หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘เงยหน้า’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
สมเสร็จ - สมเสร็จก็เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวอื่นๆ แม้จะมีตำแหน่งดวงตาค่อนมาทางหู เหลือบมองได้รอบๆ โดยไม่ต้องเงยหน้า แต่มันจะเงยหน้าขึ้นมองเมื่อต้องการความแน่ใจ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เงยหน้า’

 

สําหรับเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณพันธุ์พืช พวกมันทำหน้าที่ทั้งควบคุมและนำพาไปแพร่กระจาย ร่างกายของพวกมันได้รับการออกแบบมาให้มีข้อดีหลายๆ อย่าง เพราะโดยสถานภาพนั้น พวกมันคือเหยื่อ

แม้ว่าการกินของสัตว์ผู้ล่าแท้จริง คือการคุมปริมาณสัตว์กินพืช เป็นแค่ผลพลอยได้จากการทำงานเท่านั้นก็เถอะ

ทว่าการอยู่ในสถานภาพเหยื่อ ใช่ว่าจะต้องจำนนง่ายๆ

ข้อหนึ่งในข้อดีหลายอย่างที่สัตว์กินพืชมี คือ ดวงตาพวกมันอยู่ในตำแหน่งค่อนมาทางใบหู ทำให้เวลาก้มกินอาหาร สามารถเหลือบตาก็มองรอบๆ ได้โดยไม่ต้องเงยหน้า

รวมทั้งระเบียบในฝูง ที่นำโดยตัวเมียอาวุโส จะเคร่งครัด เช่น ขณะตัวอื่นก้มกิน ต้องมีตัวหนึ่งเงยหน้ามองรอบๆ ตลอดเวลา

แต่มีสิ่งหนึ่งที่พวกมันทำให้ผมเห็นเสมอๆ เมื่อได้กลิ่น และสัมผัสได้ว่ามีผู้ล่าเข้ามาในบริเวณนั้น

คือ ทุกตัวจะเงยหน้าขึ้นสูดกลิ่น

พวกมันเชื่อจมูกมากกว่าดวงตา พวกมันจะเห็นเมื่อเงยหน้า…

 

ขณะอยู่ในป่า บางทีผมไม่แน่ใจนักหรอกว่า กำลังอยู่บนโลกใบเดียวกับเมืองที่ผมจากมาหรือเปล่า

พูดง่ายๆ ในป่ายังคงเป็นโลกใบเดิม ผมยังคงใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาทักษะร่างกาย เป็นโลกจริงๆ ที่ยังไม่ได้แปรสภาพเป็น “โลกเสมือน” ที่คนมากมายเข้าไปแออัดอยู่ในนั้น

ว่าตามจริง ทุกวันนี้คนทำงานในป่า ไม่ได้ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง เราใช้เครื่องมือหลายอย่างที่พัฒนามาให้ การเรียนรู้ทำความรู้จักสัตว์ป่า รวมทั้งบันทึกภาพพวกมันได้ง่ายดายมากขึ้น เทคโนโลยีช่วยให้คนรู้จักสัตว์ป่าในแง่มุมที่ไม่เคยรู้ ได้เห็นสัตว์บางชนิดที่ใช้ชีวิตอย่างลึกลับ

ในสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุกคนใช้คอมพิวเตอร์ท่องไปในโลกเสมือนเช่นเดียวกับคนในเมือง

เสร็จจากงานในสำนักงาน เราเดินออกจากโลกนั้น

ก้าวเท้าไม่กี่ก้าวก็เข้ามาอยู่ในโลกใบเดิม โลกที่แท้จริง

 

โลกเปลี่ยนไปแล้ว นี่คือถ้อยคำซ้ำๆ ไม่ว่าจะอยู่ในป่าลึกเพียงใด ก็ปฏิเสธความจริงนี้ไม่พ้น

