ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

คนจำนวนมากเชื่อว่าประเทศไทยหลังเดือนกรกฎาคมจะมีเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องตกใจ และถึงแม้จะไม่มีใครรู้ชัดๆ จนไม่มีใครพูดตรงๆ ว่าเรื่องใหญ่ที่ว่านั้นคือเรื่องอะไร ความรู้สึกนึกคิดว่าประเทศไทยใกล้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ลอยฟุ้งอยู่ในวงสนทนาที่ไม่เปิดเผยในแทบทุกกลุ่มสังคม

ประเทศมีความเปลี่ยนแปลงได้หลายมิติ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมิติไหนที่ใหญ่จนคนจำนวนมากเชื่อว่าจะเกิดเรื่องเท่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้กระบอกปืนและกองทัพตั้งตัวเองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ปี 2557 จนครบหกปีโดยไม่มีวี่แววว่าเปลี่ยนแปลงได้เลย

เดือนมิถุนายน 2563 คือหนึ่งปีที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อด้วยการเลือกของวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดยตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง แต่ความเชื่อว่าประเทศใกล้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สะท้อนความเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถปกครองประเทศได้ต่อไปอีก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ถูกโจมตีเรื่องทำลายประชาธิปไตย แต่การโจมตีแบบนี้มีตั้งแต่ปี 2557 จนไม่ส่งผลอะไรอีก

ความเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถปกครองประเทศได้มาจากความตระหนักว่าสังคมไม่เชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความขัดแย้งในฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์เองก็สูงขึ้นทุกวัน

นักวิชาการและนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่าโควิด-19 สร้างวิกฤตสุขภาพที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งจะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง นูเรียล รูบินี (Nouriel Roubini) เสนอมโนภาพชวนขนหัวลุกว่าโลกหลังโควิดนิยามง่ายๆ ว่า “ทศวรรษแห่งความถดถอย” ไปอีกสิบปี

คนทั้งโลกเห็นตรงกันว่าโควิดทำให้เศรษฐกิจพัง แต่ขณะที่คนบางกลุ่มเห็นว่าโลกหลังโควิดจะพังแล้วค่อยฟื้นเหมือนตัว U รูบินีเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นว่าโลกหลังโควิดจะฟุบแล้วกระเตื้องอย่างเชื่องช้าเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะพังยาวต่อเหมือนตัว L จากปัญหาหนี้เสียและปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

แม้รูบินีจะเสนอแนวคิดเรื่อง “ทศวรรษแห่งความถดถอย” โดยอ้างอิงสภาพเศรษฐกิจของอเมริกา แต่ปัญหาหลายอย่างที่รูบินีพูดถึงนั้นเป็นปัญหาที่เกิดในทุกสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น สภาพเศรษฐกิจหลังโควิดจะเต็มไปด้วยปัญหาหนี้-การล้มละลาย-โลกแบบ Disruption และโลกาภิวัตน์ที่ถดถอยลง

จริงอยู่ว่าโควิด-19 ไม่ได้สร้างวิกฤตสุขภาพจนคนไทยตายเท่าอเมริกา แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเดินตามรอยอเมริกาจนเกิด “ทศวรรษแห่งความถดถอย” หลายเรื่อง

ตัวอย่างเช่น ภาคเอกชนหนี้ท่วม-ล้มละลาย-ธุรกิจปรับตัวไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบที่เศรษฐกิจโลกมีต่อไทยโดยปริยาย

ไทยเป็นประเทศที่รัฐทำให้เกษตรกรและคนส่วนใหญ่ยากจนขั้นมี “เศรษฐกิจภายใน” เปราะบาง ความอยู่รอดของประเทศจึงขึ้นอยู่กับภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่ถดถอยครั้งใหญ่ในโลกยุคหลังโควิด-19

