ใครจะตรวจสอบ “องค์กรอิสระ” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

สมชัย ศรีสุทธิยากร

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 12/06/2020


ในวันที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติไม่รับคำร้องเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนของรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งโดยมีเหตุผลว่าเป็น “การยืมคงรูป” ไม่ถือว่าเป็นการได้รับทรัพย์สิน

ในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้พรรคเล็กที่มีคะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ผลพวงจากการคำนวณแบบปัดเศษทำให้มี ส.ส.ในสภาพรรคละ 1 เสียงถึง 11 พรรค ส่งผลต่อการเปลี่ยนดุลทางการเมืองทำให้พรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับสองสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

หรือในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง โดยระบุว่า การที่หัวหน้าพรรคให้กู้ยืมเงินถือเป็นการกระทำความผิดเนื่องจากเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคดังกล่าวต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 11 คน ทำให้จำนวน ส.ส.ในสภาเหลือเพียง 489 คน (เนื่องจากยุบพรรคและไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาแทนที่ได้)

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจแก่ประชาชนจำนวนไม่น้อยว่า การพิจารณา การตัดสิน การวินิจฉัยขององค์กรเหล่านี้ มีอิสระ เที่ยงตรง และเป็นเหตุผลที่สร้างบรรทัดฐานที่ดีทางการเมืองไทยหรือไม่

หรือเป็นการตัดสินที่มีข้อสงสัยว่ามุ่งเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบนพื้นฐานของประโยชน์เกื้อกูล ทำนองข้าตั้งเอ็ง เอ็งตอบแทนข้า หรือไม่

และหากองค์กรเหล่านี้ไม่เที่ยงธรรม ขาดความเป็นกลาง ทำงานไร้ประสิทธิภาพ ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการเมือง ใครเล่าจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบองค์กรเหล่านี้

 

กลไกที่ถูกออกแบบในอดีต

องค์กรอิสระเป็นกลไกการปฏิรูปการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเห็นว่าจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ และมีอำนาจกึ่งตุลาการในการวินิจฉัยตัดสินเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดีขึ้น

แต่ความเป็นอิสระดังกล่าว ยังสามารถตรวจสอบถ่วงดุลและถอดถอนโดยวุฒิสภาได้

ในมาตรา 303-307 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่า หากพบว่าบุคคลในองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย หากวุฒิสภาลงมติด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ก็สามารถถอดถอนจากตำแหน่งได้

โดยต้นเรื่องในการถอดถอน อาจมาจาก ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ สามารถเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภา

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ในมาตรา 270-274 ระบุถึงอำนาจของวุฒิสภาในการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 เช่นกัน

โดยต้นเรื่องในการถอดถอนมาจาก ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 แต่ในส่วนของประชาชนนั้น ในมาตรา 164 ได้ลดจำนวนลงเหลือไม่น้อยกว่า 20,000 ชื่อ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชนมากขึ้น

 

กลไกที่ถูกออกแบบใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับไม่มีบทบัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น กลไกที่ให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 ชื่อ สามารถเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้มีการลงมติถอดถอนบุคคลดังกล่าวก็หายไปด้วย

เป็นการหายแบบเงียบเชียบ ที่เชื่อว่าประชาชนคนไทยที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ก็คงไม่ทันได้รู้ด้วยซ้ำว่าสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเขาในเรื่องนี้ได้ถูกยกออกไป

กลไกที่นำมาแทนที่ในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้มาดำรงตำแหน่งขององค์กรเหล่านี้ให้สูงขึ้น อย่างที่เรียกกันว่า “คุณสมบัติมหาเทพ” เช่น ต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 5 ปี ประกอบอาชีพด้านกฎหมายไม่น้อยกว่า 20 ปี หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นต้น (มาตรา 232 รัฐธรรมนูญ 2560)

