ศัลยา ประชาชาติ : “แบงก์ชาติ” ถอดบทเรียนปี “40 สกัดเศรษฐกิจทรุดยาว สั่งแบงก์งดจ่ายปันผล-งดซื้อหุ้นคืน

หลายฝ่ายประเมินว่า วิกฤต “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540

ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายการเงิน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็เคยให้มุมมองว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุข ที่มีผลกระทบกว้างไกลไปทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

และถึงแม้ว่าจะควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้ดี แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ทำมาค้าขายทั่วโลก พึ่งพาสัดส่วนการท่องเที่ยวสูงมาก เมื่อสถานการณ์การระบาดในทั่วโลกยังมีแนวโน้มควบคุมไม่ได้ ก็จะกระทบกลับมาที่ระบบเศรษฐกิจไทยด้วย

ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ธปท.จึงพยายามออกมาตรการหลากหลายด้าน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ และผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลหลายเรื่อง ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่เวลานี้สารพัดปัญหารุมเร้า

 

ล่าสุด หลังหกโมงเย็นวันศุกร์ที่ 19 มิถุยายนที่ผ่านมา ธปท.ก็งัด “ยาแรง” ออกมาใช้ ประกาศแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์เสริมสร้างเงินกองทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการให้จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า

โดยระหว่างการจัดทำแผน ธปท.ขอให้แบงก์ “งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล” จากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึง “งดการซื้อหุ้นคืน” เพื่อให้แบงก์รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือสร้างความมั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะยังเข้มแข็งพอในการรับมือกับปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ที่จะปะทุแน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง

เล่นเอาคนในวงการตลาดเงินตลาดทุนอ้าปากค้างไปตามๆ กัน ส่วนใหญ่ประเมินว่า จะกระทบต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์

ซึ่งก็เป็นจริงตามคาด เพราะหลังเปิดทำการวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงยกแผงเฉลี่ยที่ 5.6% โดยเฉพาะหุ้นแบงก์ใหญ่ อย่างธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาหุ้นปรับลงถึง 9.09% ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ลดลง 7.44% และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 6.79%

ส่วนกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนหุ้นปันผล (High Yield Fund) ก็ต้องโยกเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นที่ยังให้เงินปันผลสูงใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งพบว่า เมื่อปิดตลาด ณ วันที่ 22 มิถุนายน มีเงินไหลเข้ากลุ่มพลังงาน กลุ่มอาหาร และกลุ่มค้าปลีกค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านบวกและลบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงขานรับจากสมาคมธนาคารไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย

 

ขณะที่นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อาจกำลังมีปัญหารุนแรงขึ้นมาก ธปท.จึงต้องออกมายอมรับความจริง และเตรียมตั้งรับแต่เนิ่นๆ

สอดคล้องกับมุมมองของนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง ที่ตั้งข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า ประกาศดังกล่าว เป็นสัญญาณว่า ธปท.ได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสีย ว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม นายวิรไทไขข้อข้องใจว่า สิ่งที่ ธปท.ประกาศ เป็นการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร ซึ่งภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากของธนาคารพาณิชย์ก็คือ “ระดับเงินกองทุน” ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และความไม่แน่นอนในอนาคต

ทั้งนี้ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 18.7% ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้หลากหลายมาตรการ

“ในระยะข้างหน้าที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เราไม่ควร “การ์ดตก” ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ “กันชน” ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง” นายวิรไทกล่าว

 

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านการเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ธปท.มุ่งเน้นทำมาตรการป้องกันมากกว่าแก้ไข ถ้ามีการป้องกัน (pre-emptive) ไว้ล่วงหน้า จะเป็นการช่วยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว โดยสิ่งที่ ธปท.ต้องการเห็นต่อจากนี้คือการประเมินเงินกองทุนภายใต้ภาวะโควิด-19 เพื่อจะดูว่าแบงก์มีเงินกองทุนพอรองรับความไม่แน่นอนมากน้อยแค่ไหน

ยิ่งมีเงินกองทุนที่เปรียบเหมือนภูมิคุ้มกัน ยิ่งมีเงินกองทุนมาก ก็เหมือนมีการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันให้สถาบันการเงินมาก ยิ่งทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และรองรับความไม่แน่นอน

“การมีระดับเงินกองทุนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงิน เป็นแนวทางในระยะยาวของสถาบันการเงิน ระดับเงินกองทุนเป็นหัวใจสำคัญในการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ถ้ามีระดับเงินกองทุนมาก ก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย รวมทั้งการป้องกันที่เกิดจากความไม่แน่นอน เช่น การกันสำรองเพิ่มขึ้นจากหนี้ เป็นต้น” นายรณดลกล่าว

ทั้งนี้ นายรณดลมองว่า วิกฤตโควิดต่างจากวิกฤตปี 2540 ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค มีเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ ตลาดอสังหาริมทรัพย์โตเกินระดับเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาดกระจายในวงกว้าง ไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจมหภาค หรือเงินทุนที่มาจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้รับบทเรียนมาจากปี 2540 จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ลุกลามไปจนแก้ไขไม่ได้ โดยจะมีมาตรการเชิงป้องกันเชิงรุก เพื่อไม่ให้เงินกองทุนไปถึงจุดเดียวกับปี 2540 ที่ NPLs ไปถึง 50%

“ปี 2540 ระดับหนี้เสีย (NPLs) เป็น 50% ของสินเชื่อทั้งหมด เพราะว่าขณะนั้นไม่มีมาตรการในเชิงรุก บทเรียนจากตอนนั้น ทำให้เรามีการทำมาตรการป้องกันในเชิงรุก ที่สำคัญคือ ต้องเร่งให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นมาตรการที่ ธปท.ออกมาตั้งแต่ต้นปี คาดว่าจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น การสำรองของสถาบันการเงินก็จะน้อยลง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้” นายรณดลกล่าว

รองผู้ว่าการ ธปท.บอกด้วยว่า ธปท.มีแผนให้สถาบันการเงินทำแผนทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) และประเมินเงินกองทุน ภายใต้โควิด-19 ซึ่งจะออกมาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า NPLs จะอยู่ที่เท่าใด และ BIS ratio จะเป็นเท่าไหร่

โดยสถาบันการเงิน และ ธปท.ต้องทำมาตรการในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

 

สุดท้ายคงต้องฝากความหวังไว้ที่ “ยาแรง” ที่แบงก์ชาติงัดออกมาใช้ โดยถอดบทเรียนจากการใช้มาตรการสู้วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แล้ว

ด้วยความหวังว่า มาตรการตั้งรับแต่เนิ่นๆ ในครั้งนี้จะช่วยให้ “คนไทย-ธุรกิจไทย” ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้

โดยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยทั้งระบบจะประคับประคองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้นั่นเอง

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่