วงค์ ตาวัน | 24 มิถุนายน ในปี 2563

วงค์ ตาวัน

น่าสังเกตว่าบรรยากาศการรำลึกวัน 24 มิถุนายน 2475 นั้น โดยปกติที่ผ่านๆ มาก็ไม่ได้เป็นไปอย่างคึกคักอะไรมากนัก เดิมทีมีการกล่าวถึงวันสำคัญในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยวันนี้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ก็เป็นไปในลักษณะการพูดถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เหมือนการทบทวนเหตุการณ์ที่มีความหมายในอดีตเท่านั้น

เหมือนแค่รำลึกถึงเหตุการณ์หนึ่ง ในแง่วิชาการประวัติศาสตร์อะไรแบบนั้น

มาในช่วง 2-3 ปีมานี้กลับคึกคักขึ้นมา เกิดกิจกรรมการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ มีการรวมตัวกัน ออกมาจัดงานหลายที่หลายแห่ง เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

โดยนักประชาธิปไตย นักคิด นักวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกันมาก

เป็นไปได้มากที่การรำลึก 24 มิถุนายน เริ่มร้อนระอุมากขึ้น เป็นประเด็นให้คนรุ่นใหม่ออกมาพูดถึงวันสำคัญนี้มากขึ้น

เพราะบรรยากาศบ้านเมืองเรา ถอยหลังไปไกลมากเกินไป ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยจนแทบไม่เหลือ

เลือกตั้งกันแทบตาย แห่กันไปลงคะแนนกันหลายล้านเสียง แต่กลับมีน้ำหนักน้อยกว่า 250 ส.ว.

จึงเป็นที่วิจารณ์กันว่า นี่คือประชาธิปไตยที่เหมือนเป็นแค่ชื่อ และมีรูปแบบการเลือกตั้งเป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่เนื้อแท้กลับมีกลไกของรัฐธรรมนูญ ที่สร้างกติกาเอื้อประโยชน์ให้คนหยิบมือเดียว เป็นแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรืออาจจะแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น

ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคนที่รักประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เริ่มอึดอัด และเริ่มนึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตยเมื่อ 88 ปีก่อน

พร้อมกับคำถามว่า 24 มิถุนายน 2475 เบิกม่านประชาธิปไตยไทยแล้ว ผ่านมายาวนานถึง 88 ปีแล้ว แถมยังต้องเสียเลือดเนื้อชีวิตเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อีกครั้งใหญ่ เหตุใดประชาธิปไตยไทยเราถึงถดถอยได้ขนาดนี้

จากการที่เคยรำลึก 24 มิถุนายน ด้วยงานสัมมนาวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตีพิมพ์บทความในเชิงประวัติศาสตร์ตามสื่อต่างๆ

เริ่มกลายเป็นออกมารวมตัวเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมนอกสถานที่กันแล้วในปีนี้!

จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 นำประชาธิปไตยมาสู่บ้านเมืองไทย เป็นการเปิดม่านการเมืองไปสู่ยุคที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ครั้งสำคัญ นับจากนั้นมาความพยายามของกลุ่มอำนาจชนชั้นสูง ขุนศึกขุนนาง เพื่อจะดึงอำนาจกลับคืนไปก็มีเป็นระยะๆ

จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิต-นักศึกษาร่วมกับประชาชนจำนวนมากร่วมกันล้มรัฐบาลทหาร นำประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอีกครั้งหนึ่ง

ทำให้การเมืองในระบบรัฐสภาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่ก็ยังมีการแทรกแซงจากผู้นำทหารเป็นระยะๆ มีการรัฐประหารล้มประชาธิปไตย

รวมทั้งอาศัยช่องที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้ผ่านการเลือกตั้ง ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น มีการส่งตัวแทนของกลุ่มอำนาจนอกระบบเข้ามาควบคุมการเมือง มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ยาวนาน

ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ขับไล่รัฐบาลที่มีนายกฯ มาจากทหาร และต่อสู้จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดเจนว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น จะมาจากแหล่งอื่น จะมาจากคนนอกไม่ได้

จนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกว่าฉบับประชาชน ส่งเสริมการเมืองระบบรัฐสภาให้แข็งแกร่งสุดขีด!

เข้าสู่ยุคที่พรรคการเมืองและนักการเมืองมีบทบาทอย่างสูง ทั้งประชาชนในชนบทตื่นตัวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งครั้งใหญ่

เป็นยุคที่รัฐบาลและพรรคการเมือง มีนโยบายในการพลิกโฉมหน้าประเทศได้อย่างเป็นระบบ

ประชาชนแห่ออกมาเลือกตั้งด้วยเห็นในนโยบายที่จับต้องได้จากพรรคการเมืองและนักการเมือง การหาเสียงซื้อเสียงแบบเดิมๆ แจกเงินซื้อเสียงหัวละไม่กี่ร้อย แทบจะไม่ส่งผลต่อการเลือกตั้งอีกแล้ว

