมาณปี 2019 รัฐสภาอเมริกันผ่านงบประมาณ 685 พันล้านเหรียญให้กับกระทรวงกลาโหม แต่จัดสรรงบประมาณ 7 พันล้านให้แก่ CDC ที่ต้องทำงานต่อสู้กับปัญหาโรคระบาด
ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนของการใช้งบประมาณด้านการทหารของประเทศ โดยเปรียบเทียบกับการใช้งบในการต่อสู้กับโรคระบาด
ซึ่งเชื่อว่าผลจากโรคระบาดครั้งนี้จะทำให้สังคมอเมริกันลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดการปรับงบประมาณของประเทศมากขึ้น
ในขณะเดียวกันคงมีการผลักดัน “วาระความมั่นคงด้านสาธารณสุข” ที่ในอนาคตประเทศอาจจะต้องเก็บสำรองเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์
รวมทั้งการใช้งบประมาณเพื่อการต่อสู้กับโรคระบาดที่มากขึ้นกว่าเดิม ตลอดรวมถึงการจัดสรรงบฯ เพื่อช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ชาวอเมริกันที่ตกงาน และงบฯ ในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ อันส่งผลให้งบฯ สวัสดิการสังคมในยุคหลังโควิดจะเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายทำเนียบขาวเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ เพื่อคงความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่ต้องมีบทบาทในเวทีโลก ทำเนียบขาวจะต้องคิดในเรื่องการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคต
เพราะถ้าสหรัฐไม่ทำ จีนจะเข้ามามีบทบาทแทนแน่นอน อันเป็นผลจากขยายอิทธิพลจีนในเวทีโลกที่มีมากขึ้นในยุคหลังโควิด…
ยุคหลังโควิดจึงท้าทายในทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง!
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่