มุกดา สุวรรณชาติ : แก้รัฐธรรมนูญ… เลือกตั้งฝ่ายบริหาร เลือกตั้งสภายุติธรรม และ ส.ว.

มุกดา สุวรรณชาติ

88 ปีของการเปลี่ยนแปลง
ผ่าน 6 ยุคสมัย แต่ไม่ก้าวไปข้างหน้า

ยุคแรก จาก 24 มิถุนายน 2475 ผ่าน 15 ปีของความพยายามที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตย แม้จะต่อสู้กับอำนาจเก่าผ่านมาได้ แต่สุดท้ายก็ต้องยุติการพัฒนาในปี 2490 เพราะการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และไม่ได้กลับมาอีกเลย

ยุคที่ 2 หลังการรัฐประหาร 2490 เป็นยุคที่ลัทธิทหารยังครองอำนาจต่อมาในหลายประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอำนาจสูงสุด ครองอำนาจต่อเนื่อง รัฐประหารตนเองในปี 2494 แล้วใช้ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีจำนวนเท่ากับ ส.ส.เลือกตั้ง 2495 ค้ำอำนาจอยู่มาถึง พ.ศ 2500 ก็ถูกรัฐประหาร ระบบเผด็จการแบบแปลงกายอยู่มาได้ถึง 10 ปี

ยุคที่ 3 เผด็จการอย่างแท้จริงโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ 2500 ภายใต้การหนุนหลังของอเมริกา แต่จอมพลสฤษดิ์ให้มีการเลือกตั้ง ให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ แล้วตนเองไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ กลับมาล้มสภา ยึดอำนาจอีกครั้ง พฤศจิกายน 2501 และปกครองโดยอำนาจคณะปฏิวัติ เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต 2506 กลุ่มจอมพลถนอม-ประภาสก็ครองอำนาจต่อ มีเลือกตั้งปี 2512 แล้วก็รัฐประหารตัวเองในปี 2514 ระบบเผด็จการช่วงนี้ยาวนานถึง 1+15 ปี

ยุคที่ 4 เริ่มต้นที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พลังนักศึกษาประชาชนโค่นอำนาจกลุ่มถนอม-ประภาสลงได้ ก็มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง แต่เพียงแค่ 3 ปีก็ถูกรัฐประหาร เกิดระบอบเผด็จการขึ้น จนถึงปี 2523 และแปลงกายเป็นเผด็จการครึ่งใบ ผู้มีอำนาจใช้ ส.ว.แต่งตั้ง และ ส.ส.จากการเลือกตั้ง ค้ำอำนาจครึ่งใบจนกระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบอบประชาธิปไตยจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้น ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงนี้กินเวลาทั้งหมดประมาณ 15 ปี (ประชาธิปไตย 3+เผด็จการ 3+เผด็จการครึ่งใบ 9 ปี)

ยุคที่ 5 การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ออกตัวด้วยการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ก็เกิดการรัฐประหารของคณะ รสช.ในปี 2534 แต่ก็ถูกประชาชนต่อต้าน ไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อได้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จากนั้นการพัฒนาประชาธิปไตยก็เดินต่อ จนถึงปี 2549 นี่เป็นช่วงที่ยาวนานที่สุด ระบอบประชาธิปไตยได้พัฒนาต่อเนื่อง แม้จะมีคณะ รสช.มาสกัดไว้ 1 ปี นับเวลาโดยรวมแล้วก็นานถึง 3 ปี (ก่อนพฤษภาทมิฬ) +15 ปี มาสิ้นสุดที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร

…(รวม 5 ยุคในอดีต ยาวนาน 74 ปี)

 

ยุคที่ 6 ผ่านมา 14 ปี
น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้

ปัจจุบันเป็นยุคที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีความซับซ้อน การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งและการใช้กำลังทหารยึดอำนาจเท่านั้น

แต่ยังมีตุลาการภิวัฒน์ โดยมีองค์กรอิสระและศาล นอกจากนั้น ยังมีอำนาจนอกระบบอื่นที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้การต่อสู้ขยายกว้าง มีลักษณะยืดเยื้อ

ผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ได้มีอำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์

นี่คือยุคปัจจุบันถ้านับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงเวลานี้ก็กินเวลาเกือบ 14 ปี ดูเหมือนเป็นเวลาที่ใกล้จะครบวงรอบของการเปลี่ยนแปลงแล้ว

ขณะนี้เป็นภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนจะยิ่งยากลำบากมากขึ้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงยังเป็นการปฏิรูป ก็ต้องใช้เวลา แต่ต้องมีขั้นตอนและเป้าหมายที่ถูกต้อง จึงจะมีโอกาสก้าวไปข้างหน้าให้พ้นปากเหว

เราคงไม่ย้อนหลังไป 88 ปีที่แล้วเพื่อดูหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่มาดูว่ามีปัญหาอะไรในยุคปัจจุบัน ถ้ายึดหลักประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน

มองไปที่โครงสร้างอำนาจที่เดิมเราแบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ มองการพัฒนารัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติจริง ว่ามีปัญหาอย่างไร?

