คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ธรรมาจารย์เรจินัลด์ เรย์ กับพุทธธรรมแห่งความเป็นมนุษย์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในวีกนี้ผมตั้งใจไว้ว่าจะเขียนบทความชื่อ “ถ้าโควิด-19 เกิดในยุคพระเวท?” ซึ่งเป็นหัวข้อเสวนาที่กลุ่มกิจกรรมวัฒนธรรมภารตะ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรชวนผมไปร่วมคุยกับท่านอาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี ในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นการทบทวนและตระเตรียมประเด็นก่อนไปพูดจริง

ทว่าพอเริ่มต้นเขียนบทความ ผมต้องหยุดเพื่อเข้าร่วม “สังฆะออนไลน์” หรือชุมชนของผู้ปฏิบัติซึ่งมิอาจไปรวมตัวกันจริงๆ ได้ ด้วยภาวะด้านโรคระบาดและปัญหาเรื่องระยะทาง จึงต้องเจอกันบนจอโดยใช้อินเตอร์เน็ตแทน

สังฆะออนไลน์นี้ เป็นกิจกรรมของ “สังฆะวัชรปัญญา” ซึ่งมีผู้นำคือวิจักขณ์ พานิช และมีผองเพื่อนในนั้นราวๆ สามสิบคน

เรานั่งร่วมกันในความสงบเงียบ เราพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ระยะหลังๆ วิจักขณ์เริ่มนำเสนอความเป็นมาของ “สายธรรมปฏิบัติ” ที่เขาได้รับคำสอนมาจากโลกตะวัน

ชวนให้พวกเราทำความรู้จักกับคุรุต้นสายธรรมคือ เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช (ที่จริงสายธรรมนี้ย้อนไปได้ถึงมหาสิทธาติโลปะในอินเดียโบราณ) และเรจินัลด์ เรย์ (Reginald A. Ray) หรือ “เรจจี้” ศิษย์รุ่นแรกของตรุงปะ ผู้เป็นปฐมคุรุหรือครูต้นของเขา

จะบังเอิญหรือด้วยพรแห่งคุรุก็ตามแต่ สมาชิกท่านหนึ่งของสังฆะคือพี่อุษณีย์ ผู้ไปร่ำเรียนกับเรจจี้ได้ชวนให้ท่านมาพบสมาชิกในสังฆะออนไลน์นี้ โดยที่ผมไม่ทราบมาก่อน

นั่นทำให้ผมตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก

 

คิดดูสิครับ ชายคนหนึ่งซึ่งมีรูปถ่ายปรากฏในแท่นบูชาของศูนย์ปฏิบัติ ชายคนเดียวกันนั้นถูกพูดถึงครั้งแล้วครั้งเล่าจากศิษย์ เป็นธรรมาจารย์ชาวตะวันตกรุ่นบุกเบิกที่สำคัญ และสังฆะออนไลน์เพิ่งมีบทเรียนเกี่ยวกับชีวิตและแนวทางการสอนของท่านไปในคราวที่แล้ว จู่ๆ ท่านก็โผล่มาโดยไม่บอกไม่กล่าว! จะไม่ให้ประหม่าอย่างไรได้

การพบกันครั้งแรกกับปฐมคุรุของเพื่อนรักและครูแห่งสายธรรมของสังฆะในท่ามกลางมิตรสหายที่จริงใจต่อกัน ช่างเป็นสิ่งที่งดงามจริงๆ ทำหัวใจให้อบอุ่นสั่นไหว และเพราะไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้ลบเลือนหายไป

ผมจึงขอจดจารบันทึกไว้เป็นบทความชิ้นนี้แทนเรื่องที่ตั้งใจไว้แต่เดิม

 

เรจินัลด์ เรย์ หรือเรจจี้ เกิดในปี 1942 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศาสนา เน้นพุทธศาสนาอินโด-ทิเบตจากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) เขาเริ่มต้นชีวิตในฐานะนักวิชาการพุทธศาสนาชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียง

เรจจี้เล่าให้พวกเราในสังฆะฟังว่า เขาเคยศึกษาวิจัยพุทธศาสนาสายวัดป่า (forest tradition) ในประเทศไทย และยังเคยเดินทางมาเมืองไทยในวัยสิบเก้าปี สมัยที่ยังเป็น “ฮิปปี้” ด้วย

ต่อมาในปี 1970 เรจจี้ได้พบกับเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช หลังจากที่ตรุงปะริมโปเชย้ายจากอังกฤษมายังอเมริกาไม่นานนักและได้กลายเป็นศิษย์ชาวตะวันตกรุ่นแรกๆ

