วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / การเลือกตั้ง คือกลไกสำคัญของประชาธิปไตย

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

การเลือกตั้ง

คือกลไกสำคัญของประชาธิปไตย

ปลายสัปดาห์นี้ต้นสัปดาห์หน้า สิ้นสุดเดือนที่ 6 ของปี 2563 เข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2563 การเลือกตั้งซ่อมเขต 4 จังหวัดลำปาง ได้ผลอย่างไม่เป็นทางการออกมาตั้งแต่ค่ำวันเลือกตั้ง เสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2563

ผู้ได้รับเลือกตั้งคือ นายวัฒนา สิทธิวัง พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 61,811 คะแนน ทิ้งห่าง ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งได้คะแนน 38,048 คะแนน ขาดลอย

มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 109,294 เสียง คิดเป็นร้อยละ 67.13% เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ

เป็นการเพิ่มที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐอีก 1 ที่นั่ง เท่ากับลดที่นั่งของพรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้าน 1 ที่นั่ง เนื่องจากไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

 

นับแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้งเป็นต้นไป ถึงสัปดาห์เดือนหน้า เป็นห้วงแห่งข่าวการปรับ เปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่หัวหน้าพรรคเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับเลขาธิการพรรค เป็นนายอนุชา นาคาศัย

ส่วนกรรมการในตำแหน่งอื่นว่าไปตามโพย จะเป็นใครบ้างต้องติดตามอย่างกระชั้นชิด

หลังจากนั้นการปรับคณะรัฐมนตรีคงยังจะไม่เกิดขึ้น ตามข่าวว่านายกรัฐมนตรี “ไลน์” ถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่ายังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงนี้ทั้งสิ้น ขณะก่อนหน้านี้มีข่าวนายกรัฐมนตรีจะปรับการทำงานของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรีให้เข้ากับสถานการณ์ new normal ทั้งควรจะให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจากนี้

กระนั้น กระแสไม่ว่าจะเป็นของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์คงไม่รอสถานการณ์ แต่คงเดินหน้าทางการเมืองเพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลให้ยาวนานออกไปกว่านี้สักเล็กน้อย เพื่อพิจารณาตัวบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีให้เหมาะสมกว่านี้

ส่วนจะเหมาะสมอย่างไรหรือไม่ เรื่องการเมืองคือเรื่องการเมือง ความเหมาะสมทางการเมืองมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา

 

ระบบการเมืองของประเทศไทยวันนี้เกิดจากการรัฐประหารครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเกิดจากความต้องการให้มีกำหนดในรัฐธรรมนูญออกมาเป็นอย่างนั้น คือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภามาจากการคัดเลือกตามบทเฉพาะกาลกำหนด ไม่สังกัดพรรคการเมือง และมาจากผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ 6 คน ตามตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรีมาจากการเสนอชื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเลือก รัฐมนตรีไม่ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการประจำ และตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงทั้งสองสภา

และอีกจิปาถะตามกำหนดในรัฐธรรมนูญ

วันนี้ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปีเศษ มีเสียงเรียกร้องจากสมาชิกฝ่ายค้านและประชาชนบางส่วนให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ บางส่วนให้ปรับคณะรัฐมนตรี

ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แม้ไม่สมบูรณ์แบบ เพราะรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน คือมาจากพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาเป็นเสียงข้างมากให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากมีวุฒิสภาอีกสภาหนึ่ง สมาชิกวุฒิสภาควรจะมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

 

สําหรับพรรคการเมือง ควรจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ มีแนวความคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน รวมตัวกันก่อตั้งขึ้นเป็นพรรคการเมือง แม้จะมีกฎหมายกำหนด ควรจะเป็นกฎหมายที่บังคับใช้การเป็นพรรคการเมือง มิใช่บังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง

เพราะการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิทธิของราษฎรที่จะสมัครเป็นผู้แทนของราษฎร ไม่ใช่สมัครเพื่อเป็นผู้แทนของพรรคการเมือง

ด้วยเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาของราษฎร ไม่ใช่สภาของนักการเมือง หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดียวหรือผสมหลายพรรค หรือเป็นสภาของรัฐบาล

ส่วนรัฐบาลคือผู้ที่บริหารราชการแผ่นดินมาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่รวมตัวขึ้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ แล้วเสนอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนมากคือผู้เป็นหัวหน้าพรรคที่เสนอตัวเสนอพรรคซึ่งตัวเองได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ลงคะแนนเลือกตั้ง อาจจะพร้อมกับคณะรัฐมนตรี หรือพรรคร่วมรัฐบาล หรือตัวบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมจะเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี

ดังหลายประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองการปกครองประเทศให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองในระบบรัฐสภา

ทุกครั้งที่รัฐบาลมีปัญหา หรือเมื่อประชาชนไม่พึงพอใจกับรัฐบาลชุดนั้น นายกรัฐมนตรีจะใช้วิธีให้ประชาชนตัดสินใจพิจารณาว่าจะใช้คณะรัฐบาลชุดนี้อีกต่อไปหรือไม่ ด้วยการยุบสภาให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ด้วยเสียงข้างมาก เป็นเช่นนี้ หรือมิฉะนั้น หากรัฐบาลมิได้มาจากพรรคการเมืองเดียว หรือจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก แต่มาจากการผสมของพรรคเล็กพรรคน้อย หรือบุคคลปลีกย่อย ก็มักยุบสภาเพื่อให้ประชาชนใช้เสียงข้างมากเลือกสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเป็นก้อน มากกว่าเลือกแบบหัวแหลกหัวแตก

เมื่อคนไทยและประเทศไทยนิยมการปกครองระบอบประชาธิปไตยนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งยังใช้การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญให้มีผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกรัฐสภา และให้รัฐสภาเสียงส่วนใหญ่เลือกรัฐบาลบริหารประเทศ

คนไทยจึงไม่ควรเบื่อกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองในระบบรัฐสภาเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย และควรเชื่อว่าอำนาจรัฐสภาคืออำนาจของประชาชนที่จะไปสู่อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการในที่สุด ไม่ว่ากาลเวลาจะล่วงไปอีกสักกี่ปีก็ตาม

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่