สุรชาติ บำรุงสุข | ยุทธการ “จี้รัฐบาล”! มอง 2563 จากอดีต 2491

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“กระผมในนามของคณะรัฐประหารมาเพื่อแจ้งแก่ท่านนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตัวเองในการกราบถวายบังคมลาออก”

คำกล่าวของคณะทหารที่เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์

6 เมษายน 2491

กว่าบทความนี้จะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เวลาก็คงจะล่วงเลยจากเดือนเมษายนไปแล้ว แต่ก็อดคิดถึงหนึ่งในเหตุการณ์เก่าที่สำคัญของเดือนนั้นไม่ได้

เพราะหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 สิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารดังกล่าวก็คือ เมื่อคณะนายทหารสี่นายบุกไปพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก

และขอให้ลาออก!

หากย้อนกลับไปสู่อดีตของการเมืองไทยแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้มาก่อน จนบันทึกการเมืองไทยเรื่อง 37 ปีแห่งการปฏิวัติ ของ “สว่าง ลานเหลือ” (หนังสือประกอบการศึกษาเรื่องการเมืองไทย ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง) กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นดัง “ประวัติศาสตร์ใหม่เอี่ยมของเมืองไทยได้เริ่มขึ้นเมื่อนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะรัฐประหารได้ไปเยี่ยมนายควงอย่างไม่นึกฝัน และไม่มีกำหนดการล่วงหน้า…”

และผลที่เกิดขึ้นก็คือ “รัฐประหารเงียบ” ที่เห็นบทบาทของทหารในการเมืองไทยอีกแบบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนกำลังพลและรถถัง หากเป็นรัฐประหารที่ทำด้วยการใช้ “วาจา” บังคับผู้นำรัฐบาล

เหตุการณ์ทหาร “จี้” ผู้นำพลเรือนในต้นเดือนเมษายน 2491 ผ่านไปนานถึง 72 ปี จนไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์คล้ายคลึงกันจะหวนกลับมาเกิดอีกครั้งในปลายเดือนเมษายน 2563

เมื่อมีรายงานข่าวว่า นายทหารนอกราชการในระดับนายพลท่านหนึ่งได้โทรศัพท์ถึงนายอุตตม สาวนายน ให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

ว่าที่จริงแล้วก็เป็นการ “จี้ทางการเมือง” อีกครั้ง แต่ไม่ต้องไปที่บ้านพัก และอาศัยการสื่อสารสมัยใหม่ที่มีโทรศัพท์เป็นเครื่องมือ

เหตุการณ์ในปี 2491 คือการ “จี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” แต่เหตุในปี 2563 คือการ “จี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ”… เป็นการจี้หัวหน้าพรรคการเมืองต่างกรรมต่างวาระ

ดังนั้น บทความนี้จะชวนท่านผู้อ่านเดินทางกลับสู่อดีตในปี 2491 เพื่อชวนคิดเปรียบเทียบกับเหตุในปี 2563

แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่า สุดท้ายแล้วเหตุการณ์นี้จะทำให้ผู้นำทหารในยุคปัจจุบันที่ตัดสินใจเดินบน “ถนนสาย 2491” และประสบความสำเร็จเช่นจอมพล ป. ได้หรือไม่

ทฤษฎี-ทหารเปลี่ยนรัฐบาล

หากพิจารณาในทางทฤษฎีจะเห็นในภาพรวมได้ว่า การแทรกแซงของทหารในการเมืองนั้น ปรากฏใน 4 รูปแบบ ได้แก่

1) การสร้างอิทธิพลแข่งกับรัฐบาลพลเรือน

2) การข่มขู่รัฐบาลพลเรือน หรืออาจเรียกว่าเป็น “การแบล็กเมล์” ทางการเมือง

3) การคุกคามด้วยการปฏิเสธความร่วมมือกับรัฐบาลพลเรือน หรืออาจจะเป็นในรูปของการขู่ว่าจะใช้กำลัง เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล

และ 4) การใช้ความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลพลเรือนโดยตรง ซึ่งก็คือการรัฐประหาร

รูปแบบทั้งสี่นี้เป็นภาพรวมที่ทหารในหลายประเทศใช้ในการแทรกแซงทางการเมือง

ซึ่งในกรณีของไทยนั้น เราอาจคุ้นชินกับรูปแบบสุดท้ายคือ ทหารตัดสินใจล้มรัฐบาลพลเรือนด้วยการยึดอำนาจ อันเป็นการใช้พลังอำนาจทางทหารในระดับสูงสุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ารัฐประหารเป็น “ความรุนแรงสูงสุด” ที่ทหารใช้ในทางการเมือง และความรุนแรงในระดับนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถรับมือได้

