โควิด-19 กับข้อสงสัย ในความเหนือกว่าของตะวันตก

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (10)

โควิด-19 กับข้อสงสัยในความเหนือกว่าของตะวันตก

ก่อนหน้านี้มีความเชื่อที่สืบทอดอย่างมั่นคงว่า ตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้วมีสหรัฐและยุโรปเป็นต้น มีความก้าวหน้าทิ้งห่างประเทศกำลังพัฒนาตลาดเกิดใหม่ ที่เคยเรียกกันว่าประเทศโลกที่สาม

การวัดการพัฒนาหรือความเจริญนั้น ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาศัยเครื่องมือสำคัญคือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี และรายได้ต่อหัวต่อปีของประชากร

ประเทศใดที่มีจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวสูงถือว่าร่ำรวยและพัฒนาแล้ว

การจัดระดับการพัฒนาหรือการเจริญข้างต้นมีเป้าประสงค์ทางการเมืองใหญ่ต้องการให้การพัฒนาในประเทศพัฒนาแล้ว ที่กระจุกตัวอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือคือสหรัฐและแคนาดา ยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ ยังมีญี่ปุ่นเข้าไปต่อท้าย เป็นตัวแบบสำหรับการพัฒนาของประเทศทั่วโลก

ลำดับกาลมีว่า ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายได้พยายามพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของตนอย่างทรหด ท่ามกลางการแทรกแซง การเปลี่ยนระบอบ และสงครามจากตะวันตก ส่วนใหญ่เดินทางแนวทางตะวันตก แต่ก็พยายามรักษาความเป็นอิสระเป็นตัวเอง ดิ้นรนเป็นเอกราช สร้างกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นต้น

จนกระทั่งในขณะนี้ประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมดก้าวสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่ยังคงยากจนหรือที่หลุดไปเป็นประเทศร่ำรวยมีอยู่ไม่มาก

ประเทศที่มีรายได้ปานกลางเหล่านี้ โดยทั่วไปมีความสามารถในการจัดการปัญหาพื้นฐานได้แก่ การแพทย์ สาธารณสุขและการศึกษาได้พอสมควร

แต่สื่อตะวันตกก็ยังเพียรรายงานข่าวอย่างสม่ำเสมอว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ที่อยู่ในแอฟริกาใต้สะฮาราต้องเผชิญกับภัยร้ายแรง หรือหากเกิดโรคระบาด ระบบสาธารณสุขก็ไม่อาจรับมือได้ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะ “สมองไหล” จากแอฟริกาไปยังประเทศร่ำรวย)

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก กลับปรากฏว่าประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไปปฏิบัติได้ไม่ดีสมกับภาพลักษณ์นั้น

หลายชาติในเอเชียที่เคยตกเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมตะวันตก ได้แก่ จีน และเกาหลีใต้ รวมทั้งเขตไต้หวันปฏิบัติได้ดีกว่าตะวันตกเป็นอันมาก

สามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับที่แน่นอนด้วยมาตรการต่างๆ ได้แก่ การตรวจเชื้อ การดูแลรักษา การบันทึกรอยการติดเชื้อ และการรักษาระยะห่างทางสังคม

อนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เห็นกันว่าไทยสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีมากอีกประเทศหนึ่ง

อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตะวันตกเห็นว่าเป็นพื้นที่น่าเป็นห่วงจะเกิดการระบาดใหญ่ ผู้คนล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากกว่าพันล้านและยากจนเหมือนขาดแคลนไปเสียทุกสิ่ง แต่กลับไม่ได้ย่ำแย่ถึงปานนั้น

สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด (06/06/2020) ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้นราว 236,000 ราย เสียชีวิต 6,649 ราย รักษาหายกว่าแสนคน

เมื่อเทียบกับอังกฤษที่มีประชากรเพียง 66 ล้านคนเศษ มีผู้ติดเชื้อเกือบสามแสนราย เสียชีวิตกว่าสี่หมื่นราย (ตัวเลข 05/06/2020)