จน “ทศวรรษแห่งความถดถอย” เป็นปรากฏการณ์โลกที่ครอบคลุมประเทศไทยแน่นอน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ปัญหาหนี้ท่วมและเศรษฐกิจฝืดย่อมทำให้ผู้บริโภคอเมริกาและยุโรปกำลังซื้อลดลง รายได้จากการส่งออกไปสองทวีปจึงต่ำลงด้วย ส่วนการท่องเที่ยวก็ถูกปัญหาโรคระบาดกดดันจนนักท่องเที่ยวลดลงมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงพฤติกรรมท่องเที่ยวที่จะเป็นระยะใกล้มากกว่าระยะไกล

อดีตปลัดกระทรวงการคลังเคยระบุว่า ประเทศไทยทำมาหากินในโลกยุคโลกาภิวัตน์โดยวิธีเกาะกินที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ “เห็บสยาม” แต่โลกหลังโควิด-19 คือโลกที่แต่ละประเทศควบคุมการค้าและการท่องเที่ยวจน “เห็บสยาม” หากินยากจนมีโอกาสเกิด “ทศวรรษแห่งการถดถอย” อย่างแน่นอน

ภาคเอกชนหลายแห่งประเมินว่าไทยยุคหลังโควิด-19 ต้องใช้เวลาสองปีครึ่งกว่าจะกลับไปสู่จุดที่เคยเป็นก่อนโควิดระบาด คำพูดนี้แสดงว่าเราต้องรอถึงสิ้นปี 2565 ถึงจะเห็นเศรษฐกิจประเทศไทยโตเท่ากับช่วงต้นปี 2563 ซึ่งไม่ใช่ช่วงที่ดีนัก เพราะคือการโตแบบ -2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำที่เก่งทั้งในมาตรฐานโลกหรือไทย และหากไม่มีกองทัพเป็นเครื่องมือ คนแบบ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางมีใครจ้างไปเป็นที่ปรึกษาด้วยซ้ำ

ผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งโต 2.9% ในปี 2556 ลดเหลือ -2.2% ในปี 2563 ประจานทุกอย่างแล้วอย่างดี

ขนาดในโลกที่วิกฤตโควิด-19 ยังไม่เกิดจนเศรษฐกิจโลกยังไม่พัง พล.อ.ประยุทธ์ยังทำให้ประเทศไทยเสื่อมทรามได้ขนาดนี้ โลกที่เผชิญวิกฤตโควิด-19 จนเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งความถดถอย” ย่อมเป็นโลกที่คนแบบ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางสร้างความเติบโตให้กับประเทศได้เลย

รองนายกฯ ที่ใกล้จะตกงานอย่างคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อ้างว่าไทยหลังโควิด-19 จะฟื้นเหมือนพญาอินทรี

แต่ด้วยผลงานที่คุณประยุทธ์ทำและคุณสมคิดสานต่อมาหกปี คำพูดทุกอย่างคือคำโม้เพื่อปกปิดความจริงที่ประเทศกลายเป็นคนขี้โรครอความตายเพราะน้ำมือหมอเก๊ซึ่งรักษาไม่เป็นจนคนไข้ไม่มีทางฟื้นเลย

วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนทวีความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล และต่อให้จะเป็นผู้ที่เคยนิยมเผด็จการ การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องใช้สมองที่เสพกัญชาผสมเฮโรอีนจนขาดสติ คนที่ไม่เชื่อมั่นจึงมีจำนวนมากกว่าคนที่เชื่อมั่น และยิ่งนานความเชื่อว่าปีนี้จะมีเรื่องจนรัฐบาลมีอันเป็นไปก็ยิ่งทวีคูณ

พล.อ.ประยุทธ์ตระหนักดีว่าประชาชนเบื่อจนทำทุกทางเพื่อรักษาอำนาจถึงขั้นต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึงเดือนกรกฎาคม ทั้งที่ไทยไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่จะหนึ่งเดือนแล้ว

ยิ่งกว่านั้นคือแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ความไม่เชื่อมั่นโดยทำให้ประชาชนเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์กลับรวบอำนาจมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็น

การยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนา “ระบอบ” ซึ่งแกนนำอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำลังจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และด้วยยุทธศาสตร์สร้างพรรคโดยกำจัดเทคโนแครตอย่างกลุ่มคุณสมคิดและคุณอุตตม สาวนายน “ระบอบประยุทธ์” กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