แต่ในบางครั้งการแทรกแซงของทหารอาจเกิดหลังฉาก เช่น การสร้างแรงกดดันทางการเมืองเป็นรูปแบบที่ไม่ใช่การใช้กำลังโดยตรง หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่าเป็นการ “แบล็กเมล์” (political blackmail) เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ดังได้กล่าวในทางทฤษฎีแล้วว่า การสร้างแรงกดดันทางการเมืองอาจจะเป็นการแสดงออกในแบบข่มขู่ เช่น ทางวาจา หรืออาจเป็นการขู่โดยตรงว่าจะใช้กำลัง

ซึ่งตัวแบบในปี 2491 และ 2563 เห็นได้ชัดถึงการข่มขู่ด้วยวาจาที่เป็นการบังคับให้ผู้นำรัฐบาลต้องลาออก

ซึ่งอาจมองได้ว่าทหารแสดงตัวเป็น “กลุ่มกดดัน” (pressure group) ที่ต่างจากกลุ่มของพลเรือน เพราะ “ทหารเป็นผู้ถืออาวุธ”

จี้รัฐบาล 2491!

รัฐประหารเงียบครั้งแรกในการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 เมษายน 2491 เมื่อนายทหาร 4 นาย ได้แก่ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท พ.อ.ศิลป์ ศิลปศรชัย รัตนวราหะ และ พล.ต.สวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ เดินทางเข้าพบนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก เป็นการเข้าพบโดยมิได้นัดหมาย

นายทหารทั้งสี่อ้างว่าตนเป็นผู้แทนของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และการมาพบนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ก็เพื่อแจ้งว่า ผู้นำคณะรัฐประหารคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ท.กาจ กาจสงคราม ไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ และผู้นำการรัฐประหารประชุมกันแล้วมีมติให้รัฐบาลลาออก (คณะรัฐประหาร 2490 มีสามผู้นำหลัก เช่นที่คณะรัฐประหาร 2557 ก็มีสามผู้นำหลักเช่นกัน)

คณะนายทหารได้กล่าวตรงไปตรงมาว่า “คุณหลวง [นายควง] ต้องพิจารณาตัวเอง… พวกผมได้รับคำสั่งมาให้แจ้งแก่นายกฯ เพียงเท่านี้ ต่อจากนั้น ผมจะคอยคำตอบภายใน 24 ชั่วโมง” (อ้างใน 37 ปีแห่งการปฏิวัติ)

เมื่อนายทหารทั้งสี่ลากลับ นายควงได้ติดต่อไปยังนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะรัฐประหาร และได้รับการยืนยันกลับมาว่าทหารไม่พอใจรัฐบาลจริง จึงต้องขอให้รัฐบาลพิจารณาตัวเอง

นี่เป็น “คำขาด” ของคณะรัฐประหารที่ตรงไปตรงมา คือรัฐบาลต้องออกภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งก็คือการข่มขู่รัฐบาลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยไม่ทำรัฐประหาร

นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีที่บ้านพัก แม้ในที่ประชุมจะมีผู้เสนอจับกุมนายทหารดังกล่าว และเตรียมปราบปรามกลุ่มทหารที่เป็นกบฏ

แต่รัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และมีความเห็นว่าอำนาจในการควบคุมกองทัพอยู่ในมือของจอมพล ป.

ฉะนั้น การตัดสินใจเตรียมปราบกบฏของรัฐบาลอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งขนาดใหญ่ และอาจนำไปสู่การปะทะระหว่างกำลังของรัฐบาลกับกำลังของฝ่ายผู้นำทหาร

ว่าที่จริงแล้วแทบไม่มีใครในรัฐบาลอยากต่อสู้กับทหาร เพราะมองไม่เห็นโอกาสชนะ ถ้าต้องสู้กับจอมพล ป. ซึ่งคุมกำลังทหารทั้งหมด

การที่อำนาจทางทหารยังอยู่กับจอมพล ป. ก็เพราะหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารเพียงหนึ่งวัน ได้มีแถลงการณ์ประกาศแต่งตั้งจอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บังคับบัญชาทหารแห่งประเทศไทย” (เท่ากับจอมพล ป. มีสถานะเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ในแบบปัจจุบัน)

