คนมองหนัง | ‘ครอบครัวแบบใหม่’ ในหนังชิลีเรื่อง ‘Ema’

คนมองหนัง

สำหรับประชาคมภาพยนตร์นานาชาติ หลายคนอาจคุ้นชื่อ “ปาโบล ลาร์เรน” จากการกำกับหนังชีวประวัติบุคคลสำคัญระดับโลกที่เป็นสตรี อันได้แก่ “Jackie” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ “แจ็กเกอรีน เคนเนดี” (รับบทโดย “นาตาลี พอร์ตแมน”) เมื่อปี 2016

และล่าสุด ลาร์เรนก็กำลังจะได้กำกับหนังใหม่เรื่อง “Spencer” ซึ่งมีนางเอกชื่อดังในยุคนี้อย่าง “คริสเตน สจ๊วร์ต” มาสวมบทบาท “เจ้าหญิงไดอานา”

อย่างไรก็ตาม สำหรับในสังคมภาพยนตร์ของประเทศชิลี ปาโบล ลาร์เรน คือคนทำหนังที่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงประวัติศาสตร์การเมืองในยุคผู้นำเผด็จการ “ออกุสโต ปิโนเชต์” อย่างจริงจัง

ผ่านหนังไตรภาคว่าด้วยยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย “Tony Manero” (2008), “Post Mortem” (2010) และ “No” (2012)

โดยที่ “No” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการโค่นล้มอำนาจของปิโนเชต์ผ่านกระบวนการลงประชามติ ดูจะมีชื่อเสียงในวงกว้างมากที่สุด

หลังออกมาสร้างภาพยนตร์ระดับอินเตอร์เรื่อง “Jackie” ลาร์เรนก็หวนกลับไปทำหนังในบ้านเกิด และมีผลงานเรื่อง “Ema” ออกฉายในปี 2019

นักดูหนังคนไทยหลายรายอาจเพิ่งได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผ่านทางแพลตฟอร์ม MUBI ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

“Ema” มิได้ย้อนอดีตไปสู่ยุคปิโนเชต์ แต่หนังเลือกบันทึกส่วนเสี้ยวชีวิตอันกระจัดกระจายของหญิงสาวชนชั้นกลางระดับล่าง/ชนชั้นล่างรายหนึ่งในสังคมชิลีร่วมสมัย ซึ่งมีนามว่า “เอม่า”

เอม่ามีคนรักเป็นศิลปิน/ปัญญาชนนักออกแบบท่าเต้นที่ชื่อ “แกสตอง” ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงรับเด็กชายกำพร้าชื่อ “โปโล” มาเป็นลูกบุญธรรม

แต่เมื่อโปโลก่อพฤติกรรมรุนแรง ด้วยการจุดไฟเผาใบหน้าน้องสาวของเอม่าจนเสียโฉม คู่สามีภรรยาจึงตัดสินใจ (หรือถูกบีบให้) ส่งตัวเด็กชายกลับไปยังหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้ส่งมอบเขาให้พ่อแม่บุญธรรมคู่ใหม่อีกต่อหนึ่ง

นี่คือปัจจัยแรกที่ส่งผลให้ชีวิตคู่ของเอม่าและแกสตองประสบปัญหา

ความระหองระแหงถูกซ้ำเติมให้แตกร้าวมากขึ้น เมื่อเอม่า ซึ่งมีอีกสถานะเป็นนักเต้นในทีมของแกสตอง พร้อมผองเพื่อนนักเต้นจำนวนไม่น้อย ดูจะเบื่อหน่ายและไม่ยอมรับวิถีการทำงานแบบ “performance art” ของศิลปินนักออกแบบท่าเต้นผู้เป็นปัญญาชน

ตรงกันข้าม เอม่าและเพื่อนๆ พากันหลงใหลในกิจกรรมการเต้น “เรเกตอน” ตามท้องถนน แม้บางคน รวมถึงแกสตอง จะเหยียดหยามว่ามันไม่มีคุณค่าใดๆ ก็ตาม

หนังคล้ายจะพาคนดูเถลไถลออกนอกลู่ทาง ด้วยการตามส่องวิถีชีวิตประจำวันอัน “จับต้น” ไม่ได้ของเอม่าไปเรื่อยๆ