ที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์จรรโลงอำนาจผ่านเบญจภาคีแห่งการสืบทอดอำนาจอย่างกองทัพ, องค์กรอิสระ, ข้าราชการ, วุฒิสมาชิก และ ส.ส.พลังประชารัฐกับ ส.ส.พรรคเล็กที่ขาใหญ่พลังประชารัฐส่งเสียเลี้ยงดู โดยหากสังเกตให้ดีจะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์จัดอันดับความสำคัญของ ส.ส.ไว้บั้นปลาย

อย่างไรก็ดี ในปฏิบัติการยึดพรรคพลังประชารัฐเป็นของ “ระบอบประยุทธ์” โดยให้ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคโดยไม่สนข้อครหาเรื่อง “พรรคทหาร” อีกต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองกลุ่มถุงเงินและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคและคณะรัฐมนตรีอย่างสมบูรณ์

พล.อ.ประยุทธ์หลังเลือกตั้ง 2562 พยายามสร้างภาพว่าไม่ใช่นักการเมือง รัฐมนตรีบางคนถึงกับไม่มีเบอร์โทร.และไม่เคยคุยส่วนตัวกับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยซ้ำ

การปรับโครงสร้างพลังประชารัฐจึงเป็นสัญลักษณ์ว่า “ระบอบประยุทธ์” ควบแน่นทหารกับ ส.ส.และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเอาไว้อย่างสมบูรณ์

13 นักการเมืองพลังประชารัฐที่เชิญ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคนั้นไม่ใช่คนที่ประชาชนนิยม ซ้ำหลายคนยังเป็นสัญลักษณ์ของ “นักการเมืองยี้” ซึ่งเข้าสู่อำนาจได้เพราะมีเงิน, ใช้เงินสร้างอิทธิพลเหนือ ส.ส.ในสังกัด, เป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หรือหากินผ่านโครงการรับเหมาก่อสร้างต่างๆ นานา

ด้วยการปราศจากหิริโอตตัปปะจนผลักดันให้ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพลังประชารัฐโดยตรง “ระบอบ คสช.” หรือ “ระบอบประยุทธ์” ได้เข้าตาจนถึงจุดที่ต้องเอาใจนักการเมืองสายพันธุ์ที่คนในประเทศรังเกียจที่สุดโดยผลักดันให้คนกลุ่มนี้ทวีความสำคัญขึ้นทั้งในพรรคและในคณะรัฐมนตรี

แม้รายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่จะยังไม่ประกาศเป็นทางการ แต่คนที่มีชื่อว่ามีโอกาสเป็นรัฐมนตรีล้วนเป็นคนที่ประชาชนได้ยินแล้วขนหัวลุก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แก้ความไม่เชื่อมั่นของประชาชนด้วยการตั้งรัฐมนตรีที่เก่งและดี แต่กลับตั้งรัฐมนตรีที่มัวหมอง ถูกมองว่าเป็นนายบ่อนและผู้มีอิทธิพล

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยพูดตั้งแต่ปี 2560 ว่า พล.อ.ประยุทธ์แทบไม่เหลือกองหนุนในสังคม และวิธีจรรโลงอำนาจโดยแบ่งอำนาจให้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจะทำให้กองหนุนประยุทธ์หดหายยิ่งขึ้น เพราะรัฐบาลจะเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นประชาธิปไตย, ความไม่มีประสิทธิภาพ และความไร้คุณธรรม

มาคิอาเวลลี่เคยกล่าวใน The Prince ว่าผู้ปกครองที่ดีต้องมีความเป็นราชสีห์และสุนัขจิ้งจอกพร้อมๆ กัน เพราะจุดเด่นของราชสีห์คือความเกรงขาม จุดเด่นของจิ้งจอกคือความเฉลียวฉลาด ซึ่งเราอาจตีความต่อได้ว่าผู้ปกครองที่แย่ก็ไม่ต่างจากจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ที่ไม่มีทั้งความฉลาดและน่าเกรงขามอีกเลย

การเมืองในปี 2563 จะเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยคนที่เร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุดคือตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่