วิจักขณ์เคยเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งแรกที่เรจจี้เจอกับตรุงปะซึ่งถูกเชิญไปบรรยายยังมหาวิทยาลัยที่เรจจี้ทำงานอยู่นั้น ตรุงปะริมโปเชทำให้งานบรรยายอันเป็นหน้าเป็นตาของเรจจี้พังไม่เป็นท่า ทว่าในวันที่ชื่อเสียงป่นปี้เพราะเชิญวิทยากรที่เหลวไหลมานั้น เรจจี้ได้พบกับความรู้สึกของ “อิสรภาพ” กับ “ความเปิดกว้าง” เป็นครั้งแรก

จากนั้นเขาลาออกจากงาน มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาบนพื้นฐานความเข้าใจร่วมสมัยแห่งแรกในโลกตะวันตก

เขาทำงานในมหาวิทยาลัยจนสถาบันแห่งนี้เติบโต นอกจากนี้ ยังศึกษาคำสอนและฝึกปฏิบัติตามสายธรรมของตรุงปะริมโปเชอย่างจริงจัง

นอกจากพุทธศาสนาแล้ว เรจจี้ยังมีความสนใจภูมิปัญญาสายอื่นๆ เช่น จิตวิเคราะห์สายคาร์ล ยุง, โยคะ, ไทจี๋ หรือภูมิปัญญาของศาสนาพื้นเมืองแอฟริกัน ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นประโยชน์ในการสอนของตัวเรจจี้เอง

ผ่านไปหลายปี เรจจี้ค่อยๆ ลดบทบาทจากนักวิชาการด้านศาสนามาเป็นนักปฏิบัติและครูทางจิตวิญญาณอย่างเต็มตัว

และเป็นผู้ก่อตั้ง Dharma Ocean สายการปฏิบัติสำคัญอันหนึ่งในโลกตะวันตก

 

วิจักขณ์พบกับเรจจี้ในปี 2003 เมื่อเขาไปเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยนาโรปะ เขาพบว่าตนเองได้ “ศิโรราบ” ต่อครูคนนี้อย่างแท้จริง และใช้เวลาศึกษาอย่างจริงจังกับเรจจี้จนนำพุทธธรรมจากโลกตะวันตกมาสู่เมืองไทย

เรามักคุยติดตลกกันว่า พุทธธรรมแบบทิเบตนั้นต้องอ้อมโลกไปอังกฤษ ไปสกอตแลนด์ ไปอเมริกาแล้วค่อยวกอ้อมกลับมาไทย โดยคนตะวันออกที่ไปเป็นศิษย์คนตะวันตกอีกที ทั้งๆ ที่ในอดีตคนตะวันตกล้วนโหยหาที่จะเป็นศิษย์ “กูรู” จากโลกตะวันออกทั้งนั้น

ที่จริงการอ้อมโลกเช่นนี้จะว่าไปก็มีคุณหลายประการ เพราะมันช่วยถอดรื้อเอาความรกรุงรังของสิ่งห่อหุ้ม เช่น วัฒนธรรมประเพณีที่ไม่ได้เกี่ยวกับแก่นแท้ของคำสอนออกไป และทำให้คำสอนนั้นต้องพูดด้วยภาษาธรรมดาที่มาจากประสบการณ์ตรง พุทธธรรมจึงดูไม่เหมือนคัมภีร์ในตู้พระไตรปิฎกหรือสิ่งของในพิพิธภัณฑ์

ด้วยเหตุนั้นพุทธธรรมจึงมีชีวิตชีวาสดใหม่ ดังคำพูดที่ว่าเชื้อของขนมปังอาจสืบทอดกันมาหลายรุ่น แต่ขนมปังนั้นเป็นสิ่งที่อบขึ้นใหม่เสมอ

 

การพบกันวันนี้ในโปรแกรม “ซูม” เรจจี้เริ่มต้นทักทายทุกคน และบอกเล่าความเป็นมาของสายธรรมปฏิบัติ วิจักขณ์บอกกับผู้เข้าร่วมว่า วันนี้จะไม่มีการแปลเพื่อไม่ให้สะดุดและใช้เวลามากไป แต่จะมีการบันทึกไว้เพื่อแปลในภายหลัง จึงขอให้ผู้เข้าร่วมซึมซับกับการ “ดำรงอยู่” (presence) ของครูบาอาจารย์ ซึมซับกับรูปกาย น้ำเสียง บรรยากาศ และพื้นที่ทั้งหมดในเวลานั้น