ไม่ใช่โลกที่คนต้องใช้ทักษะและอวัยวะของร่างกายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน ความเปลี่ยนแปลงครอบคลุมไปทุกที่ ไม่มีคำว่า “หลังเขา” อีกแล้ว เทคโนโลยีรวมทั้งอุปกรณ์หลายอย่างเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน และต้องมีราวกับเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย

แต่มีบางสิ่งบางอย่างดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปถึงไหนๆ

นั่นคือความต้องการซากสัตว์ป่า เพราะเชื่อว่า คุณค่ามหาศาลของสัตว์ป่านั้นอยู่ที่ตอนพวกมันเป็นซากไร้ชีวิต

“พวกที่เอาอวัยวะสัตว์ป่าเข้าเครื่องยาทำยารักษาโรค หรือเสริมสร้างสมรรถนะนั่น พอเข้าใจได้นะครับ แต่พวกเอาเขาสัตว์ไปเพื่อประดับหรือสะสมนี่ ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ถึงวันนี้ยังมีคนชอบแบบนี้อยู่” ขณะยืนใกล้ซากกระทิงโตเต็มวัย ผมได้ยินใครสักคนพูดขึ้น ชิ้นส่วนซากอยู่เกือบครบ มีเพียงส่วนหัวบริเวณหน้าผาก และเขาถูกตัดไป

กระทิงถูกฆ่าเพื่อเอาเพียงแค่นี้

 

ทุ่งหญ้าแห้งๆ หลังฤดูแล้ง ถูกกำจัดโดยไฟที่ทำหน้าที่ทุกปี หลังจากนั้นไม่นาน ทุ่งที่ปกคลุมด้วยเถ้าดำๆ ก็กลายเป็นทุ่งสีเขียวเมื่อหญ้าระบัดงอกงาม ระบัดเป็นอาหารชั้นดี กระทิงมารวมฝูงอยู่ในทุ่ง มีสัตว์กินพืชมาชุมนุม เหล่าสัตว์ผู้ล่ารู้ดี พวกมันมาวนเวียนอยู่ด้วย

ข้อมูลเช่นนี้ คนฆ่ากระทิงเพื่อเอาเพียงเขาก็รู้

ความตายเกิดขึ้นท่ามกลางความสมบูรณ์ ท่ามกลางความมีชีวิต

 

“พบกัน ไม่ยอมให้จับแน่” ข้อความนี้เขียนไว้บนผนังหินก่อนลงหุบ คนรับจ้างฆ่าสัตว์ เขียนเอาไว้ พวกเขาไม่พร้อมถูกจับกุม แต่พร้อมจะต่อสู้

บางทีพวกเขาอาจคิดว่า ชุดลาดตระเวนทุกวันนี้เป็นเช่นเดิม เดินลาดตระเวนไป “แบบงั้นๆ” อาวุธไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ

ไม่รู้ว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว มีการอบรมการลาดตระเวนอย่างจริงจัง การเข้าปะทะ การหาข่าว มีเครื่องมือ รวมทั้งอาวุธที่ดีพอ

“ผมเขียนต่อข้อความนั้นว่า ให้เปลี่ยนอาชีพซะเถอะ”

ชุมพล พิทักษ์ป่า วัยกลางคนผู้เล่าให้ผมฟัง บอกด้วยน้ำเสียงซึ่งพร้อมจะทำงานของเขา

 

ผมคิดบ่อยๆ ว่า เมื่ออยู่ในเมือง ผมไม่แน่ใจนักหรอกว่า นี่เป็นโลกใบเดียวกับที่ทำงานผมหรือเปล่า

ว่าไปแล้ว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคอะไร

เราก็ยังมีโลกอยู่เพียงใบเดียว เมื่อเทียบกับโลก คนมีเวลาสั้นมากๆ ในการอาศัยอยู่

ใจความของมัน อาจอยู่ที่ในระยะเวลาสั้นๆ นั้น เราได้ทำอะไรบ้าง

โลกจริงๆ นั้น ยังคงเป็นเช่นเดิม

“เงยหน้า” ขึ้นมองเมื่อใด เราจะเห็น

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่