กรองกระแส / ชะตากรรม เหยื่อ จาก ปรีดิยาธร ถึง สมคิด บทเรียน การเมือง

กรองกระแส

 

ชะตากรรม เหยื่อ

จาก ปรีดิยาธร ถึง สมคิด

บทเรียน การเมือง

 

ชะตากรรมในทางการเมืองอันกำลังเกิดขึ้นกับนายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่เรียกว่า “กลุ่ม 4 กุมาร”

กำลังเป็นบทเรียนสำคัญและแหลมคม

สำคัญเพราะว่าเกิดขึ้นกับบรรดา “เทคโนแครต” ที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แหลมคมเพราะว่าถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างทารุณ

ในท่ามกลางการต่อสู้และแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

ทำให้นึกถึงสำนวนไทยแต่โบราณที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” อันประสานสอดคล้องกับสำนวนจีนที่ว่า “นกสิ้น เกาทัณฑ์ซ่อน”

ยิ่งศพของ “กลุ่ม 4 กุมาร” ยับเยินเพียงใด ยิ่งก่อความสยดสยอง

การไม่เชิญให้ไปปรากฏตัว ณ สำนักงานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ อาจถือว่าเป็นความเมตตาอย่างยิ่งแล้ว แต่สังคมก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะยังมีความเมตตาอะไรเหลืออยู่

ในเมื่อทั้งหมดล้วนเป็น “เหยื่อ”

 

เสร็จนาฆ่าโคถึก

เสร็จศึกฆ่าขุนพล

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่านายอุตตม สาวนายน ไม่ว่านายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ว่านายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่ว่านายกอบศักดิ์ ภูตระกูล มาตามคำเชิญ

เป็นคำเชิญของ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มาเพราะว่าการบริหารเศรษฐกิจในชุดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ คสช.กำหนดเอาไว้จึงต้องปรับเปลี่ยน

ดึงตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาแทน

และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ดึงนายอุตตม สาวนายน ดึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดึงนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ดึงนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เข้ามา

รับใช้จากเดือนสิงหาคม 2558 จนตราบเท่าทุกวันนี้

แม้เมื่อ คสช.ต้องการจะสืบทอดอำนาจและจัดตั้งพรรคการเมือง คนเหล่านี้ก็ได้รับมอบหมายให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้า รองหัวหน้า เลขาธิการและโฆษกพรรค

แต่ยังไม่ทันเสร็จการ โคถึกก็ถูกฆ่า ขุนศึกก็ถูกปลด

 

จากปรีดิยาธร

มาถึงสมคิด

ไม่ว่าเมื่อมองจากกรณีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ไม่ว่าเมื่อมองจากกรณีของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในเดือนมิถุนายน 2563

ชะตากรรมแทบไม่แตกต่างกัน

การปลด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะ ตีความอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากเห็นว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะ ล้มเหลว

จึงจำเป็นต้องหา “เหยื่อ” ในทางการเมือง

การปลดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อันเริ่มมีสัญญาณอย่างเด่นชัด

ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากเห็นว่าล้มเหลว

หากไม่ล้มเหลวจะปลดออกจากหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคหรือ หากไม่ล้มเหลวจะปรับออกจากตำแหน่งใน ครม.หรือ

ในที่สุด ก็เดินไปบนหนทางแห่ง “เหยื่อ” ทางการเมือง

 

หนทาง 2 แพร่ง

รัฐบาลประยุทธ์

เหมือนกับการบริหารจัดการตำแหน่งภายในพรรคพลังประชารัฐเป็นเรื่องธรรมดาในทางการเมือง เหมือนกับการบริหารจัดการตำแหน่งภายใน ครม.เป็นเรื่องธรรมดาในทางการเมือง

แต่กล่าวสำหรับกรณีของ คสช.มีลักษณะซับซ้อนมากยิ่งกว่า

ซับซ้อนเพราะไม่ว่ากรณีปลด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะ กรณีจะปลดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และคณะ เท่ากับเป็นการยอมรับ

ยอมรับความล้มเหลวในการบริหารจัดการ “เศรษฐกิจ” ของประเทศ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อบุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งเข้าไปรับผิดชอบในการขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐอันเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ก็เท่ากับยอมรับในความล้มเหลวในการบริหารจัด “การเมือง” ของตน

หากนายอุตตม สาวนายน ไม่ล้มเหลว มีความจำเป็นอะไรต้องผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปแทนที่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ในที่สุดแล้วก็คือ ความล้มเหลวทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

บทเรียนการเมือง

บทเรียนของเหยื่อ

ไม่ว่าการปลด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่าการปลดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม้ว่า 2 คนนี้จะตกอยู่ในสถานะอันเป็น “เหยื่อ” ในทางการเมือง

แต่เหยื่อระดับนี้ก็ได้รับแรงกระแทกจาก “คสช.”

จากยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาสู่ยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความเข้มในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมืองยิ่งมากเป็นทวีคูณ

ทุกคำถามจะรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่