ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ไม่มี “วันสิ้นโลก” ในระบบปฏิทินของชาวมายา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ ได้มีนักวิทยาศาสตร์ (อย่างน้อยหลายๆ สำนักข่าวทั้งไทยและเทศก็จำกัดความอย่างนี้) หนึ่งในผู้ที่รับทุนจากรางวัลฟูลไบรต์ (Fullbright) ที่ชื่อ เปาโล ตากาโลกวิน (Paolo Tagaloguin) ได้ทำการทวีตในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ที่เคยเข้าใจกันว่า “วันสิ้นโลก” ในปฏิทินของพวกมายา (Maya) ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม 2012 ที่ผ่านมานั้น (และผมก็คงไม่ต้องบอกนะครับว่าวันดังกล่าวเป็นวันสิ้นโลกจริงหรือเปล่า?) เป็นความเข้าใจที่ผิด

เพราะอันที่จริงแล้วควรจะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2020 ที่จะถึงนี้ต่างหาก

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตากาโลกวินทวีตอย่างนี้ เขาได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่าเป็นเพราะความคลาดเคลื่อนจากการที่เรา (โดยเฉพาะคริสตชนส่วนใหญ่) เปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินแบบจูเลียน (ชื่อปฏิทินที่เซเลบในประวัติศาสตร์โลกอย่างจูเลียส ซีซาร์แห่งโรมเป็นผู้บัญชาให้ปฏิรูป และเริ่มใช้เมื่อราว 37 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มาใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน (ปฏิทินที่ดัดแปลงมาจากปฏิทินแบบจูเลียน โดยพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 ประกาศใช้เมื่อ ค.ศ.1582) ดังความที่ว่า

“ตามปฏิทินแบบจูเลียน เรายังอยู่ในปี 2012…จำนวนวันที่หายไปหนึ่งปี เนื่องจากการเปลี่ยนเป็นปฏิทินเกรกอเรียนคือ 11 วัน…เป็นเวลา 268 ปีมาแล้ว ที่เราเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน (นับจากปี ค.ศ.1752 ที่ประเทศอังกฤษเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบนี้-ผู้เขียน) คูณด้วย 11 วัน = 2,948 วัน และ 2,948 วัน หารด้วย 365 วัน (ต่อปี) = 8 ปี”

และถึงแม้ว่าตากาโลกวินจะลบทวีตที่ว่านี้ไปเสียแล้ว แต่ก็ทำให้เกิดกระแสวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในกลุ่มผู้สนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะในโลกของโซเชียลมีเดีย

 

“มายา” คือกลุ่มอารยธรรมในทวีปอเมริกากลาง ครอบคลุมพื้นที่บริเวณประเทศเม็กซิโก เบลีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และซีกตะวันตกของเอล ซัลวาดอร์

อารยธรรมมายาแบ่งออกเป็นสองระยะใหญ่ๆ คือช่วงก่อนยุคคลาสลิค ตั้งแต่เมื่อ 2,500-1,750 ปีมาแล้ว และช่วงยุคคลาสลิค ตั้งแต่ 1,750-900 ปีมาแล้ว

อารยธรรมมายาล่มสลายลงหลังการเข้ารุกรานของพวกสเปน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังการมาเยือนของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ได้รับการยกย่องเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกา (ทั้งๆ ที่ตนเองตั้งใจจะเดินทางไปอินเดียต่างหาก)

ประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาจึงแบ่งออกเป็นสองช่วงระยะเวลาใหญ่ๆ เช่นกันคือ ยุคก่อนโคลัมบัส และยุคโคลัมบัส

ซึ่งหมายถึงยุคที่มีอารยธรรมก่อนการค้นพบอเมริกาของโคลัมบัส และยุคหลังการค้นพบอเมริกาของโคลัมบัส

แม้ว่า “มายา” จะไม่ใช่อารยธรรมใหญ่ เพียงอารยธรรมเดียวในพื้นโลกใหม่ยุคก่อนโคลัมบัส เพราะยังมีพวกโอลเม็ก (Olmec), ซาโปเท็ก (Zapotec), อินคา (Inca), แอสเท็ก (Aztec) ฯลฯ อยู่ด้วย (นี่ยังไม่ได้นับกลุ่มเร่ร่อนหมุนเวียนเผ่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกอินเดียนแดง หรือชาวป่าในลุ่มน้ำอเมซอน) แต่ก็อาจจะถือได้ว่าชาวมายาเป็นกลุ่มอารยธรรมการใช้ตัวอักษร (literate culture) ที่มีเทคโนโลยีในการคำนวณและดาราศาสตร์สูงที่สุดในผืนโลกใหม่ หรืออาจจะสูงที่สุดในยุคโบราณของโลกใบนี้ด้วยซ้ำไป