ตกลงแล้วประชาชนได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นจริงหรือไม่ เพื่อประชาชนจริงหรือไม่?

ถ้ามีปัญหาในฝ่ายต่างๆ ปัญหาคืออะไร? มีวิธีแก้ไขอย่างไร?

 

ปัญหาที่สะท้อนออกมาจากการใช้อำนาจของทุกฝ่าย

1.เริ่มตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ที่ไม่ได้เอาตัวแทนของประชาชนมาร่วมร่าง จึงมีข้อกำหนดให้มี ส.ว.จากการแต่งตั้งมาเลือกนายกฯ ได้ เพื่อความได้เปรียบ

มีวิธีการเลือกตั้งแบบแปลกประหลาดที่ทำให้การคิดคะแนนและการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

มีการยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง

เกิดเหตุการณ์ที่ ส.ส.ซึ่งประชาชนเลือกมาจากพรรคการเมืองหนึ่งสามารถย้ายพรรคเปลี่ยนอุดมการณ์เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้วไปอยู่ฝั่งตรงข้าม

ประชาชนได้แต่อ้าปากค้างตกตะลึงแต่ทำอะไรไม่ได้ การซื้อ-ขายลิงและงูเห่าจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป

2. ในฝ่ายบริหารก็ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน แต่ไม่มีใครแข่งได้ เพราะฝ่ายที่มี ส.ว.แต่งตั้งหนุนหลังย่อมได้เปรียบ มีการต่อรองแย่งชิงอำนาจแย่งชิงกระทรวง แย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อได้คนไม่เหมาะกับงาน ผลงานบริหารก็ไม่ได้เรื่อง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในขณะเดียวกันการทุจริตคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นอย่างมากมาย ต้องมีเงินทองไปซื้อ-ขายตำแหน่ง ซื้อ-ขาย ส.ส. การคัดคนขึ้นมาบริหาร จึงไม่มีคนเก่งมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านซึ่งกำลังลำบาก

3. ในฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระก็มีอำนาจที่เข้าไปตัดสินปัญหาทางการเมืองทำให้เกิดการยุบพรรคตัดสิทธิ์คนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายนี้ไม่มีใครที่ต้องรับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรงแม้แต่คนเดียว

และในทางตรงกันข้าม บุคลากรผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมชี้ถูกชี้ผิดกลับได้รับการแต่งตั้งและได้รับความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งจาก ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจากผู้ที่ยึดอำนาจ ผลประโยชน์ทางอำนาจจึงไปทับซ้อนกัน ความเกรงใจและเห็นใจต่อความเดือดร้อนและผลประโยชน์ของประชาชนจึงไม่มี แต่ก็จะเกรงใจผู้ที่ทำให้ตนเองได้ตำแหน่งมา

ผู้มีอำนาจชี้ความถูกผิดในกระบวนยุติธรรม หลายองค์กรมีผลงานหลายเรื่องที่ทุกวันนี้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ไปทักท้วงและโต้แย้ง ถ้าแสดงความเห็นมากก็อาจถูกดำเนินคดี

 

การปฏิรูปที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน

1.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน และควรมีเนื้อหาใหม่ที่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน เช่น การยุบพรรค (แต่ก็ตั้งใหม่ได้) ซึ่งบางพรรคมีสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสนคน พวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไร การตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการ หรือกรณีการถือหุ้นสื่อ ซึ่งปัจจุบันคนธรรมดาก็สามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่ความคิด โฆษณาได้โดยมีผู้ติดตามเป็นแสนๆ มากกว่า น.ส.พ. หรือ TV บางช่องอีก มีข้อห้ามนี้เพื่ออะไร

ต้องให้สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น สิทธิ์ในการเลือกตัวแทนและถอดถอนตัวแทนทุกฝ่ายแก่ประชาชน

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเน้น ดำเนินการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเร็ว อย่างเป็นรูปธรรม ตามตารางเวลา เพราะนโยบายนี้กำหนดมาตั้งแต่ 2476

2. แก้ปัญหาในฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้ากำหนดให้มี 2 สภาคือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา แต่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย

