ฉัตรสุมาลย์ : สังฆะกับภิกษุณี

บนเส้นทางของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (11)
ความจำเป็นของสังฆะ

ในการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ไม่เจาะจงเฉพาะในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงภิกษุณีสงฆ์ในประเทศอื่นๆ ด้วย ประเด็นหนึ่งที่นำกลับมาพูดคุยกันเสมอๆ คือความสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังฆะ ภิกษุณีอยู่ไม่รอด ไปไม่เป็น หากไม่มีสังฆะรองรับ

เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า “สังฆะ” กันก่อนนะคะ ลิ้นคนไทยจะออกเสียงว่า “สงฆ์” ตัวสะกดที่เป็นอักษรโรมัน เขียนว่า sangha ตัว n จะมีจุดข้างบน ออกเสียงเช่นเดียวกับ ง gha คือ ฆะ

ในภาษาบาลีนั้น มีเสียงสระอะ เพียงกึ่งหนึ่ง ไม่มีรูปสระอะ การออกเสียง ฆะ เพียงกึ่งหนึ่ง จึงกลายเป็นใส่การันต์ที่ ฆ เลยไม่ออกเสียงเลย

สำหรับผู้ที่ไม่รู้หลักการเขียนบาลีเป็นอักษรโรมัน จะนึกว่า sang คือ “สัง” และออกเสียง ha ที่เหลือว่า “หะ” กลายเป็นสังหะ ซึ่งไม่ใช่

 

โดยทั่วไปเราเข้าใจว่า “สงฆ์” หมายถึงพระภิกษุหรือภิกษุณี 4 รูปขึ้นไป นับเป็นสงฆ์ ที่จริงแล้ว แม้เพียงรูปเดียว คนเดียวก็เป็นสงฆ์ คือเป็นอริยสงฆ์ แม้แต่เป็นฆราวาส ยังไม่ได้บวช แต่บรรลุธรรม ก็เป็นสงฆ์

นอกจากอริยสงฆ์ เราก็มีสมมุติสงฆ์ สงฆ์ที่สมมุติขึ้นด้วยการอุปสมบท สงฆ์ในประการหลังนี้เพราะไม่ใช่อริยสงฆ์ ต้องมีอย่างน้อยที่สุด 4 รูป จึงจะนับว่าเป็นสงฆ์

การที่ออกจากเรือน มาใช้เพศบรรพชิตนั้น หากจิตใจมิได้หน่ายวัฏฏะ แต่อยากบวช เพราะรักตัวกลัวตาย ไม่หน่ายสงสาร ในเส้นทางการบวชนั้น ก็จะกลับเป็นอุปสรรคต่อสังฆะได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ออกบวชแล้วต้องอยู่ในสังฆะ อย่างน้อยที่สุด ตามพระวินัยของพระภิกษุ ต้องถือนิสสัยกับพระอุปัชฌาย์ถึง 5 ปีเป็นอย่างน้อย และในบางกรณียังปล่อยไม่ได้ พระอุปัชฌาย์ก็ยังให้ถือนิสสัยต่อไป

ที่ให้อยู่ในสังฆะนี้ เป็นการอิงอาศัยกัน เฝ้าติติง ช่วยกันพัฒนาให้กล่อมเกลาเข้าสู่หนทางที่จะละคลายทุกข์ให้ถึงที่สุด และเพราะให้อยู่ในสังฆะนี้เอง

พระวินัยก็จะกำหนดว่า ให้สมาชิกสังฆะแต่ละรูปมีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน

 

ปรากฏในปาจิตตีย์ สำหรับของภิกษุณีจะอยู่ในข้อที่ 135 นั่นคือ หากไม่เอื้ออาทรต่อกันปรับอาบัติ คือปรับเป็นความผิดด้วย

ในโครงสร้างของพระวินัยเองก็แสดงว่า มีเจตนาที่จะให้ภิกษุณีอยู่ด้วยกันเป็นสังฆะ สังฆกรรมต่างๆ โดยศัพท์ก็ระบุอยู่แล้วว่า เป็นการกระทำโดยสังฆะ อย่างน้อยที่สุด เริ่มต้นจาก 4 รูป เช่น การสวดปาฏิโมกข์ คือการทำพิธีของสังฆะที่สวดทบทวนสิกขา ถ้าเป็นของภิกษุณีก็ 311 ข้อที่ต้องรักษา การสวดปาฏิโมกข์นี้ จะทำเดือนละสองครั้ง ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 หรือ 14 ค่ำในเดือนขาด