และยังพบว่าบางรัฐได้แก่เกรละ (Kerala) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย มีประชากรกว่า 33 ล้านคน ได้กลายเป็นตัวแบบของประเทศในการรับมือกับโควิด-19 และได้รับการชมเชยจากสื่อตะวันตกจำนวนหนึ่ง

สถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐเกรละ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2020 คือ มีผู้ติดเชื้อ 1,699 ราย เสียชีวิต 14 ราย รักษาหาย 712 ราย

มีผู้วิเคราะห์ความสำเร็จของรัฐเกรละนี้ว่าเกิดจาก

ก) ในรอบหลายสิบปีมา ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เกรละปกครองโดยรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่ก้าวหน้า เริ่มจากพรรคคอมมิวนิสต์ชนะการเลือกตั้ง ถือเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์จากการเลือกตั้งรุ่นแรกของโลก ในปัจจุบันพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยฝ่ายซ้ายเป็นรัฐบาล พรรคนี้ประกอบด้วยพันธมิตรพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์ ดำเนินการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 1969 ออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขยายระบบการศึกษา ลงทุนในระบบการแพทย์สาธารณสุข

ปัจจุบันทุกหมู่บ้านจะมีศูนย์อนามัย มีแพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยแพทย์พยาบาลอยู่ประจำ อัตราการรู้หนังสือ และอายุคาดหมายเฉลี่ยของพลเมืองเกรละสูงที่สุดในอินเดีย

ข) นอกจากนี้ เกรละยังมีบทเรียนจากการต่อสู้กับไข้ไวรัสสมองอักเสบนิปาห์ในปี 2018 ซึ่งไม่มีวัคซีนป้องกัน มีบทเรียนทั้งด้านการแพทย์สาธารณสุข การบริหารทรัพยากรส่วนต่างๆ ของรัฐ และการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองตนเองในท้องถิ่น (Panchayat) ไปจนถึงการดูแลทางด้านจิตใจ เช่น การตั้งศูนย์ปรึกษาทางโทรศัพท์แก่ผู้ที่ต้องถูกกักพื้นที่ หรือแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ค) การปฏิบัติอย่างฉับพลัน เข้มแข็งและมีเอกภาพของรัฐบาลท้องถิ่นผสานกับรัฐบาลกลาง เมื่อพบผู้ป่วยโควิด-19 ในเดือนมกราคม 2020 รัฐเกรละได้ปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกทันทีได้แก่ การตรวจเชื้อ การบันทึกรอย การแยกผู้ป่วย และการให้การสนับสนุน

ง) การมีส่วนร่วมของประชาชน มีลักษณะทั้งเชิงโครงสร้าง เช่น ผ่านองค์กรปกครองตนเองท้องถิ่น สภาตำบล เทศบาลต่างๆ ไปจนถึงระดับบุคคล มีพลเมืองอาสาสมัครที่ดูแลเพื่อนบ้านและตามรอยการติดเชื้อ นักเรียน นักศึกษา สร้างซุ้มเพื่อให้บริการตรวจเชื้อ

จ) ความคิดสร้างสรรค์และการดูแลอย่างรอบด้าน การแปรเรือท่องเที่ยวที่ร้างอยู่เพราะหยุดกิจการให้กลายเป็นสถานบริบาลชั่วคราว มีการประกันให้เด็กมีอาหารกลางวันกิน โดยส่งให้ที่บ้านเนื่องจากโรงเรียนปิด มีการจัดสรรงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อเยียวยาแก้ไข

(ดูบทความของ Sanjana Varghese ชื่อ Why has Kerala been so successful in tackling coronavirus? ใน newstateman.com 21/05/2020)