ทั้งพฤติกรรมการลอบใช้ระเบิดนาปาล์มทำลายทรัพย์สินสาธารณะ การผูกสัมพันธ์กับหนุ่มใหญ่พนักงานดับเพลิง การมีสัมพันธ์บนเตียงกับทนายความหญิง การพยายามจะสมัครเข้าไปทำงานเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตลอดจนการตั้งครรภ์ซึ่งนำไปสู่การถือกำเนิดของ “ครอบครัวขยาย” อันประกอบด้วยสองแม่ สองพ่อ สองลูก และเพื่อนๆ อีกมากหน้าหลายตาของแม่

เท่ากับว่าลาร์เรนสามารถหยิบฉวยเอาเรื่องราวที่คล้ายจะไม่ข้องเกี่ยวกัน ผ่านข้อขัดแย้งทางสังคมอันหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องศิลปะ/สุนทรียศาสตร์, เพศสภาพ, ชนชั้น ไปจนถึงสถาบันครอบครัว มาขยำรวมกันเป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ที่ทั้งดูสนุก มีประเด็นชวนฉุกคิด และส่ง “สารทางการเมือง” อันแหลมคมแปลกใหม่

ในแง่บทบาท-หน้าที่ ตัวละครนำเช่นเอม่า คือ “ตัวป่วนระบบ-ระบอบ-สังคม” อย่างไม่ต้องสงสัย

ทว่ารูปแบบ “การปั่นป่วน” ของเธอกลับมีมิติสลับซับซ้อน กล่าวคือ แม้ด้านหนึ่ง เธอจะมีภาพลักษณ์เป็น “ผู้ลอบทำลาย” ทรัพย์สินสาธาณะ แต่อีกด้าน หญิงสาวผู้นี้ก็มุ่งมั่นพยายาม “สร้างสรรค์ครอบครัว” หรือ “สร้างสรรค์สายสัมพันธ์/ภราดรภาพทางสังคม” ในรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่แหวกต้านจารีตปทัสถานดั้งเดิมอย่างแปลกประหลาดและร้ายกาจ

ด้วยเหตุนี้ “ตัวป่วน” อย่างเอม่าจึงมีสถานะเป็นทั้ง “ผู้สร้าง” และ “ผู้ทำลาย” ยิ่งกว่านั้น เราคงไม่สามารถเรียกขานพฤติกรรมของเธอว่าเป็น “การต่อต้าน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และดูเหมือนตัวเธอเองก็จะไม่ค่อยอินหรือเชื่อในคอนเซ็ปท์เรื่อง “การต่อต้าน” แบบพวกปัญญาชนสักเท่าไหร่

ประเด็นดังกล่าวผูกโยงเข้ากับจุดเด่นสำคัญซึ่งปาโบล ลาร์เรน สอดแทรกเอาไว้ในหนังเรื่อง “Ema”

ที่ผ่านมา เวลาผลงานทางวัฒนธรรมจำนวนมากต้องการส่งสารว่า “คนชั้นล่าง” หรือ “คนชายขอบ” ของสังคมนั้นมี “ภูมิปัญญา” ในแบบฉบับของตนเอง ผลงานกลุ่มนี้มักจะหลีกหนี “กับดัก” ของการประกอบสร้าง “ตัวละครคนชั้นล่าง/คนชายขอบ” ให้กลายสภาพเป็น “ปัญญาชน” ไปไม่ค่อยพ้น

แม้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นักทำหนังฝีมือดีชาวชิลี จะสร้างตัวละคร “สาวนักเต้นข้างถนน” ที่ใช้ชีวิตในชุมชนย่านท่าเรือ ให้เป็นบุคคลผู้มี “ตรรกะ” แม่นยำและไปสุดทางมากๆ

แต่ “ตรรกะ” ของเอม่ากลับหล่อหลอมขึ้นมาจากความดิบ ความเลว ความเถื่อน ความเห็นแก่ตัว ความมัวเมาในกามารมณ์ ความรัก ความมีมนุษยธรรม ความเป็นแม่ และความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างคนรัก-มิตรสหายอันยุ่งเหยิงไร้ระบบระเบียบโดยสิ้นเชิง

ทั้งหมดนี้คืออารมณ์ความรู้สึกและสัญชาตญาณที่แฝงฝังกระจัดกระจายอยู่ในตัวตนและวิถีชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งดูจะไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงปะติดปะต่อหรือเป็นเหตุเป็นผลต่อกันมากนัก

