อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การเมืองไทยวิถีใหม่หรือ?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองเวลานี้ การเมืองไทยมีแต่วิถีเก่าซึ่งบางคนขนานนามว่า การเมืองน้ำเน่า

เช่น คลื่นใต้น้ำเพื่อเปลี่ยนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ดูไปแล้วเหมือนละครการเมืองที่เล่นกันรุนแรงและชัดเจน เห็นถึงความเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะพรรคนี้เป็นเพียงที่รวมของนักการเมืองฝ่ายต่างๆ ในรัฐบาลก่อนๆ ทั้งรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือสืบสานมาจากพรรคพวกของลุงกำนันในขบวนการนกหวีดและ กปปส.

เป้าหมายของนักการเมืองก็ชัดเจนเหมือนนักการเมืองทั่วไปคือ มุ่งเพื่อผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในการเมืองไทยวิถีเก่านี้มีประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ควบคู่ไปด้วย จึงจะเห็นภาพรวมและภาพที่เคลื่อนไหวอยู่

 

โครงสร้างการเมืองไทย

เราไม่ควรมองข้ามโครงสร้างการเมืองไทยปัจจุบันและอนาคตอันเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกอบสร้างการเมืองไทยเป็น 3 องคาพยพที่ยึดโยงและขับเคลื่อนการเมืองไทยได้แก่

ก) ข้าราชการและทหาร ที่ยังคงยึดกุมอำนาจและความมั่งคั่ง (wealth) ในสังคมไทยโดยเผชิญหน้าพลังของระเบียบอำนาจ (New order) เสรีนิยมใหม่ที่กลุ่มธุรกิจใหม่บางกลุ่มได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและจำเป็นต้องเข้ามารักษาผลประโยชน์ในนโยบายสาธารณะนั้นๆ

การยึดพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2560 ของข้าราชการและทหารเป็นความพยายามในโอกาสสุดท้ายแต่ก็เผยตัวตนแห่งผลประโยชน์ออกมา

ข) นักการเมืองท้องถิ่นที่กลับเข้าสู่วงจรการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งพร้อมด้วยการเปลี่ยนรุ่นจากผู้ก่อตั้งพรรครุ่นพ่อ-แม่มาเป็นคนรุ่นเยาว์ที่มีการศึกษา

แต่พวกเขายังชำนาญการเมืองแบบเดิมๆ ในรูปแบบของโควต้าของกระเป๋าพรรคมากกว่าการเมืองเรื่องนโยบาย

พยายามเข้าถึงอำนาจและความมั่งคั่งโดยเส้นสายสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งไม่ง่ายเพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่เชี่ยวชาญเกมทางรัฐสภา

ค) กลุ่มทุนผูกขาดซึ่งได้รับอานิสงส์จากการรัฐประหาร 2014 และการบริหารประเทศในโครงการขนาดใหญ่ กลุ่มทุนผูกขาดทุกฝ่ายเพิ่มทั้งทุนและกระจาย (diversify) ธุรกิจไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รีเทล กาแฟและขนม ดิจิตอลโทรคมนาคม เป็นต้น

โครงสร้างและพลังขับเคลื่อนทั้งสามส่วนนี้เคลื่อนไหวและขับเคลื่อนการเมืองไทยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 อย่างไร

 

พลังข้าราชการและทหาร

เราไม่ควรลืมเลยว่า กลุ่มอำนาจ 3 ป.ได้ครองอำนาจจากการรัฐประหาร 2014 นั่นหมายความว่าพวกเขาครองอำนาจมา 6 ปีแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าพวกเขามีทั้งอำนาจการเมืองสูงสุดและมีประสบการณ์ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมิได้ขาดเลย

ด้วยเหตุนี้นักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์ว่า แกนนำนี้มีระยะเวลาครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีนานกว่า ทักษิณ ชินวัตร และน่ากลัวครองอำนาจนานกว่าจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ทว่าในความเป็นจริง แกนนำ 3 ป.นี้ครองอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหาร 2006 ซึ่งแม้หัวหน้ารัฐประหารคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ตาม แต่จริงๆ แล้วผู้ทำรัฐประหารแท้จริงคือ แกนนำ 3 ป.นั่นเอง เท่ากับว่าพวกเขาครองอำนาจมานานถึง 14 ปีนั่นเอง

อาจมองว่า พวกเขาหน่อมแน้ม (ซึ่งก็จริง) แต่พวกเขาใช้ทั้งประสบการณ์และแปลงสถานการณ์เอาตัวรอดมาตลอดทั้งจากยึดอำนาจคืนจาก พล.อ.สนธิผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 2010 ผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ และยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2014 เผชิญกับโรคระบาดใหญ่โควิด-19

ผมไม่ได้ชื่นชมประสบการณ์และเส้นทางแห่งอำนาจของพวกเขา ทว่าระยะทางและขวากหนามทั้งหมดแสดงว่า เป็นไปไม่ได้เลยว่า พวกเขาจะลงจากอำนาจ ไม่เช่นนั้น พวกเขาจะไม่ตั้งวุฒิสมาชิกให้รองรับอำนาจเขาอย่างน้อย 5 ปี แล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากหมุดหมายทางการเมืองของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ปี 2563 มีความพิเศษตรงที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งสามเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเกษียณอายุราชการพร้อมกัน

ตรงนี้นับเป็นจุดหักเหสำคัญต่อพวกเขาก็ได้ ทว่าจะมีใครเข้าใจเส้นสนกลในของว่าที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพมากกว่ากลุ่ม 3 ป.อีกเล่า

 

นักการเมืองท้องถิ่น

แน่นอนการเมืองไทยพัฒนามาโดยขาดนักการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ทั้งในแง่ของพรรคการเมือง การกระจายอำนาจและนโยบายสาธารณะแล้ว

ดังนั้น เราจึงเห็นการต่อรองทางการเมืองด้วยความคิดและผลประโยชน์ทางการเมืองแบบเดิมๆ เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งในพรรครัฐบาลและโควต้าการเมืองต่างๆ

เพียงแต่ว่า พรรคพลังประชารัฐมิได้เป็นพรรคการเมืองในความหมายของอุดมการณ์และการสร้างพรรคการเมือง แต่เป็นเพียงที่รวบรวมนักการเมืองจากระบอบทักษิณและฝ่ายต่อต้านทักษิณเข้ามาไว้ด้วยกัน

ดังนั้น เราจึงเห็นนักการเมืองใหม่ที่เพิ่งเข้ามาร่วมพรรคพลังประชารัฐ เช่น กลุ่ม กปปส.เดิมต่อรองทางการเมืองไม่ต่างอะไรกับกลุ่มสามมิตร

เราเห็นนักการเมืองที่นิยมเป็นนักร้อง เซเลบทางการเมืองด่าทอและเผชิญหน้ากันเพื่อเป็นดาราสร้างกระแสในสื่อโซเชี่ยลมากกว่าการผลักดันนโยบาย

โชคร้ายสำหรับการเมืองไทยที่ประชาธิปไตยก่อเกิดมาตั้ง 88 ปีนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นักการเมืองไทยพัฒนาได้แค่ใช้สื่อโซเชียล แต่เนื้อหาทางการเมืองช่างน้ำเน่าและด้อยพัฒนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐสภาและพรรคการเมืองเป็นเช่นนี้ ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้นำเยี่ยงกลุ่ม 3 ป.ไม่ใช่หรือ พรรคการเมืองและรัฐสภาไม่ได้ผลิตนักการเมืองที่หลุดจากกรอบการเมืองวิถีเก่าเลย

 

กลุ่มทุนผูกขาด
และนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง

จริงอยู่กลุ่มทุนผูกขาดได้เผชิญกับโรคระบาดใหญ่โควิดที่เข้ามาทำลายเผาผลาญเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม การขนส่ง และภาคการส่งออก โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับ ห่วงโซ่ซัพพลายโลก (Global Supply Chain)

ทว่ากลุ่มธุรกิจด้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อและดิจิตอลโทรคมนาคมได้รับประโยชน์จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจนี้ยังมีความน่าสนใจตรงที่ว่า ในช่วงการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Landscape) กลุ่มธุรกิจที่ยังมีความสามารถทางการเงินได้เข้าซื้อกิจการที่อาจขาดสภาพคล่องหรือเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรม กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงพยาบาล หรือแม้แต่กลุ่มค้าปลีกรายเล็กก็ตกอยู่ในเป้าหมายการซื้อกิจการ

กลุ่มดิจิตอลโทรคมนาคมได้อานิสงส์ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคผลักดันให้กิจการดิจิตอลโทรคมนาคมมีรายได้สูงขึ้นในภาวะวิกฤตโควิด

พร้อมกันนั้น กลุ่มธุรกิจนี้ได้เร่งผลักดัน ดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) เพื่อให้กลุ่มธุรกิจของตนเป็น ศูนย์กลาง ดิจิตอลเทคโนโลยี ของทั้งประเทศและภูมิภาค

ทั้งนี้ น่าสนใจว่า รัฐบาลประยุทธ์ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มธุรกิจนี้ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการระดับชาติหลายชุด

ซึ่งกลุ่มธุรกิจดังกล่าวก็มีโอกาสผลักดันนโยบายและได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายระดับชาติและภูมิภาคของรัฐบาล

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลประยุทธ์ก็ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองให้บริหารประเทศ

ความร่วมมือทางการเมืองทั้งเชิงนโยบายและการสนับสนุนระหว่างรัฐกับกลุ่มธุรกิจนี้ในสังคมการเมืองไทยนับเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองชิ้นใหม่ที่น่าสนใจมาก

และอาจเป็นเงื่อนไขทางการเมืองสำคัญให้กลุ่ม 3 ป. ยังคงเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป

ในเวลาเดียวกัน เรายังต้องพิจารณาปฎิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลประยุทธ์กับกลุ่มพลังอื่นๆ ในสังคมไทย เช่น พลังประเพณี ผู้นำรุ่นใหม่ในกองทัพ คนรุ่นใหม่ พลังโซเชียลและความคิดเห็นทางการเมืองของพวกเขา ทั้งหมดนี้จะมีส่วนให้เห็นความนิยมทางการเมืองของภาคประชาชนต่อกลุ่ม 3 ป.อีกด้วย

นี่คือ การเมืองไทยวิถีเก่าปะปนวิถีใหม่

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่