ที่ผิดคาดตะวันตกมากอีกพื้นที่ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกาโดยเฉพาะบริเวณใต้สะฮาราที่ยากจนมาก เป็นพื้นที่โรคอุบัติใหม่ชุกชุม เช่น โรคเอชไอวี/เอดส์ และอีโบลา เป็นต้น สะท้อนระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบอบปกครองไม่มั่นคง เศรษฐกิจก็มีหนี้สินมาก เป็นภูมิภาคที่ตะวันตกคือสหรัฐ-นาโต้จำต้องเข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือ แต่ปรากฏว่าไม่ได้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายอย่างที่ตามตะวันตกคาดไว้

สถานการณ์ล่าสุดของโควิด-19 ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2020 ในทวีปแอฟริกาที่มีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน คือ มีผู้ป่วย 168,000 ราย ตาย 4,505 ราย รักษาหาย 67,491 ราย

เทียบกับสหรัฐที่มีประชากร 300 ล้านคนเศษ ที่มีกรณีผู้ติดเชื้อเกือบ 2 ล้านคน ตายกว่าแสนราย รักษาหายกว่าสี่แสนคน

การที่แอฟริกาทำได้ดีเนื่องจากรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านประสบการณ์ต่อสู้โรคระบาดใหม่หลายโรค มีความเอางานเอาการและค่อนข้างเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ ยังอาศัยความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนสเบิร์ก สตีเฟ่น ฟรีดแมน ให้ทัศนะว่า นักการเมือง นักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือ “โลกที่หนึ่ง” อาจยังเชื่อว่า พวกเขาดีกว่าคนอื่นทั้งโลก

แต่ประสบการณ์จากกรณีโควิด-19 น่าจะได้ปลุกแนวคิดใหม่ขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหรือ “โลกที่สาม” ว่าหน้าที่พื้นฐานที่สุดของรัฐบาล ได้แก่ การปกป้องความปลอดภัยของพลเมือง

การรักษาให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง อย่างน้อยที่สุดมีความสำคัญเทียบเท่ากับการรักษาความปลอดภัยของประชาชนจากความรุนแรง

(ดูบทความของ Steven Friedman ชื่อ Covid-19 : Virus Blows Away Myth of “First” & “Third” Worlds ใน consortiumnews.com 18/05/2020)

โลกหลังตะวันตกและความเป็นตะวันตกที่ลดลง

ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุโควิด-19 ได้มีนักวิชาการในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเช่น โอลิเวอร์ สตูนเกิล (Oliver Stuenkel) ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชาวบราซิล เรียกร้องให้ทวีปอเมริกาใต้มีส่วนในภูมิรัฐศาสตร์โลก การจัดระเบียบโลกใหม่ ต่อต้านอำนาจครอบงำของสหรัฐ

เขาเขียนหนังสือชื่อ “โลกหลังตะวันตก” (Post-Western World : How Emerging Powers Are Remaking Global Order เผยแพร่ครั้งแรกเดือนกันยายน 2016) กล่าวถึงการขึ้นมาแทนที่ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีนเป็นแกน เป็นการเสนอทางวิชาการว่าระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นแล้ว

ในตะวันตกเองก็เห็นสถานการณ์นี้ สะท้อนออกในเอกสารการประชุมว่าด้วยความมั่นคง นครมิวนิก เดือนกุมภาพันธ์ 2017 ชูประเด็นเรื่องโลกหลังตะวันตก อันเนื่องจากเกิดลัทธิชาตินิยมเอียงขวาในยุโรปและสหรัฐ บ่อนทำลายใน “รายงานความมั่นคงมิวนิก 2020” (เผยแพร่เดือนมกราคม 2020 เพื่อใช้ในการประชุมความมั่นคงมิวนิก ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020) ได้ยอมรับสถานการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “ความเป็นตะวันตกที่ลดลง”

นั่นคือในประเทศตะวันตกเองมีความเป็นตะวันตกลดลง ขาดความเป็นเอกภาพทำให้อ่อนพลังในการสร้างอิทธิพล และโลกที่เหลือก็มีความเป็นตะวันตกลดลง มีเจตนาเพื่อการปลุกประโลมให้ยุโรปคงการรวมตัวที่เป็นปึกแผ่นไว้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโควิด-19 กับการจลาจลในสหรัฐ และเค้าความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่