ภิกษุณีสงฆ์ต้องอิงอาศัยภิกษุผู้ชาญฉลาดที่มีอายุพรรษาไม่ต่ำกว่า 20 ที่จะให้โอวาทก่อนที่จะสวดปาฏิโมกข์

ภิกษุณีที่อยู่กันไม่ครบเป็นองค์สงฆ์มักเลือกที่จะไปสมทบกับภิกษุณีสงฆ์ที่อารามอื่น เพื่อแสดงความเคารพในพระวินัยที่กำหนดให้ครบองค์สงฆ์

ในการที่จะรับผ้ากฐินตอนที่ออกพรรษาแล้ว ก็มีเงื่อนไขตามพระวินัยว่า ภิกษุณีต้องอยู่จำพรรษาด้วยกันอย่างน้อย 4 รูปจึงจะรับกฐินได้

เงื่อนไขทางพระวินัยสำหรับสังฆกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวบ่งชี้ว่า ภิกษุณีควรอยู่กันเป็นสังฆะทั้งสิ้น

 

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม ท่านธัมมนันทาท่านมักจะยกตัวอย่างสอนลูกศิษย์ของท่านว่า สมาชิกของสังฆะแต่ละรูปนั้น เปรียบเสมือนหัวมันฝรั่งที่เพิ่งเก็บมาจากไร่ ซึ่งยังเปื้อนดินอยู่ นำมาใส่กระป๋อง จำกัดบริเวณ จำกัดพื้นที่ ซึ่งก็คืออารามที่อยู่ด้วยกัน ใส่น้ำ คือพระวินัยที่จะทำความสะอาดบรรดาหัวมันเหล่านั้น ครูบาอาจารย์คือไม้ที่คอยกวนให้หัวมันฝรั่งเกลี้ยงเกลาจากขี้ดินที่ติดมา

มันฝรั่งที่กลิ้งขลุกๆ อยู่ในกระป๋อง เสียดสีกันโดยธรรมชาติ การเสียดสีกัน กระทบกระทั่งกัน เป็นธรรมดาของการที่อยู่ด้วยกัน และหากเข้าใจในการขัดสีฉวีวรรณซึ่งกันและกันว่าเป้าหมายคือให้มันฝรั่งแต่ละลูกสะอาด สมาชิกสังฆะแต่ละรูปเข้าเนื้อกับพระธรรมวินัย เมื่อเสร็จกระบวนการ เทออกมา มันฝรั่งนอกจากจะสะอาดแล้วยังจะกลมกล่อม เพราะการขัดสีซึ่งกันและกันนั่นเอง

เป้าหมายสุดท้ายคือ การละคลายจากกิเลสอันเป็นเหตุที่ผูกมัดเราให้ข้องอยู่ในสังสารวัฏนั่นเอง

หากเป้าหมายชัดเจนเช่นนี้ ตลอดเวลาของการขัดเกลา เจ้าตัวจะรู้เป้าหมายก็จะประคองตนไปในแนวทางนี้ได้

แต่หากเป้าหมายของการออกบวชไม่ชัดเจน ก็จะเห็นว่าการขัดเกลาเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ เพราะช่วงของการขัดเกลานั้น ถ้ามาด้วยความยึดมั่นมาก การขัดเกลาก็จะเจ็บมาก วิถีชีวิตในสังฆะก็ยิ่งจะลำบากมากขึ้นไปตามลำดับ

 

ความยึดมั่นถือมั่นในตนนี้ หากยิ่งตอนที่เป็นฆราวาสประสบความสำเร็จในชีวิตมาก การเป็นสมาชิกสังฆะยิ่งยาก เพราะเมื่อแรกเริ่มของการเข้าสู่สังฆะ เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ปลายแถวที่เริ่มมาตั้งแต่เณรนั้น คนที่เคยเป็นใหญ่มาทางโลกจะอึดอัดมาก เริ่มต้นแม้เพียงการให้เคารพในสังฆะโดยการกราบไหว้ ก็ยากไปหมด เพราะยังแบกเอาหัวโขนมาด้วย