เช่น สภาผู้แทนราษฎร ถ้าเลือก ส.ส.มาจากเขตเพื่อให้เป็นตัวแทนท้องถิ่นก็กำหนดให้ชัดเจนและใช้บัตรเลือกตั้งแบบหนึ่ง แต่ถ้า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็คือการให้ประชาชนเลือกพรรคและนโยบายของพรรคก็ใช้บัตรเลือกตั้งอีกแบบหนึ่ง ควรแยกคะแนนออกจากกัน

และจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้า ส.ส.เขตจะออกจากพรรคด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทั้งลาออกหรือถูกขับออก ก็จะต้องให้ประชาชนในเขตนั้นตัดสินใจเลือกใหม่ ไม่สามารถย้ายพรรคใหม่ได้ แต่ประชาชนอยากจะเลือก ส.ส.คนใหม่พรรคเดิมหรือจะเลือก ส.ส.คนเดิมแต่พรรคใหม่ก็ทำได้

ส่วน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีปัญหาลาออก ก็ให้เลื่อนบัญชีรายชื่อถัดมาแทน ในกรณีที่ถูกขับออกจากพรรคถือว่าให้ออกจากการเป็น ส.ส. และพรรคยังไม่สามารถตั้งคนเข้ามาแทนได้ในทันที ต้องส่งเรื่องให้ศาลตัดสินว่าการขับออกมีเหตุผลเพียงพอ มีความจำเป็น ศาลจึงจะอนุมัติให้แต่งตั้งคนใหม่เข้ามาได้ตามบัญชีรายชื่อ ถ้าศาลไม่เห็นชอบ ตำแหน่งนั้นจะว่างลงทันที

การยุบพรรคตัวเองเพื่อย้าย ส.ส.ไปรวมกับพรรคอื่นทำไม่ได้ ถ้ายุติกิจกรรมทางการเมือง ตำแหน่ง ส.ส.ก็หมดไป แต่ ส.ส.เขตต้องเลือกตั้งใหม่

ถ้า ส.ส.เหลือไม่ถึง 60% ของจำนวนเต็ม สภาผู้แทนฯ จะถูกยุบ ต้องเลือก ส.ส.ใหม่ทั้งหมด

3. ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าจะมาจากสายอาชีพต่างๆ ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องกำหนดตัวเองอยู่ในกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้ชัดเจน และประชาชนควรมีสิทธิ์เลือก ส.ว. 2 แบบ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือ

ใบที่ 1 ที่เป็นตัวแทนในกลุ่มอาชีพของตนเองขึ้นทะเบียนไว้ได้ 1 คน ตัวแทนแต่ละกลุ่มอาชีพก็จะมีกำหนดไว้ว่ากี่คน ซึ่งอาจไม่เท่ากัน ต้องดูลักษณะงานว่ามีคนประกอบอาชีพนั้นจำนวนมากน้อยเท่าไรและมีความสำคัญต่อระดับเศรษฐกิจและความจำเป็นในสังคมอย่างไร

เช่น บางกลุ่มอาชีพอาจมี 3 คน บางกลุ่มอาชีพอาจมี 5 คน หรือบางกลุ่มอาจมีคนเดียว ผู้สมัคร ส.ว.ตัวแทนของกลุ่มอาชีพ ต้องมีสมาชิกอาชีพนั้นลงชื่อรับรองจำนวนหนึ่ง (เช่น 1,000-2,000 คน)

ใบที่ 2 เลือก ส.ว.ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เช่น ด้านความยุติธรรมและกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจและการค้า ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านสังคมและสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ประชาชนเลือกได้คนเดียว ฝ่ายใดก็ได้ คะแนนจะมาจากทั่วประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละฝ่ายจะมีกำหนดไว้ว่าฝ่ายไหนมีจำนวนเท่าใด เช่น ฝ่ายละ 5 คน ที่ได้คะแนนที่ 1 ถึงที่ 5 ก็จะได้เป็น ส.ว.ฝ่ายนั้น (ผู้สมัครต้องมีผู้ลงชื่อรับรอง 1,000-2,000 คน)

ซึ่งจำนวน ส.ว.ทั้งหมดอาจจะมี 2 ส่วน 3 ของจำนวน ส.ส.