แน่นอนว่านักการเมืองและพรรคการเมือง อาจมีแนวโน้มเหิมเกริมอำนาจมากไป แต่อีกด้านหนึ่งกลุ่มอำนาจเก่าขุนศึกขุนนางก็จ้องหาโอกาสโค่นล้มอย่างจริงจัง

เพราะทนไม่ไหวที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเติบโตขยายตัวอย่างมาก รับไม่ได้ที่เสียงประชาชนในชนบทกลายเป็นกำลังสำคัญในการชี้ขาดการเมืองไทย โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง ถึงจุดไม่อาจปล่อยให้ประชาธิปไตยและกลุ่มทุนเสรีเติบใหญ่ไปมากกว่านี้ได้

จนได้โอกาส ในเหตุการณ์ม็อบเสื้อเหลือง นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้มรัฐบาลทักษิณและไล่ล่าทักษิณเพื่อไม่ให้อยู่ในประเทศไทยได้

แต่ผ่านไป 1 ปีมีเลือกตั้งใหม่ในปี 2550 พรรคเครือข่ายทักษิณกลับชนะอย่างท่วมท้นอีก ต่อเนื่องมาจนถึงเลือกตั้ง 2554 ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย กลายเป็นนายกฯ หญิงคนแรก

กลุ่มอนุรักษนิยมการเมืองแทบจะทนไม่ไหว จนกระทั่งมาสบโอกาสด้วยม็อบนกหวีดในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 กลายเป็นรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ก็คือกระบวนการซ้ำรอยและต่อเนื่องจากม็อบเหลืองและรัฐประหาร 2549 โดยภาคแรกไม่สำเร็จ เลยต้องมีภาค 2 พร้อมกับเพิ่มทุกมาตรการเพื่อจะโค่นล้มอำนาจทักษิณและฝ่ายนักการเมืองให้สิ้นซาก!

รัฐบาลทหาร คสช.อยู่ในอำนาจยาวนานถึง 5 ปี เพราะสรุปจากรัฐบาลทหาร คมช.ที่อยู่แค่ปีเดียวแล้วว่ายังขุดรากถอนโคนฝ่ายตรงข้ามไม่หมดสิ้น พร้อมกับเพิ่มกลไกสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ที่ปิดกั้นอีกฝ่ายให้ครบถ้วนทุกช่องทาง

รูปธรรมสำคัญสุดก็คือ นายกฯ ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ต้องลงสนามเดินหาเสียง แค่เอาชื่อไปใส่ไว้ในบัญชีของพรรคการเมือง

ก็คือนายกฯ คนนอกเหมือนในอดีต แต่มีรูปโฉมที่แนบเนียนขึ้น!!

ประการต่อมา เพื่อรับประกันว่า นายกฯ ต้องเป็นคนที่ล็อกตัวเอาไว้ล่วงหน้า จึงต้องมีเสียง 250 ส.ว.เป็นเครื่องชี้ขาด กลายเป็น 250 เสียงที่มีน้ำหนักเหนือกว่าเสียงประชาชนหลายล้านที่ไปลงคะแนนในคูหาเสียอีก

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็ได้แกนนำรัฐบาลทหาร คสช.เข้ามานั่งในรัฐบาลปัจจุบัน โดยนักการเมืองเป็นแค่ตัวประกอบ

ภาพรวมของการเมืองไทยจึงถอยหลังไปไกลสุดกู่ ย้อนไปถึง 40 ปี

ขณะที่การเกิดของพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ แถมได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างมากมายมหาศาล ก็ต้องโดนจัดการ ด้วยวิธีการที่ไม่ได้เหนือชั้นอะไรเลย รู้เห็นกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

นั่นคือการจุดชนวนให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวในหลายๆ รูปแบบ เพราะเริ่มทนกับระบบการเมืองที่ล้าหลังอย่างมากมายไม่ไหว

ที่เห็นกันง่ายๆ อีกเรื่องก็คือ การล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2557 นั้น ด้วยการชูวาทกรรมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ยอมให้มีเลือกตั้งในปีนั้น

เสร็จแล้วรัฐบาล คสช.อยู่ยาวนานอีก 5 ปี เพื่อปฏิรูปการเมืองไทยให้พัฒนาก้าวหน้าก่อน

ผลก็คือ รัฐบาลปัจจุบัน การเมืองปัจจุบัน ถูกวิจารณ์หนักว่าน้ำเน่าและล้าหลังอย่างสุดๆ เป็นเครื่องประจานชัดเจนว่าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมืองไทยไม่มีจริงแต่อย่างใด เป็นแค่เกมชิงอำนาจและลากการเมืองไทยให้กลับไปสู่ยุคโบราณ

บรรยากาศการเมืองอันถอยหลังเข้าถ้ำถดถอยอย่างสุดกู่ ปิดกั้นอำนาจการเมืองในมือประชาชนเช่นนี้เอง

24 มิถุนายนในปีนี้ จึงจุดอารมณ์ผู้คน เกิดการเคลื่อนไหวรำลึกถึงประชาธิปไตยไทยอย่างร้อนแรง!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่