มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / นิวนอร์มอลของผู้สูงอายุ

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

นิวนอร์มอลของผู้สูงอายุ

 

ข่าวผู้สูงวัยเสียชีวิตด้วยโรคระบาดมหาภัยโควิด-19 ในต่างประเทศ นอกจากทำให้เศร้าแล้ว ยังทำให้สงสัยถึงระบบสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม ที่นักวิชาการไทยใช้อ้างอิงตำราต่างประเทศ เวลาจะเลื่อนตำแหน่ง หรือข้าราชการใช้เป็นข้ออ้างไปดูงานท่องเที่ยวต่างประเทศ

รวมทั้งแบบแผนที่นักเรียนนอกจดจำมา ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงวัย หรือระบบประกันสังคมช่วยให้คนชรายังชีพในต่างประเทศ ที่กลายเป็นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์โรคระบาด ตามตัวเลขผู้เสียชีวิตในต่างประเทศจำนวนมากเป็นผู้สูงวัย โดยเฉพาะคนชราฝรั่งที่อยู่ตัวคนเดียว

ในขณะที่วิถีชีวิตคนชราในเมืองไทยนั้นต่างออกไป ทั้งการอยู่ร่วมกัน มีพี่-น้อง ลูก-หลาน คอยดูแล ทั้งการมีงานทำ เลี้ยงหลาน ทำงานบ้าน ดูแลไร่นา ทำงานต่างๆ จึงมีสุขภาพดี แข็งแรง จนโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 ทำอะไรไม่ได้

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองร้านอาหารเล็กๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น

 

ร้านอาหารแห่งนี้มีชื่อทันสมัยว่า ธนา อยู่ในตึกแถวรุ่นเก่าหนึ่งคูหา ย่านท่าเตียน

ก่อนโรคจะระบาด ท่าเตียนนั้นคึกคักอย่างยิ่ง ด้วยทำเลอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้วและวัดโพธิ์ จึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านไปมาทั้งวัน มีร้านกาแฟและร้านอาหารไทยแบบฟิวชั่นหลายร้าน มีโรงแรมบูทีกและโฮสเทล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือแทรกอยู่ตามตึกแถว

แต่ก็ยังเหลือร้านค้าดั้งเดิม ที่กลายเป็นของแปลกสำหรับชาวต่างชาติ

แม้ว่าการตกแต่งจะร่วมสมัย แต่รายการอาหาร กลับเป็นแบบบ้านๆ คือมีแค่ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ข้าวหน้าไก่ ข้าวหมูทอด หรือเกี๊ยวเท่านั้น

ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นคนไทยที่ทำงานแถวนั้น แวะเวียนมารับประทานเป็นประจำ

 

พนักงานที่ดูแลคอยให้บริการ เป็นชายสูงวัย คือ คุณภูมิพัฒน์ ธนาโรจน์ปิยทัช อายุ 66 ปี ในขณะที่เชฟคือ คุณภัทร์ศรันย์ ธนาโรจน์ปิยทัช ผู้เป็นภรรยา อายุ 65 ปี

คู่สามี-ภรรยา เป็นลูก-หลานพ่อค้าย่านท่าเตียน เดิมรับช่วงกิจการ ร้านธนาพานิช จำหน่ายสินค้าทั่วไป พร้อมกับเลี้ยงดูลูกสามคน ซึ่งตอนนี้โตทำงานเป็นนักการตลาด นักออกแบบกราฟฟิก และนักออกแบบตกแต่งภายใน

นอกจากเคยดำเนินชีวิตเหมือนครอบครัวไทยยุคใหม่แล้ว ยังวางแผนเหมือนกันคือ ซื้อบ้านจัดสรรแถวพุทธมณฑล เพื่อรองรับลูกหลานอนาคต และอาศัยหลังเกษียณอายุเมื่อเลิกกิจการร้านค้า

แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับพบว่า การนั่งนอนอยู่บ้านในที่ห่างไกลชานเมืองนั้น น่าเบื่อยิ่งนัก

ประกอบกับลูกๆ ก็อยากอยู่ในเมือง เลยชวนพ่อกับแม่กลับมานอนที่เดิม อีกทั้งชวนเปิดร้านอาหาร

โดยลูกๆ ช่วยวางแผนธุรกิจ ตั้งชื่อร้าน ตกแต่ง และคัดสรรรายการอาหารอร่อยที่แม่เคยทำให้กิน

อาทิ ราดหน้าสามพี่น้อง หมูสับปลาเค็ม ไข่ออนเซน หมูตุ๋นสมุนไพร 18 ชนิด เป็นต้น

ทุกวันนี้ ชีวิตของคู่สูงวัย นอกจากไม่ว่าง ไม่เหงาแล้ว ยังมีกิจกรรมต้องทำทั้งวัน ต้องขยับตัวไปมา เลยไม่ต้องไปร่ายรำเพลงจีนในสวนสาธารณะ มีคนชื่นชอบรสชาติอาหาร ทำให้เชฟมีความสุข

มีโอกาสเล่าเรื่องเก่า ที่คนฟังไม่บ่นว่าซ้ำซาก หรือน่าเบื่อ

 

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติย่านท่าเตียนหายไป แต่ร้านธนาก็ไม่มีปัญหา เพราะลูกค้าคนไทยล้วนคิดถึงอาหารรสดี มีคุณภาพ

ทุกวันนี้ ชาย-หญิงสูงวัยคู่นี้ มีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตเด่น มีกิจกรรมทำ และไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นผู้สูงวัยที่ปรารถนาของรัฐบาล คือ แข็งแรง มีงานทำ และไม่เป็นภาระ

ที่จริงเรื่องแบบนี้ คงมีอีกมากมายในเมืองหรือในชนบท ที่ทำให้ปัญหาผู้สูงวัยไทยไม่เลวร้ายเหมือนในต่างประเทศ

อาจต้องรอให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่กลับจากต่างประเทศ มาเรียนรู้ ถอดความ ทำเป็นข้อเสนอรัฐบาล ในการลดงบประมาณด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี มีการช่วยเหลือลดหย่อนภาษี

อยากขอร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ให้อ้างกฎระเบียบมาควบคุม จัดระเบียบใดๆ เพราะอยากให้กิจกรรมกิจการผู้สูงวัยแบบนี้อยู่ไปนานๆ

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่