เศรษฐกิจ / รัฐจัดหนักเข็น 3 แพ็กเกจกระตุ้นเที่ยวไทย ตอบโจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ… เอกชนข้องใจทำได้จริงหรือ?

เศรษฐกิจ

 

รัฐจัดหนักเข็น 3 แพ็กเกจกระตุ้นเที่ยวไทย

ตอบโจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ…

เอกชนข้องใจทำได้จริงหรือ?

 

ภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะปรับขึ้นหรือลงตามภาวะเศรษฐกิจ และเหตุการณ์กระทบเฉพาะตัวบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีครั้งใดที่ท่องเที่ยวไทยต้องเจอศึกหนักเหมือนครั้งนี้ เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ไม่มีการเดินทางทั้งตลาดต่างชาติและตลาดไทยเที่ยวไทย ทุกคนพร้อมใจกันอยู่บ้านให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถควบคุมไวรัสให้ได้ก่อน

ทำให้ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก จึงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมในภาคการท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ที่สายป่านทางการเงินไม่ได้มียาวเทียบเท่ารายใหญ่ แรงกระแทกของโควิด-19 จึงรุนแรงมากเป็นพิเศษ

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเป็นศูนย์ ไม่มีแม้แต่คนเดียว! หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือนเดียวกัน ก็แทบไม่เคลื่อนไหว ไร้การเดินทางเช่นกัน

 

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเป็นศูนย์ การหวังพึ่งพารายได้จากต่างชาติก็เลือนรางเสียเหลือเกิน ภาครัฐจึงหันมาเน้นทำการตลาด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ดึงดูดให้ตลาดไทยเที่ยวไทยออกเดินทาง และเกิดการใช้จ่ายในระหว่างการเดินทาง ซึ่งจะเป็นส่วนสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้

ความหวังใหม่และความหวังเดียวที่เหลืออยู่ ตกที่การท่องเที่ยวกันเองในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงจัดหนัก ออกแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศรวดเดียว 3 แพ็กเกจ ได้แก่ 1.แพ็กเกจกำลังใจ 2.แพ็กเกจเที่ยวปันสุข และ 3.แพ็กเกจเราไปเที่ยวกัน

ซึ่งทั้ง 3 แพ็กเกจที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังน่าจะมีผลทางจิตวิทยากระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการใช้จ่ายในสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลทางบวกเพิ่มเติมต่อทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยประเมินว่า ผลของมาตรการภาครัฐ น่าจะทำให้คนไทยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสร้างเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดไทยเที่ยวไทยอีกประมาณ 41,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการ

แต่เนื่องจากกำลังซื้อที่เปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจ จึงคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดจะยังไม่สามารถพลิกมาเป็นบวก และทำให้ทั้งปี 2563 คนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4% ถึงหดตัว 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 545,000-567,000 ล้านบาท

หรือหดตัว 49.5% ถึงหดตัว 47.5% จากปี 2562

 

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือทีเอ็มบี อนาลิติกส์ คาด “ไทยเที่ยวไทย” มีแนวโน้มดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพราะมีแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา สวนทางกับไทยเที่ยวนอกที่ยังคงมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19

โดยหากสามารถดึงให้ไทยเที่ยวนอกมาเที่ยวไทยแทนได้ จะช่วยชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 79%

ในช่วงปี 2562 มีกลุ่มไทยเที่ยวนอกที่นำเงินไปใช้จ่ายในต่างประเทศประมาณ 4.4 แสนล้านบาท หากรวมเม็ดเงินที่คนไทยใช้ท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1.52 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินก้อนสำคัญที่สามารถนำไปชดเชยรายได้จากท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวอย่างรุนแรง ในช่วงครึ่งแรกของปีได้

แม้จะมีแพ็กเกจกระตุ้นเที่ยวในประเทศเต็มสูบขนาดไหน แต่ภาคเอกชนก็ยังมองว่าการท่องเที่ยวไทยปีนี้ คงยังฟื้นตัวได้ยาก หากไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพราะลำพังจะหวังพึ่งพารายได้จากตลาดในประเทศขาเดียวคงทำได้ยาก เนื่องจากสัดส่วนการใช้จ่ายระหว่างคนไทยและต่างชาติ มีช่องว่างค่อนข้างมาก

รวมถึงยังกังวลด้วยว่าแพ็กเกจที่ออกมาจะไม่สามารถกระจายผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่แบบที่ควรจะเป็น

 

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า ปัญหาคือ ปลายทางของการกระตุ้น ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใคร

เนื่องจากความจริงแล้ว ภาคเอกชนเรียกร้องให้การจัดทำแพ็กเกจต้องผ่านผู้ประกอบการทัวร์นำเที่ยว และใช้บริการรถทัวร์นำเที่ยว เพราะมีจำนวนหลายหมื่นคันกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมา ทัวร์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดบริการกว่า 6 เดือนแล้ว เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จนเกิดการว่างงานของพนักงานขับรถ และไกด์นำเที่ยว

จึงอยากให้แพ็กเกจท่องเที่ยวที่กำลังจะออกมา เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นหลัก โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการขนาดเล็กจริงๆ เนื่องจากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจส่วนมากเป็นเอสเอ็มอี

การกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทย ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่การเร่งเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดต้อนรับต่างชาติให้กลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยควบคู่ไปด้วย ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากตลาดไทยเที่ยวไทย อย่างมากก็เดินทางท่องเที่ยวกันแค่วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เท่านั้น ส่วนวันธรรมดา จันทร์ถึงพฤหัสบดี มักจะไม่เกิดการเดินทางมากนัก เพราะเป็นช่วงวันทำงานปกติ ทำให้ไทยไม่สามารถเลิกพึ่งพารายได้จากต่างชาติได้

รวมถึงสัดส่วนการใช้จ่ายของต่างชาติมีมากกว่าไทยหลายเท่า

อาทิ นักท่องเที่ยวจีนจะใช้จ่ายวันละ 50,000 บาทต่อคนในการเดินทางมาเที่ยวไทย แต่คนไทยใช้ไม่ถึงวันละ 1,000 บาทต่อคน

 

ด้านศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) มองว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยยังมีคนที่มีกำลังซื้อและสามารถใช้จ่ายอยู่มาก โดยเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางขึ้นไป หรือคนที่ยังมีเงินเดือนมีรายรับอยู่

กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะต้องการอยากออกเที่ยวอยู่แล้ว ทำให้แพ็กเกจที่ออกมาต้องตอบโจทย์กลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เดินทางให้มากที่สุด ซึ่งจะเกิดเม็ดเงินที่ใช้จ่ายผ่านการเดินทางท่องเที่ยวหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

โดยตัว 3 แพ็กเกจที่ออกมา มองว่าคงสามารถพยุงและเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโรงแรมได้ไม่มากก็น้อย แต่อยากให้ผลประโยชน์เหล่านั้นกระจายไปในทุกภาคส่วนของประเทศ เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบกับคนทั้งประเทศ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

คงต้องจับตาดูต่อว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านไป ให้บทเรียนอะไรกับภาคการท่องเที่ยวไทยบ้าง

แล้วต่อจากนี้ ทิศทางข้างหน้าจะชัดเจนขึ้น

      หรือท่องเที่ยวไทยจะยังวนเวียนอยู่ที่เดิม!

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่