ผมคิดว่าการซึมซับการดำรงอยู่เป็นเรื่องสำคัญ เวลาที่เราสัมพันธ์กับใครสักคนอย่างลึกซึ้ง เราไม่ได้สัมพันธ์กับเขาในความคิดของเราเท่านั้น แต่เรากำลังสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของเขาในขั้นพื้นฐาน เราสัมพันธ์กันทั้งทางกาย วาจา และใจ

ดังนั้น แม้เราอาจไม่ได้สื่อสารกันด้วยวาจา แต่ใจและกายก็ยังปรากฏอยู่ให้เราเข้าสัมพันธ์ได้ เหมือนที่เรามักกล่าวว่า ในห้วงเวลายากลำบาก บางครั้งแค่คนที่เรารักนั่งอยู่ด้วยโดยไม่ต้องพูดอะไร เราก็ผ่านความยากลำบากนั้นไปได้

แม้ผมจะมีทักษะภาษาอังกฤษอ่อนด้อย แต่เรจจี้ใช้ภาษาที่ไม่ยากเกินไป พอจะตามไปได้ ทว่าทุกครั้งที่ฟังเรจจี้พูด กลับพบว่ามันมีความรู้สึกอย่างประหลาด คือสิ่งที่สื่อสารมาแม้จะเป็นเรื่องที่อาจเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว ก็พบว่ามันช่างเปี่ยมด้วยความหมายยิ่งกว่าที่เคย

ผมรู้สึกอบอุ่นพร้อมๆ กับสั่นไหวในใจอย่างบอกไม่ถูก รู้แต่เพียงว่า เรจจี้นี่ “ของจริง” เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับเวลาที่ผมได้พบท่านกุงก้า ซังโป ริมโปเช หรือบรรดาผู้ปฏิบัติที่แท้ และเข้าใจว่าเพราะความเปลือยเปล่าจริงใจที่อีกฝ่ายกำลังส่งผ่านประสบการณ์ทางธรรมและความรู้สึกปรารถนาดีมายังเราโดยตรง ในเวลาที่เราก็เปลือยเปล่าด้วยเช่นกัน

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งนี้คือความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งมันกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในโลกปัจจุบัน เพราะเรามักสัมพันธ์กับผู้คนด้วยผลประโยชน์เล็กใหญ่ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเสมอ

ไม่รู้ว่าทำไม หลังการบรรยายจบลงผมปิดซูมพร้อมน้ำตาท่วมท้นจนภรรยาตกใจ

 

เรจจี้พูดสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจว่า ในช่วงแรกที่ตรุงปะริมโปเชมาโลกตะวันตก ท่านพยายามสอนธรรมชั้นสูงของทิเบตให้กับฝรั่ง เพื่อนพระชาวทิเบตคืออากอง ตุลกุ ต่อว่าตรุงปะริมโปเชว่า พวกคนขาวแม้แต่นั่งสมาธิยังทำไม่เป็นเลย เราชาวทิเบตจะสอนสิ่งสำคัญเหล่านี้ให้ทำไม

ตรุงปะริมโปเชบอกว่า พวกเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับท่านและคนอื่น ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน ท่านไม่ได้ทำเพื่อคนทิเบต หรือเพื่อพุทธศาสนาด้วยซ้ำ แต่พุทธธรรมมีไว้เพื่อมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่สมบัติของชนชาติใดชาติหนึ่งหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

เรจจี้จึงบอกกับเราว่า เป้าหมายของการปฏิบัติในพุทธธรรมก็เพื่อที่เราจะได้มี “ความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม” เราไม่ได้พยายามจะเป็นคนดีหรือผู้วิเศษ แต่เราทุกคนมีความดีงามพื้นฐานอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ที่รอให้เราค้นพบ

เมื่อเรากลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ เรามีธรรมชาติที่จะรัก ความรักก็เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

ปัญหาอย่างใหญ่คือ ในปัจจุบันมีคนใช้พุทธธรรมไปเพื่อผลประโยชน์อย่างอื่น สิ่งนี้เป็นปัญหาทั้งในโลกตะวันตกและในเมืองไทยเอง

ทำอย่างไรพุทธธรรมจะกลับมามีความหมายสอดรับกับความทุกข์ของผู้คนในโลกร่วมสมัย

และช่วยให้ผู้คนเข้าถึง “ความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม”

เพื่อจะมีสังคมมนุษย์ที่มีความรักต่อกัน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่