ทว่ามันกลับนำไปสู่ผลลัพธ์อันทรงพลังและสามารถทำความเข้าใจได้ ณ เบื้องท้ายสุด

นี่เป็น “ตรรกะ” ที่คนเป็นทนายความ (ซึ่งมีความคิด-การดำเนินชีวิต-รสนิยมทางเพศที่เปิดกว้างพอสมควร) คนเป็นพนักงานดับเพลิง (ที่เชื่อว่าการสร้างสถาบันครอบครัวคืออารยธรรมและวัฒนธรรม) หรือคนออกแบบท่าเต้น (ที่เป็นเหมือนนักท่องเที่ยว-ปัญญาชนคนนอก) อาจจะพอปรับตัวปรับใจรับสภาพและดอกผลของมันได้อยู่บ้าง

แต่ในเบื้องลึกแล้ว พวกเขาและเธอคงไม่มีทางเข้าอกเข้าใจได้อย่างกระจ่างแจ้ง ถึงวิถีทาง-วิธีคิดของคนชั้นล่าง/คนชายขอบผู้หนึ่ง ที่พยายามจะผลักดัน “ตรรกะพิลึกพิลั่น” ชุดนี้ ให้ค่อยๆ พัฒนา-ก่อรูปกลายมาเป็นปฏิบัติการอันมีสัมฤทธิผลในโลกความจริง

สิ่งที่ดำเนินคู่ขนานไปกับการสร้างครอบครัววิถีใหม่ของเอม่า ก็คือการรวมกลุ่มเต้น “เรเกตอน” กับเพื่อนๆ ร่วมชนชั้นของเธอ

ปัญญาชนนักออกแบบท่าเต้น เช่น แกสตอง นั้นเคยดูหมิ่นกิจกรรมการเริงระบำข้างถนนดังกล่าว ในทำนองว่านี่เป็นเรื่องไร้สาระเปล่าประโยชน์ เป็นการหลบหนีความจริง และไม่มีพลังในการต่อสู้-เปลี่ยนแปลงสังคม

แต่เอม่ากับมิตรสหายกลับค่อยๆ แสดงให้แกสตองและคนดูหนังได้รับรู้ว่า หากพิจารณาในแง่มุมศิลปะ การเต้น “เรเกตอน” นั้นมีอิสระลื่นไหลและมีชีวิตชีวากว่า “performance art” ในพิพิธภัณฑ์/แกลเลอรี/โรงละครเป็นไหนๆ

ขณะที่ในแง่พลานุภาพทางการเมือง ความพยายามดิ้นรนขัดขืนสิ่งเก่าๆ และลงมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของเอม่า ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนช่วยเหลือจากเครือข่ายเพื่อนๆ นักเต้นริมถนน ก็ไปได้ไกลและมีประสิทธิผลจริงๆ มากกว่าการเผชิญหน้ากับปัญหาในแบบ “แกสตอง”

ประเด็นสุดท้าย ที่ตัวละครเอม่าได้สร้างความท้าทายทิ้งเอาไว้อย่างถึงแก่น ก็คือ การลงมือรื้อสร้างนิยามความหมายของ “พ่อแม่” และ “ครอบครัว” ในโลกยุคปัจจุบันชนิดถึงรากถึงโคน

แม้หนังเรื่องนี้อาจเปิดฉากขึ้นมา โดยคล้ายจะฉายภาพให้เห็นว่าเอม่าและคนรุ่นเธอคือ “บิดามารดา” ที่ล้มเหลว ตั้งแต่การให้กำเนิดบุตรของตนเองไม่ได้ และการเป็นพ่อแม่บุญธรรมที่ขาดตกบกพร่อง

ทว่าแทนที่ลาร์เรนจะหยุดเรื่องราวอยู่ตรง “ภาวะไร้ความสามารถ” ข้างต้น เขากลับสาธิตให้ผู้ชมได้ตระหนักถึง “ความเป็นไปได้อื่นๆ” ว่าบางที “คนรุ่นเอม่า/คนอย่างเอม่า” อาจมีวิธีการลงมือก่อร่างสร้างครอบครัวและสืบพันธุ์ (reproduction) แบบใหม่ๆ ซึ่งซับซ้อน หลากหลาย ขยายกว้าง กลับหัวกลับหาง และยืดหยุ่นกว่าคนรุ่นก่อน

นี่คือภาพแทนของ “ครอบครัว/ชุมชน/สังคม” ที่ก้าวล้ำทะลุทะลวงเกินความคาดคิด ประสบการณ์ชีวิต ตลอดจนเส้นขอบฟ้าทางภูมิปัญญาของผู้ทรงอำนาจและผู้มีความรู้จำนวนมาก


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่