และในวันที่ 25 พฤศจิกายน ได้แต่งตั้งให้เป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” อีกตำแหน่งด้วย กองทัพในยุคหลังสงครามอยู่ในมือของจอมพล ป. อย่างสมบูรณ์

ในอีกด้านก็พิสูจน์ให้เห็นว่า อิทธิพลของจอมพล ป. ยังมีอยู่มาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการรัฐประหารในปลายปี 2490 แม้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จอมพล ป. จะเคยตกเป็นอาชญากรสงคราม แต่เขาก็รอดพ้นการถูกแขวนคอ ต่างจากผู้นำฝ่ายอักษะในหลายประเทศ

ดังนั้น คงเรียกได้ว่า จอมพล ป. คือ “ผู้มากบารมี” ตัวจริงในยุคหลังสงคราม…

อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า ถ้าจอมพล ป. ถูกพิพากษาลงโทษด้วยการแขวนคอเช่นนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในช่วงสงครามแล้ว การเมืองไทยจะพลิกเปลี่ยนผันแปรไปอย่างไร

หรือจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าการเมืองไทยยุคหลังสงครามไม่มีจอมพล ป.

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยแล้ว นายควงไม่มีทางเลือก อันทำให้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นของวันที่ 6 เมษายน

และในวันที่ 8 เมษายน คณะผู้สำเร็จราชการได้มีประกาศแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 เมษายน

หรือที่เรียกช่วงจากนี้ว่าเป็น “ระบอบพิบูลสอง” (The Second Phibul Regime) ในการเมืองไทย [ระบอบพิบูลหนึ่งอยู่ช่วงสงครามจากปี 2481-2487]

ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม รัฐบาลได้แต่งตั้ง พล.ท.ผิน รองผู้บังคับบัญชาทหารบก ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนจอมพล ป. ที่ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว (อันเป็นเสมือนการตอบแทนที่ทำให้จอมพล ป. ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง)

และระบอบทหารหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 ก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 6 เมษายน 2491 อันเป็นการหวนสู่การปกครองของระบอบทหารในยุคหลังสงคราม และเหตุทหารจี้ผู้นำรัฐบาลครั้งนี้ ส่งผลให้จอมพล ป. กลับเข้าสู่วงจรการเมืองไทยอีกครั้ง

ตัวแบบของการใช้การข่มขู่รัฐบาลเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามความต้องการของผู้นำทหารในต้นปี 2491 จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ตัวอย่างคลาสสิค” ของการแทรกแซงของทหารในการเมืองไทยที่ไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านการรัฐประหาร

และในอีกด้านก็ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นก็ไม่ได้มีความเข้มแข็ง และอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของผู้นำทหาร เพราะรัฐบาลนายควงเป็นผลผลิตโดยตรงจากการรัฐประหาร

จึงเหมือนกับว่าเมื่อมีความพร้อมทางการเมืองแล้ว จอมพล ป. ก็กลับมาทวงตำแหน่งนายกฯ คืน

จี้รัฐบาล 2563!

เหตุเสมือน “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เกิดในปลายเดือนเมษายน 2563 เมื่อ “ทหารจี้ผู้นำรัฐบาล” ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ อันจะเป็นช่องทางให้ พล.อ.ประวิตรก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคนั้น ซึ่งอาจจะพอเทียบเคียงได้กับเหตุเมื่อ 72 ปีที่แล้ว

เพราะเป็นการจี้หัวหน้าพรรคการเมืองทั้งสองครั้ง และการบังคับนี้เกิดกับพรรครัฐบาลทั้งคู่

ส่วนเหตุครั้งนี้จะดำเนินไปแบบย้อนยุคและประสบความสำเร็จเช่นจอมพล ป. หรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลของการข่มขู่ในปี 2491 เป็นการแทรกแซงในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การรัฐประหารโดยตรง แม้จอมพล ป. จะออกมาแก้ตัวว่า นายควงลาออกด้วยความสมัครใจ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าถูก “ทหารจี้”

ฉะนั้น การใช้วาจาเพื่อบังคับผู้นำรัฐบาลสะท้อนบทบาททหารในฐานะ “กลุ่มกดดันทางการเมือง” จนอดคิดเทียบเหตุในปี 2491 กับปี 2563 ว่าคล้ายคลึงกัน

ที่ทหารใช้การกดดันเพื่อให้ได้ผลตามที่ผู้นำทหารต้องการ!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่