เลข “0” ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมสำคัญทางคณิตศาสตร์ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีว่า ฝั่งโลกเก่ามีการประดิษฐ์คิดค้นกันได้ในวัฒนธรรมพระเวททางตอนเหนือของชมพูทวีป ก็มีใช้อยู่ในอารยธรรมมายาแล้ว

ซ้ำร้ายในขณะที่การคำนวณของฝั่งอารยธรรมโลกเก่า ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย หรือแอฟริกา ยังตั้งขึ้นบนเลขฐานสิบเป็นมาตรฐานมาจนกระทั่งปัจจุบัน พวกมายากลับคำนวณกันด้วยเลขฐานยี่สิบที่ละเอียดถี่ถ้วนกว่ามาก

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่พวกมายาจะสามารถสร้างพีระมิดและสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ได้มากมาย

“ปฏิทิน” ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านคณิตศาสตร์ของชาวมายาด้วย

แต่พวกมายานั้นไม่ได้มี “ปฏิทิน” เพียงแค่แบบเดียวเท่านั้นนะครับ เพราะนักโบราณคดีพบว่าพวกมายามีระบบปฏิทินอยู่ถึง 3 แบบ ไล่เรียงกันไปตามความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ในแต่ละช่วงสมัย

 

รูปแบบแรกเรียกว่า “ฮาบ” (haab) นับได้ 365 วันในรอบหนึ่งปี แบ่งออกเป็น 18 เดือน เดือนละ 20 วัน จึงเหลือเศษทั้งหมด 5 วัน นับว่าเป็นปฏิทินรูปแบบที่เก่าที่สุดที่พวกมายาประดิษฐ์ขึ้น

ลักษณะการคำนวณแบบนี้มีผลลัพธ์ใกล้เคียงกับของอารยธรรมอียิปต์ ซึ่งเป็นอารยธรรมแรกของฟากโลกเก่าที่คำนวณระยะเวลาหนึ่งปีได้ใกล้เคียงที่สุด

แต่ในขณะที่พวกอียิปต์เฝ้าสังเกตเส้นทางโคจรของดวงจันทร์และรัศมีของดวงอาทิตย์ จนนำมาซึ่งปฏิทินแบบสุริยคติที่มี 365 วันในรอบหนึ่งปี แต่แบ่งช่วงระยะเวลาหนึ่งปีออกเป็น 12 เดือน โดยมีเดือนละ 30 วัน แต่ละปีมีเศษ 5 วันเท่ากับวิธีการคำนวณของชาวมายาพอดิบพอดี

แต่พวกมายากลับเฝ้าสังเกตการโคจรของดาวศุกร์ และเก็บสถิติการเกิดของสุริยุปราคา ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศในรอบปีของทั้งสองพื้นที่อารยธรรม ทำให้การแบ่งเดือนในแต่ละปีออกมาไม่เท่ากัน

และในทางปกรณัมก็แตกต่างกันด้วย เพราะในขณะที่ชาวอียิปต์ถือวันเศษ 5 วันที่เหลือเป็นมงคล และถือเป็นวันเกิดของเทพผู้ยิ่งใหญ่อย่างไอซิส, โอสิริส, โฮรุส, เนปธีส์ และเซ็ต

แต่พวกมายากลับคิดว่าเศษ 5 วันที่เหลือเป็นอัปมงคล และเฝ้ารอให้วันดังกล่าวผ่านไปด้วยจิตใจกังวลและว้าวุ่นในแต่ละปี

ต่อมาชาวมายาสามารถคำนวณได้ละเอียดแม่นยำกระทั่งว่า ในแต่ละรอบหนึ่งปีมี 365 1/4 วัน แต่พวกเขาก็เลือกที่จะละเลยมันทิ้งไปเสียอย่างนั้น

