เพ็ญสุภา สุขคตะ / ใครถือตาลปัตร : พระมาลัย หรือพระศรีอาริยเมตไตรย?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

มีพุทธปฏิมาประเภทหนึ่งทำเป็นรูปพระภิกษุนั่งถือตาลปัตร พบมากแถบจังหวัดภาคกลางของประเทศไทย บางรูปมีป้ายเขียนว่า “พระมาไลย” บางรูปเขียน “พระศรีอาริย์”

สร้างความสับสนให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยปกติแล้ว แต่ไหนแต่ไรมา ภิกษุที่ถือตาลปัตรคนส่วนใหญ่รับรู้กันว่าหมายถึง “พระมาลัย” แล้วการทำรูปพระศรีอาริย์ถือตาลปัตรเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในบทความนี้ตั้งคำถามไว้หลายประเด็น อาทิ พระมาลัยคือใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ ทำไมพระมาลัยต้องถือตาลปัตร รูปเคารพพระมาลัยเก่าสุดบนแผ่นดินสยามมีขึ้นยุคไหน

และแน่นอนที่สุด คำถามสำคัญคือ เหตุใดพระศรีอาริยเมตไตรยต้องถ่ายทอดออกมาเป็นรูปพระภิกษุถือตาลปัตร เอาอัตลักษณ์ของพระมาลัยมาใช้ด้วยเหตุผลใด?

 

พระมาลัยมีตัวตนจริงหรือไม่?

ไม่ปรากฏนามว่าพระมาลัยเป็นหนึ่งในพระอรหันต์กลุ่ม 80 “อสีติสาวก” ยุคพุทธกาลแต่อย่างใด นามของพระมาลัยปรากฏขึ้นครั้งแรกในคัมภีร์อรรถกถาบาลีของประเทศลังกาซึ่งเขียนขึ้นในยุคหลังแล้ว

ระบุคุณสมบัติของพระมาลัยว่าเป็น “พระอรหันต์” ผู้เลิศด้วยอิทธิฤทธิ์ (อันเป็นคุณลักษณะเด่นของ “พระโมคคัลลานะ”) มีคุณูปการสำคัญคือ สามารถท่องนรกเที่ยวสวรรค์ได้ จนนำเรื่องราวอันไกลโพ้นของทั้ง 2 โลกมาพรรณนาให้แก่มนุษย์พึงตระหนักสังวร

นักวิชาการด้านศาสนาเคยถกเถียงกันมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษถึงเรื่อง “การมีตัวตนจริงหรือไม่ของพระมาลัย” หรือเป็นแค่ “ตัวละครสมมุติในนิทาน” ในที่สุดก็มีทั้ง “เชื่อครึ่ง-ไม่เชื่อครึ่ง” แต่โดยรวมแล้ว ต่างยอมรับว่าเรื่องราวของพระมาลัย ถือเป็นกุศโลบายสำคัญที่สอนให้คนกลัวบาปและอยากสร้างแต่ความดี

ดังนั้น ทุกฝ่ายต่างเลิกถกเถียงกันในประเด็นค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวตนเป็นๆ ของพระมาลัย

 

พระมาลัยกับ “ตาลปัตร”

ทําไมพระมาลัยต้องถือตาลปัตร เรามาดูความหมายของ “ตาลปัตร” กันก่อน ตามที่กรมศิลปากรให้คำจำกัดความไว้ในป้ายคำบรรยายที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

“ตาลปัตรเป็นพัดสำหรับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา นำมาใช้ประกอบพิธีกรรม เข้าใจว่ามีต้นกำเนิดในลังกา โดยทั่วไปตาลปัตรมีลักษณะกลมมน ด้ามสั้น และมีขนาดเล็ก ต่อมาได้ประดิษฐ์ให้วิจิตรงดงามยิ่งขึ้นด้วยวัสดุต่างๆ สมควรแก่สมณศักดิ์ของพระสมณะแต่ละรูป ในประวัติศาสตร์ของไทย พระสงฆ์มีสมณศักดิ์มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 และน่าจะใช้ตาลปัตรมาตั้งแต่ยุคนั้นแล้วด้วย”