หนำซ้ำยังกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสรรหาในระดับ “ซูเปอร์มหาเทพ” คือ ต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับกรรมการองค์กรอิสระเหล่านั้น แถมยังต้องเหนือกว่าตรงที่ขณะทำหน้าที่สรรหาต้องไม่ประกอบอาชีพใดๆ (มาตรา 203 รัฐธรรมนูญ 2560)

ราวกับจะเชื่อไปก่อนแล้วว่า หากกำหนดคุณสมบัติสูงมากเช่นนี้ คนที่ได้มาจะเป็นเพชรที่ผ่านการเจียระไนแล้ว จะมีวิจารณญาณที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง

แต่ลืมคิดไปว่า หากมาแล้วทำงานไม่เป็น ทำงานไม่ได้ ทำงานตามใบสั่ง ทำงานขาดตกบกพร่องด้วยความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ผิดพลาดได้ ไม่ใช่มหาเทพแบบที่คาดหวัง หรือแค่ทำงานเช้าชามเย็นชามไปวันๆ จะเอาเขาออกได้อย่างไร

กลไกส่วนที่สอง ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาคือ หากมีหลักฐานว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็ให้ไปร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ (มาตรา 234 รัฐธรรมนูญ 2560)

จำได้ว่าผู้ร่างคือประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังเคยโอ่ว่า นี่คือข้อดี คือ คนคนเดียวก็ไปร้องที่ ป.ป.ช.ได้เลย โดยไม่ต้องไปเข้าชื่อกันถึง 20,000 คน เพื่อให้วุฒิสภาถอดถอนเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อน โดยมอบหน้าที่ให้กับองค์กรอิสระด้วยกันทำหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัย

หาก ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เห็นว่าผิด ก็ค่อยส่งให้ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วแต่กรณีเพื่อพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งหรือดำเนินคดีทางอาญาต่อไป (มาตรา 235)

 

มหาเทพที่ผลัดกันเกาหลัง

การออกแบบกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาใหม่นี้ ดึงอำนาจของประชาชนในการกำกับตรวจสอบองค์กรอิสระออกไป โดยตัดช่องทางที่ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 ชื่อ สามารถเข้าชื่อกันให้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน

การอ้างว่า ประชาชนคนเดียวก็สามารถยื่นต่อ ป.ป.ช.ได้ ก็อาจนำไปสู่การเกิดคดีมโนสาเร่มากมายที่ร้องเรียนและไม่มีแรงผลักดันเพียงพอให้เกิดการดำเนินการต่อ

หรือในทางตรงข้าม อาจสร้างความยุ่งยากแก่ประชาชนในการทำเรื่องร้องเรียนเพราะเกรงภัยที่จะตามมา กลายเป็นว่าจะมีแค่นักร้องเรียนมืออาชีพเกิดขึ้นเท่านั้น

การให้อำนาจแก่ ป.ป.ช.ในการไต่สวนและลงมติ อาจลืมไปว่า ป.ป.ช.เองก็มีที่มาจากการสรรหาที่มีคณะกรรมการมาจากองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เหลือ (มาตรา 203) เช่นเดียวกับการสรรหาองค์กรอิสระอื่น ก็จะมีตัวแทน ป.ป.ช.เข้าไปทำหน้าที่ เป็นการออกแบบแบบเอ็งเลือกข้า ข้าเลือกเอ็ง ผลัดกันเกาหลังเมื่อคัน

และที่สำคัญ ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.บางท่าน มาจากข้อยกเว้นในเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 202 เรื่องเคยเป็นข้าราชการการเมืองมาก่อนในระยะ 10 ปี (เคยเป็นเลขาฯ ของคนที่ถูกร้องเรื่องยืมนาฬิกา) ก่อนการคัดเลือกหรือสรรหา หรือเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นมาก่อน แล้วเราจะหวังในเรื่องการทำงานให้เป็นไปตามกลไกที่ออกแบบมาได้อย่างไร

เอวังจึงมีด้วยประการฉะนี้