การเข้าสู่สังฆะที่ยากที่สุด คือกระบวนการตรงนี้ ปรับจากความเป็นฆราวาสที่มีทุกสิ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาเป็นสมาชิกตัวเล็กๆ หางแถว ถ้าไม่ได้ตั้งใจที่จะละคลายความยึดมั่นในตนจะไม่สนุกจริงๆ

เพราะฉะนั้น ตอนที่ขออุปสมบท พระอุปัชฌาย์จึงเตือนว่า ที่เธอขอบวชนี้ เธอต้องเปลี่ยนแปลงนะ

พระอุปัชฌาย์ท่านจะกล่าวว่า “ปฏิรูปัง” คือต้องปฏิรูปตัวเองนะ ประมาณนั้น

ผู้ขอบวชก็จะน้อมรับคำ

แต่เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของสังฆะจริงๆ มันไม่ง่ายเหมือนว่า

การเป็นสมาชิกสังฆะที่จะอยู่ให้ผาสุกอย่างแท้จริง จึงต้องมีการปฏิบัติธรรมทุกลมหายใจทีเดียว

 

ท่านธัมมนันทาเองเคยให้สัมภาษณ์สื่อทั้งนานาชาติและภาษาไทย เวลาที่ถูกถามถึงปัญหาอุปสรรคที่ท่านเห็นว่าสำคัญที่สุดในชีวิตของการออกบวช

ท่านถามตรงตอบตรงว่า อุปสรรคสำคัญคือตัวท่านเอง อุปสรรคในการดำเนินชีวิตเป็นศากยธิดา คือลูกสาวของพระตถาคตนั้น คือ การเพียรปฏิบัติที่ตนเอง และการเพียรยังไม่พอ ท่านจึงตอบว่า ท่านเห็นตัวเองนั่นแหละคือ อุปสรรค

ในสองปีแรกที่บรรพชากลับเข้ามาจากศรีลังกานั้น ถูกโจมตีมาก แต่ด้วยความที่มีพื้นฐานของนักวิชาการที่มั่นคง ท่านกลับมาพิจารณาว่า โธ่เอ๋ย คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้น หาได้มีความรู้ในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงไม่ ส่วนใหญ่อ้างพระธรรมวินัย แต่ไม่รู้ว่า ข้อไหน หน้าไหน และมักจะมีอคติส่วนตนเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลัง

ท่านพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่พูดลับหลัง มีค่าเท่ากับไม่ได้พูด ก็ไม่ควรเสียพลังในการอธิบาย

แม้ในช่วงแรกของการออกบวชจะไม่ได้เป็นสงฆ์ ท่านอุปสมบทเป็นภิกษุณี พ.ศ.2546 และที่อารามของท่านมีสงฆ์ครบสี่รูปสามารถสวดปาฏิโมกข์กันเองได้ ก็เข้า พ.ศ.2554 นับว่าต้องรออยู่นานถึง ๘ ปี

แต่ในช่วงนั้น ท่านมีพระภิกษุผู้ใหญ่ที่มีเมตตา นอกจากจะสั่งสอนแล้ว ยังมาเยี่ยมเยียนตลอดจนมอบปัจจัยไว้ให้ดูแลตนเองด้วย

 

เมื่อภิกษุณีไทยเติบโตขึ้นอยู่กันเป็นสังฆะจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และพึงสนับสนุนประคับประคองให้ภิกษุณีสงฆ์ได้ตั้งมั่น เป็นกำลังของพระศาสนาในประเทศไทย

คุณภาพของภิกษุณีไทย นอกจากจะขึ้นอยู่กับการพัฒนาในส่วนตนของแต่ละรูปแล้ว อุบาสก อุบาสิกาบริษัทจะเป็นกำลังที่สำคัญไม่เฉพาะที่จะให้การสนับสนุน แต่ต้องเป็นการสนับสนุนที่มีปัญญา สนับสนุนในทางที่ควรตามธรรม เช่นนี้ ฆราวาสก็จะได้ทำหน้าที่ในการรักษาพระศาสนาโดยการช่วยคัดกรองคุณภาพของสงฆ์ไปด้วยในตัว ไม่ใช่ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์

พระศาสนาจะตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่ใช่ลำพังพระภิกษุสงฆ์ หรือภิกษุณีสงฆ์ แต่หมายรวมพุทธบริษัททั้งสี่ อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทด้วย

นี้คือความรับผิดชอบของเราชาวพุทธทุกคนที่พึงมีต่อพระศาสนา

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่