 

4 ควรมีการเลือกฝ่ายบริหารโดยประชาชน

ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำแค่เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้บริหารประเทศโดยตรง การสมัครรับเลือกตั้งต้องส่งชื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างๆ อย่างน้อย 12 กระทรวงหลัก เพื่อบอกประชาชนว่านโยบายของพรรคด้านต่างๆ เป็นอย่างไร มีใครเข้ามาบริหารกระทรวงตามนโยบายเหล่านี้

ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสม นายกรัฐมนตรีสามารถตั้งรัฐมนตรีอื่นๆ จากพรรคการเมืองอื่นเข้ามาผสมให้ครบจำนวน เช่น ถ้ามี รมต. 35 คน นายกฯ ก็ตั้งมาอีก 23 คน

กรณีถ้านายกฯ ลาออก ถือว่าออกทั้งคณะ ก็ให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่เฉพาะฝ่ายบริหารเท่านั้น

ถ้ารัฐมนตรีที่ได้รับเลือกเข้ามาออกเกินครึ่งหนึ่ง นายกฯ ก็ต้องลาออกและเลือกตั้งฝ่ายบริหารใหม่เช่นกัน

การไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ หรือนายกรัฐมนตรี สภาสามารถทำได้แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งรัฐสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารรายบุคคลใช้เสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาตัดสิน ถ้าไม่ผ่านก็ต้องลาออกและนายกฯ สามารถตั้งคนใหม่แทนได้

แต่ถ้านายกฯ หรือคณะรัฐบาล หรือ รมต.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้รับความไว้วางใจในสภาหรือถูกนายกฯ ปลดออก หรือลาออก มีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของที่ได้รับเลือกตั้งเป็นฝ่ายบริหาร คณะรัฐบาลต้องลาออกและเลือกตั้งฝ่ายบริหารใหม่

5. เลือกตั้ง…สภายุติธรรม…โดยประชาชน

อำนาจฝ่ายตุลาการในอดีตไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกของประชาชนมาก่อนเลย แต่ถ้าพิจารณาให้ดี มันต้องครอบคลุมทั้งกระบวนการยุติธรรม ที่มีในปัจจุบันคือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ องค์กรอิสระ โดยเฉพาะช่วงหลังมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง อำนาจของฝ่ายตุลาการที่เป็นอำนาจตัดสินใจสูงสุดจึงควรได้รับการยกระดับโดยการเลือกของประชาชนที่จะให้อำนาจในการชี้ถูกผิด จะต้องมีการกำหนดขอบเขตของอำนาจในการตัดสินประเด็นสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง

นโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจหรือปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่ในสังคม แก้ปัญหาทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรม สิ่งใดที่ออกมาเป็นกฎหมายใหม่ ก็ต้องผ่านรัฐสภา

อำนาจสูงสุดแบบนี้ควรมีระดับเป็นสภา ซึ่งอาจเรียกว่า…สภายุติธรรม ที่มีสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งโดยผ่านการกรองคุณสมบัติทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิและความเหมาะสมต่างๆ เมื่อประชาชนเลือกแล้วสภานี้ก็จะมีอำนาจตัดสินปัญหาต่างๆ ได้อย่างเต็มกำลัง แต่องค์ประกอบของสภาก็จะต้องมีผู้รอบรู้ด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาด ไม่ใช่มีเฉพาะทางกฎหมาย จะต้องมีองค์ประกอบอื่นซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปคิดค้นว่าจะมาจากศาลยุติธรรม จากนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ จากทนาย จากตำรวจ จากอัยการ ผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ เพื่อให้เกิดดุลพินิจแห่งความยุติธรรม

สมาชิกแต่ละด้าน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่จะต้องมี 5-15 คน เมื่อรวมกันหลายด้าน ทั้งสภาอาจจะมี 80-100 คน

6. การคัดสรรกรรมการองค์กรอิสระ จะต้องผ่านการรับรองของที่ประชุม มีทั้ง ส.ส. ส.ว. ฝ่ายบริหาร สภายุติธรรม โดยที่ประชุมจะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา สรรหาร่วมขึ้นมาก่อน และนำคนที่มีคุณสมบัติมาให้ที่ประชุมใหญ่เลือกอีกครั้ง

สรุปว่า 88 ปี อำนาจของทุกฝ่ายยังไม่ได้เป็นอำนาจที่เชื่อมโยงจากประชาชนโดยตรง และไม่ได้ทำเพื่อประชาชน ไม่มีมาตรการที่ดีพอที่จะควบคุมบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ให้ประพฤติทุจริต ทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง

การปฏิรูปให้อำนาจทั้ง 3 ฝ่ายมายึดโยงกับประชาชนและให้ประชาชนมีอำนาจควบคุมผู้ใช้อำนาจให้ปฏิบัติการอย่างถูกกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบกระทำโดยด่วน มิฉะนั้นความเลวร้ายจะมีช่องทางขยายไปเรื่อยๆ เหมือนโรคติดต่อ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่