ส่วนปฏิทินแบบที่ 2 เรียกว่า “ซอลกิน” (tzolkin, ผมอาจจะถ่ายเสียงออกมาได้ไม่ถูกต้องนัก เพราะเสียง tz ของพวกมายาไม่มีในภาษาอังกฤษและสเปน ในขณะที่ตำราที่ผมใช้ประกอบการเขียนข้อความนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น) ซึ่งแปลว่า “รอบปีอันศักดิ์สิทธิ์” จึงมีจำนวนวันเพียง 260 วันในหนึ่งปีเท่านั้น

แต่ละวันในรอบปีของปฏิทินแบบซอลกินนี้จะประกอบไปด้วยรายละเอียดของแต่ละวัน คล้ายปฏิทินบอกฤกษ์บอกยามของชาวตะวันออก หรือแนวคิดเรื่อง “วัน” แบบเฮซอยด์ (Hesoid, กวี นักปรัชญากรีก ในช่วง 800 ปีก่อนคริสตกาล) ของกรีก ในทำนองที่ว่า วันนี้เป็นวันควรออกศึก วันนี้เป็นวันเริ่มเพาะปลูก วันนั้นเป็นวันบูชาพระเจ้าองค์นั้นองค์นี้ อะไรเทือกๆ นั้น

ปฏิทินแบบซอลกินจะสามารถนำมาคำนวณร่วมกับปฏิทินแบบที่มีปีละ 365 วันได้โดยการนับเป็นรอบวงใหญ่คือ 52 ปี

 

สําหรับปฏิทินแบบสุดท้ายของพวกมายาเรียกว่า “บากตูน” (baktun) นับเป็นปฏิทินแบบที่นับรอบยาวที่สุด และก็เป็นปฏิทินแบบนี้เองแหละครับ ที่เคยทำให้เกิดกระแสว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2012 คือวันสิ้นโลกตามปฏิทินของพวกมายา ที่ตากาโลกวินเพิ่งออกมาทวีตว่า คนทั้งโลกคำนวณผิด เพราะการเปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินจูเลียนมาเป็นปฏิทินแบบเกรกอเรียนนั่นเอง

วิธีการนับวันเดือนปีของปฏิทินแบบบากตูนนั้น จะนับ 20 “กีน” (kin, วัน) เท่ากับ 1 “วีนาล” (uinal, เดือน), 18 วีนาล เท่ากับ 1 ตูน (tun, ปี เท่ากับมีปีละ 360 วัน), 20 ตูน เท่ากับ 1 กาตูน (katun, รอบ), 20 กาตูน เท่ากับ 1 บากตูน (baktun, รอบใหญ่) คือ 144,000 วัน

ชาวมายาโบราณคำนวณจำนวนวันเดือนปีไว้บนจารึกที่ทำหน้าที่คล้ายปฏิทินร้อยปีไว้ที่ 13 บากตูน ตรงกับ 5,130 ปีตามปฏิทินของเรา ซึ่งวันสุดท้ายจะจบลงที่วันที่ 21 ธันวาคม 2012 (ที่ตากาโลกวินเสนอใหม่ว่าควรเป็น 21 มิถุนายน 2020)

ที่สำคัญคือหลักศิลาจารึกดังกล่าวเล่าเรื่องการสร้างโลกตามปกรณัมของชาวมายา (ซึ่งสามารถเทียบกับปฏิทินปัจจุบันตรงกับวันที่ 13 สิงหาคม เมื่อ 3,114 ปีก่อนคริสตกาล) จึงทำให้คนพื้นเมืองอเมริกากลางในยุคหลัง ไม่ว่าจะสืบสายมาจากมายา อินคา แอสเท็ก ฯลฯ ต่างก็ร่ำลือกันว่าเป็นวันสิ้นโลกทั้งที่ในจารึกไม่ได้บอกเอาไว้เสียหน่อย

พูดง่ายๆ ว่า ไม่ว่าโลกกระแสหลักจะเปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินแบบจูเลียนมาเป็นแบบเกรกอเรียนหรือเปล่า? พวกมายาก็ไม่เคยบอกเอาไว้เสียหน่อยว่าวันสิ้นโลกคือวันที่เท่าไหร่แน่ ดังนั้น ไม่ว่าวันสุดท้ายในปฏิทินของพวกมายาจะเป็นวันที่ 21 ธันวาคม 2012 หรือ 21 มิถุนายน 2020 (ตามที่ตากาโลกวินทวีตเสนอไว้) วันนั้นก็เป็นเพียงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาตามระบบที่พวกมายาใช้คำนวณเท่านั้นเอง ไม่ใช่วันสิ้นโลกเสียหน่อยนะครับ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่