ไฉนพระมาลัยต้องถือตาลปัตร “ในมือซ้าย” (จากมุมมองของเราเห็นเป็นด้านขวา) จนกลายเป็น “สัญลักษณ์” สำคัญด้านประติมานวิทยา “ตาลปัตร” สื่อถึงอะไรได้บ้าง

ประการแรก สื่อถึงการแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกที่ทนทุกข์ทรมานในนรกภูมิ เมื่อพระมาลัยได้ไปพบเห็นความน่าสยดสยองแล้ว เกิดมีเมตตาจิตอยากช่วยให้สัตว์นรกพ้นบ่วงกรรม ดังที่เรียกกันว่า “พระมาลัยปางโปรดสัตว์”

ประการที่สอง ตาลปัตรสื่อถึงการสวดศพ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย วัฒนธรรมแถบอุษาคเนย์มีประเพณีการสวดหน้าศพด้วย “คาถาสวดพระมาลัย” โดยพระภิกษุต้องถือตาลปัตรบังหน้าก่อนชักผ้าบังสุกุล

สองเหตุผลนี้ ทำให้ช่างโบราณเห็นพ้องต้องกันว่าควรสร้างสัญลักษณ์ให้แก่พระมาลัยด้วยการถือตาลปัตรในมือซ้าย ส่วนมือขวานั้นเล่า หากเป็นปางนั่ง สังเกตให้ดีๆ พระมาลัยจะชี้นิ้วลงข้างล่าง นั่นหมายถึงชี้ไปที่ยมโลก หรือนรกภูมิ มองเผินๆ แล้วอาจละม้ายกับปางมารวิชัยของพระพุทธเจ้าอยู่บ้าง

ความจริงไม่ใช่

 

พระมาลัยเก่าสุดในสยามมีเมื่อไหร่

เราไม่พบวัฒนธรรมการบูชารูปเคารพพระมาลัยในสมัยสุวรรณภูมิโบราณ หรือยุคทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี หริภุญไชย แม้แต่ยุคสุโขทัยที่มีสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับลังกาก็ไม่พบ

ความนิยมในการนับถือพระมาลัยเริ่มขึ้นบนแผ่นดินสยามอย่างจริงๆ จังๆ ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา เห็นได้จากมีการประพันธ์วรรณคดีศาสนาเรื่องพระมาลัยคำฉันท์ พระมาลัยคำหลวง ส่วนในทางล้านนา-ล้านช้างซึ่งร่วมสมัยกับอยุธยานั้นก็มีวรรณคดีประเภทพระมาลัยคำสวด พระมาลัยกลอนสวด พระมาลัยโผดโลก ฯลฯ

ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า เรื่องราวของพระมาลัยนั้น เริ่มผูกร้อยขึ้นครั้งแรกในลังกาทวีป (เพราะไม่พบในอินเดีย) ราว พ.ศ.1000 เศษๆ จากนั้นอาณาจักรพุกามในพม่าก็รับคติเรื่องพระมาลัยไปบูชาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับพระอุปคุต หรือพระกัจจายนะ จนพุกามล่มสลาย การนับถือพระมาลัยของชาวมอญ ม่าน ไทใหญ่ ในพม่าก็ค่อยๆ สร่างความนิยมไป

ตรงกันข้ามกับกรุงศรีอยุธยา ที่นับถือพระมาลัยอย่างแพร่หลายมากกว่าพระอุปคุต หรือพระกัจจายนะ เพราะเรื่องราวของพระมาลัยนั้นโลดโผนโจนทะยาน โดยเฉพาะตอนพระมาลัยท่องนรกขุมต่างๆ เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นระคนสังเวชใจ ถูกจริตชาวกรุงศรีนักแล

ความนิยมในการสร้างรูปเคารพพระมาลัยยังคงทำสืบเนื่องจากสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากนั้นก็ค่อยๆ ซบเซาลงมากตั้งแต่สมัยพระจอมเกล้า

 

พระมาลัยเชื่อมโยงสิ่งสำคัญ 4 อย่าง

นอกจากเรื่องสวรรค์-นรกแล้ว พระมาลัยยังเป็นตัวแทนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสัญลักษณ์สำคัญ 4 อย่างที่คนไทยนับถืออย่างมากอีกด้วย นั่นคือ

