ฐากูร บุนปาน : ยังวนเวียนทำมาหากินอยู่กับเรื่องหนังสืออยู่เหมือนเดิมครับ

ยังวนเวียนทำมาหากินอยู่กับเรื่องหนังสืออยู่เหมือนเดิมครับ

แต่คราวนี้มาเน้นๆ เนื้อๆ กับเล่ม “รายงานเกี่ยวด้วยสถานการณ์บางประการในกรุงนานกิง” ของพระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนานกิง

ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของจอมพลเจียงไคเช็ก เมื่อ ค.ศ.1932 หรือ พ.ศ.2475

ที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ

 

ประเด็นที่ทำให้บันทึกของเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนคนสุดท้าย (ก่อนจะกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์กันใหม่ในปี พ.ศ.2518) ฉบับนี้น่าสนใจ

เพราะความไม่เหมือนกับบันทึกของทูตที่ต้องรายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศหรือรัฐบาลแบบทั่วไป

คือไม่ได้มีเฉพาะรายงานเหตุการณ์เท่านั้น

แต่ยังมีการใส่ความเห็น และข้อคิดวิเคราะห์แบบคนที่ผ่านโลกมาจัดเจนแล้วลงไปด้วย

ตรงนี้ต้องเข้าใจภูมิหลังท่านเจ้าคุณก่อนว่า

สมัยที่รัฐบาลส่งท่านไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กรุงนานกิงนั้น ท่านอายุ 64 ปีแล้ว เกษียณจากราชการปกติแล้ว

แต่ยุคนั้น (และโดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงนั้น-ประเทศนั้น) การคัดเลือกทูตไปประจำบางตำแหน่งบางประเทศ

เป็นการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง มิใช่กำหนดโดยข้าราชการประจำแบบสถานการณ์ปกติ

ที่น่าสนใจก็คือ เจ้าคุณอภิบาลราชไมตรีนั้น เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เคยเป็นผู้พิพากษา เคยเป็นสมุหพระราชมณเฑียร

ก่อนจะโอนย้ายออกมาอยู่กระทรวงการต่างประเทศ

เป็นเอกอัครราชทูตอิตาลี สเปน และโปรตุเกส

และเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน

ถือว่าไม่ธรรมดา

การถูกคัดมาเป็นทูตจีนในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ๆ ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว

ยิ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ธรรมดา

 

ในบันทึกที่ท่านรายงานเสนอกระทรวงผ่านต่อไปยังนายกรัฐมนตรีนั้น แยกเป็น 6 หัวข้อใหญ่

3 ตอนแรกเป็นรายงานข้อเท็จจริง คือก่อนคอมมิวนิสต์ยึดกรุงนานกิง เมื่อยึดได้แล้ว และคณะทูตมีผลกระทบอย่างไร

อีก 3 ข้อหลังเป็นบทวิเคราะห์และความเห็น คือเหตุใดก๊กมินตั๋งถึงแพ้คอมมิวนิสต์ ปัญหาคอมมิวนิสต์ในไทย และควรรับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่

ขออนุญาตตัดตอนมาเฉพาะส่วนหลัง และคัดเนื้อความที่สรุปมาแล้วโดย คุณพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น

ปัญหาว่าทำไมก๊กมินตั๋งถึงแพ้

ข้อวิเคราะห์คือ เมื่อครองอำนาจแล้ว ข้าราชการระดับสูงก๊กมินตั๋งกลายเป็นนายทุน กอบโกยเอาผลประโยชน์ส่วนตัว แม้กระทั่งเงินและอาวุธที่สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือมา

เมื่อระดับสูงโกงกันออกหน้าออกตา ทหารระดับล่างก็ไม่มีกำลังใจสู้รบ

ปัญหาว่าคอมมิวนิสต์จีนจะขยายอิทธิพลถึงไทยหรือไม่

ข้อวิเคราะห์คือ ปัญหาของจีนเองก็เยอะอยู่แล้ว คงส่งทหารเข้ามารุกรานไทยไม่ได้

แต่น่าจะใช้วิธียุแหย่ให้แตกแยก และก่อความไม่สงบในประเทศ

อันเป็นวิธีที่โซเวียตใช้ได้ผลมาแล้วในยุโรปตะวันออก

ปัญหาการรับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์

ให้รอดูท่าทีมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไปก่อน แต่เชื่อว่าอังกฤษจะรับรองจีนก่อนสหรัฐ เพราะมีผลประโยชน์อยู่ในจีนมากกว่า

และมีแนวโน้มว่าจีนกับโซเวียตจะแตกกันในไม่ช้า

ข้อหลังนี้ตรงเผงทีเดียว

 

อ่านหนังสือเล่มนี้จบ

นอกจากจะค่อยๆ ขบ ค่อยๆ เคี้ยวความคิดความสุขุมของท่านผู้ใหญ่สมัยนั้นแล้ว

ยังมีคำถามอีกข้อว่า

กระทรวงการต่างประเทศคิดจะจัดให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในคู่มือที่ทูตหรือข้าราชการระดับสูง “ควรอ่าน” หรือไม่

แล้วพลอยคิดต่อไปอีกว่า อย่างนั้นแล้วหนังสือทำนองเดียวกัน ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับโลกนี้ เช่น “สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ” หรือเล่มอื่นๆ

ท่านจะสนใจแค่ไหน

ถ้าท่านทำแล้วก็ขออภัย

แต่กลัวอยู่แต่ว่าระบบราชการไทยนั้นจะไม่หนีกันเท่าไหร่

เช่น บางหน่วยงานมีเงินสร้างห้องสมุด 600 ล้าน แต่ดันร่อนจดหมายขอรับบริจาคหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ

เรื่องเอากระพี้ไม่เอาแก่นเนี่ย

ระบบราชการไทยไม่เป็นรองใครในโลก