หนึ่ง พระอินทร์ ตอนที่พระมาลัยขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระมาลัยพบกับพระอินทร์ พระมาลัยได้ถามพระอินทร์ว่า พระศรีอาริยเมตไตรย ผู้ที่จะมาเป็นอนาคตพุทธเจ้านั้นประทับอยู่ที่ไหน

สอง พระเจดีย์จุฬามณี จุดที่พระมาลัยขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พระมาลัยได้พบกับพระเจดีย์จุฬามณี ที่ซึ่งเก็บรักษาพระเกศาธาตุ พระเขี้ยวแก้ว (ทันตธาตุ) ของพระพุทธเจ้าศากยมุนี แถมยังเป็นสถานที่ที่พระศรีอาริยเมตไตรยขึ้นมาบำเพ็ญบารมีอีกด้วย

สาม พระศรีอาริยเมตไตรย เวลาที่พระมาลัยเห็นเทวดาแต่ละองค์เยื้องกรายมา พระมาลัยจะชี้ถามพระอินทร์ทีละองค์ว่า ใช่พระศรีอาริยเมตไตรยไหม องค์นี้หรือองค์นั้น หรือองค์ไหนกันแน่ พระมาลัยแสดงความปรารถนาที่จะได้เข้าเฝ้าและสนทนาธรรมกับพระศรีอาริยเมตไตรยอย่างใจจดใจจ่อเหลือเกินแล้ว

สี่ พระเวสสันดรชาดก เมื่อพระมาลัยได้สนทนาธรรมกับพระศรีอาริยเมตไตรยแล้ว พระศรีอาริยเมตไตรยได้ฝากพระมาลัยไปบอกแก่มนุษยโลกว่า หากผู้ใดปรารถนาจะมาเกิดในยุคพระศรีอาริย์ จักต้อง 1.รักษาศีลโดยเฉพาะศีล 5 อย่างเคร่งครัด 2.ต้องถวายตุง (ธง) ช่อ ฉัตร สัปทน เครื่องบูชาที่เป็นเครื่องสูงอย่างละพัน 3.ต้องฟังธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรให้จบภายใน 1 คืน

ดังนั้น ในงานจิตรกรรมฝาผนังของชาวมอญที่วัดชมภูเวก นนทบุรี เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายต่อกรุงธนบุรี จึงแสดงรูปพระมาลัยยกแขนนวยนาดแบบนาฏลักษณ์ชี้ถามเทวดาองค์ต่างๆ จากพระอินทร์ ว่าใช่พระศรีอาริย์หรือไม่ โดยมีฉากพระเจดีย์จุฬามณีปรากฏอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ในภาพพระบฏหรือจิตรกรรมบนผืนผ้าของล้านนา มักพบรูปพระมาลัยในแผ่นแรก ลักษณะเป็น “ภาพเปิดเรื่อง” ก่อนเข้าสู่เนื้อหาของพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ต่างๆ อีกหลายผืน

เหตุที่พระมาลัยรับบัณฑูรจากพระศรีอาริย์ให้เป็นผู้บอกกล่าวแก่ชาวโลกว่าให้ตั้งใจฟังเรื่องราวของพระเวสสันดรให้จบ อันเป็นประเพณีที่คนในอุษาคเนย์นิยมปฏิบัติสืบมาด้วยการฟังเทศน์มหาชาติ ในคืนเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 12 หรือยี่เป็ง

พระมาลัยในภาพพระบฏล้านนา หรือที่เรียกว่า “ตุงค่าวธรรม” นี้ไม่แสดงปางนั่งเอามือชี้ยมโลก เพราะเป็นตอนที่อยู่บนสวรรค์ จึงเขียนเป็นรูปพระมาลัยถือตาลปัตร อีกมือมีดอกบัว 8 ดอกที่รับมาจากชายเข็ญใจผู้หนึ่ง ซึ่งพระมาลัยตั้งใจนำดอกบัวเหล่านั้นไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณี

ตามความเชื่อที่ว่าหากใครได้บูชาพระธาตุจุฬามณีครบ 8 ครั้งแล้วย่อมได้พบพระศรีอาริย์

 

ความเชื่อมโยงระหว่าง “พระมาลัย”
กับ “พระศรีอาริยเมตไตรย”

ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องความทับซ้อนสับสนระหว่างประติมากรรมรูปพระภิกษุถือตาลปัตร ซึ่งควรเป็นพระมาลัยนั้น แต่กลับสามารถเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยได้อีกด้วย คือคุณเด่นดาว ศิลปานนท์ ปัจจุบันเป็นภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร

โดยเธอได้นำเสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ “จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมาลัยในภาคกลางของประเทศไทย” ตั้งแต่ปี 2549 ต่อมาได้นำข้อมูลมาเรียบเรียงปรับปรุงใหม่เป็นพ็อกเกตบุ๊กเรื่อง “แกะรอยพระมาลัย” ในปี 2553

งานวิจัยของคุณเด่นดาว ช่วยไขปริศนาให้เราได้ความกระจ่างว่า

เดิมนั้นรูปเคารพพระศรีอาริยเมตไตรยบนแผ่นดินสยามมักนำเสนอในรูปแบบเทวดาสวมชฎา ไม่ใช่รูปพระภิกษุหรือพระสาวก อีกทั้งไม่มีการถือตาลปัตรแต่อย่างใด ด้วยช่างยุคก่อนถือว่าพระศรีอาริย์มีสภาวะเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตีความรูปเคารพพระศรีอาริยเมตไตรยใหม่ว่า ไม่ควรอยู่ในลักษณะเทวดา เนื่องจากพระมาลัยเป็นพระอรหันต์ มีภูมิธรรมสูงกว่าเทวดา ตอนพระมาลัยไปกราบพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นเทวดาแล้ว ดูกระไรๆ อยู่ จึงได้กำหนดให้เปลี่ยนรูปพระศรีอาริย์เป็นพระภิกษุ คือให้อยู่ในรูปของนักบวชที่มีภูมิธรรมสูงเสมอเสมือนกับพระมาลัย

อันที่จริง เรื่องราวเกี่ยวกับพระมาลัยนั้น พระจอมเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดให้เผยแพร่กันเท่าใดนัก ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ชวนงมงายมากเกินไป การท่องสวรรค์เที่ยวนรกนี้ค่อนข้างขัดแย้งกับโลกสมัยใหม่ที่พระองค์กำลังสนพระทัยในดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสิ่งที่พิสูจน์ได้

ด้วยเหตุนี้ความนิยมในการสร้างรูปเคารพของพระมาลัยจึงค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปอย่างมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา หรือหากจะมีอยู่บ้างในรอบ 80-100 ปีที่ผ่านมา ก็อาจทำกันตามหัวเมืองรอบนอกในจังหวัดแถบภาคกลาง เช่น สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท ฯลฯ

และมักทำรูปพระศรีอาริย์ตามอย่างการตีความของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 นั่นคือ พระศรีอาริย์อยู่ในเพศสภาวะของพระภิกษุที่ถือตาลปัตรเช่นเดียวกันกับพระมาลัย ดังเช่นประติมากรรมที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี มีการทำรูปเคารพทั้งพระมาลัยและพระศรีอาริย์เป็นพระภิกษุถือตาลปัตรทั้งคู่

สิ่งที่แสดงความแตกต่างให้เห็น นอกเหนือไปจากการเขียนป้ายอธิบายใต้ฐานรูปเคารพแล้ว ก็มีเพียงการสะพายบาตรด้านหลังของพระมาลัย เนื่องจากยังอยู่ในสถานะของพระสาวกจึงคงต้องภิกขาจาร แต่พระศรีอาริยเมตไตรยอิ่มทิพย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จึงไม่จำเป็นต้องออกบิณฑบาต

กล่าวโดยสรุป เรื่องราวของพระมาลัยนั้นน่าสนใจมาก เพราะเชื่อมโยงไปไกลถึงนรกและสวรรค์ แถมเป็นสัญลักษณ์ที่ชวนให้ผู้พบเห็นจินตนาการไปถึงพระเจดีย์จุฬามณี พระศรีอาริยเมตไตรย และพระเวสสันดรชาดก

แต่ปัจจุบันรูปเคารพพระมาลัยแทบไม่มีการทำอีกแล้วแม้ในภาคกลาง เมื่อเทียบกับความนิยมในพระสีวลี พระอุปคุต หรือพระเกจิอาจารย์ที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ต่อไปเราคงรู้จักพระมาลัยเพียงแค่ในงานสวดศพเท่านั้น

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่