เปิดโรดแม็ป “BRN” ยุค “ดูนเลาะ แวมะนอ” เขย่า “คุยสันติสุข” ใต้

จากการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1- 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

นับจากผู้ก่อเหตุร้ายนั่งกระบะยิงกลุ่มตำรวจที่กำลังเข้าแถวรับฟังนโยบาย สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 5 นาย

นอกจากเป็นที่คาดหมายว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการวิสามัญผู้ต้องสงสัยกลุ่มบีอาร์เอ็น 2 ราย ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กราดยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและครอบครัวเสียชีวิตรวม 4 คน

ทำให้มีการเอาคืน ตามคำเล่าลือว่า “หากสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นเสียชีวิต 1 คน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องถูกเอาชีวิตคืน 10 คน”

ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า การเข้ายิง สภ.ระแงะ น่าจะมาจากสาเหตุดังกล่าว

แต่เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบต่อเนื่อง ตั้งแต่การวางระเบิดเสาไฟ เผายางรถยนต์ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วงรอยต่อระหว่าง 6-7 เมษายน โดยมีการพัฒนาระเบิด ที่ใช้กล่องพลาสติกบรรจุอาหารเพื่อกันน้ำกันฝนได้ในการจุดชนวนนั้น เป็นอีกขั้นของการคิดค้น

ทำให้มองว่าอาจจะมีอะไรมากกว่าการ “แก้แค้น”

แม้ว่าการระเบิดเสาไฟฟ้าจะเลือกเป้าพื้นที่นอกเมือง อันเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้วางกำลัง

แต่ก็สร้างผลกระทบในแง่ความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพราะเกิดไฟฟ้าดับวงกว้าง

ก่อให้เกิดความหวาดวิตก ถือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ได้ผล

แม้หน่วยความมั่นคง จะใช้การปฏิบัติการ “เชิงจิตวิทยา” โต้กลับด้วยการประณามว่าทำให้คนเดือดร้อน แต่ก็ยังไม่ลดความวิตกของประชาชน

 

นับจากอดีตมาหลังการก่อเหตุร้าย มักจะมีการเขียนป้ายผ้าหรือพ่นลงบนถนน ด้วยภาษามลายู (Bahasa Melayu) เช่น Patani Merdeka (ปาตานี เอกราช)

แต่การก่อเหตุรอยต่อวันที่ 6-7 เมษายนที่ผ่านมา อาจจะไม่เด่นชัดนัก แต่การเลือกห้วงเวลาลงมือ ในคืนวันหลังประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไม่ตัดประเด็นการเมืองทิ้ง เพราะหากย้อนกลับไปช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีฝ่ายโหวตโน คือไม่เอารัฐธรรมนูญ ชนะ

ปฏิบัติการครั้งนี้ จึงอาจจะต้องการแสดงจุดยืน “ไม่เอา” ก็ได้

นอกจากนั้น ยังมีการมองกันอีกว่า หรือปฏิบัติการครั้งนี้ ยังหวังจะเป็นการแสดงแสนยานุภาพของประธานบีอาร์เอ็นคนใหม่อย่าง “นายดูนเลาะ แวมะนอ” ด้วย

โดยหลัง “นายสะแปอิง บาซอ” ได้เสียชีวิตไป “นายดูนเลาะ แวมะนอ” ก็ก้าวมาแทน

“ปฏิบัติการโชว์เพาเวอร์” อาจเป็นการส่งสัญญาณการ “ยอมรับ” ผู้นำคนใหม่ของคนในกระบวนการก็ได้

พร้อมกับมีการตั้ง “นายอดุลย์ มุณี” เป็นเลขาธิการบีอาร์เอ็น ควบหัวหน้าฝ่ายการเมืองสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นอีกด้วย

 

“นายดูนเลาะ แวมะนอ” ได้เริ่มโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการประกาศแผนตั้งรัฐปาตานีเป็นเอกราชในปี 2575 นับเป็นโรดแม็ป 15 ปี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างฐานมวลชนให้ได้ 1 ล้านคน แนวร่วมกระบวนการ 1 แสนคน หรือที่เรียกว่า Tentera Jihud Drevorusi (ชื่อกองกำลังในพื้นที่)

โดยระยะเวลา 15 ปีต่อจากนี้ จะเริ่มปลูกฝังจากเด็กอายุ 5 ขวบ ที่จะเติบโตเป็นกำลังที่สำคัญในอนาคต สืบต่อจากแผนบันได 7 ขั้น ของ นายสะแปอิง บาซอ

ทั้งนี้ ผู้ร่วมขบวนการต้องบริจาคเงินเลี้ยงองค์กรด้วย วันละ 1 บาท หรือบริจาครายปี 2-3 พันบาทต่อปี คือวันละ 5 บาท เพื่อนำเงินไปเลี้ยงองค์กร

สิ่งสำคัญสุด คือ “การปลุกระดม” ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่

เช่น กรณีเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ปี 2547 การกดขี่ผ่านวัฒนธรรม การเรียกว่า “แขก” คำนี้ แปลว่าไม่ใช่เจ้าของที่ เป็นเพียงผู้อาศัย เป็นต้น เพื่อให้เกิดอุดมการณ์ที่แรงกล้าเมื่อเติบโตขึ้น

 

การก่อเหตุครั้งล่าสุด พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับว่าเป็นแนวร่วมคนรุ่นใหม่

“เป็นกลุ่มแนวร่วมชุดใหม่ที่ออกปฏิบัติการ เพื่อสร้างความวุ่นวาย และจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดทุกจุดพบว่า การก่อเหตุมีเตรียมการมาล่วงหน้าและลงมืออย่างรวดเร็ว” พล.ท.ปิยวัฒน์เผย

ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการบีอาร์เอ็นมีการฝึกทางทหารจริง

เพราะรูปแบบการก่อเหตุต้องอาศัยความชำนาญ พร้อมเพรียง

การฝึกเหล่านี้แยกเป็นแผนก และการนำคนร่วมกระบวนการต้องแยกว่าใครเหมาะกับหน้าที่ใด หากผ่านการฝึกทหารก็จะไปเป็นกลุ่มกองกำลัง

ถ้าไม่ผ่านก็จะไปเป็นงานด้านการเมือง-เศรษฐกิจ (ปลุกระดม-ระดมทุน) แทน

กระบวนการก่อเหตุตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เช่น ขั้นตอนการวางเพลิง-ระเบิด คนหาวัตถุดิบ คนก่อเหตุ คนประสานเวลา ไม่รู้จักกันมาก่อน ได้รับเพียงคำสั่งและทำตามเท่านั้น กระบวนการระดับล่างจะไม่รู้จักระดับบน

ฝ่ายทหารมีการตั้งชั้นยศ ไม่สามารถคุมได้ แต่มีจุดยืนร่วมกัน

อีกทั้งการก่อเหตุแต่ละครั้ง ผู้ก่อเหตุจะถูกปลุกขวัญว่าไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้ตื่นเต้นหรือหวาดกลัวใดๆ ในการก่อเหตุ

 

แม้จะมีการพูดคุยสันติสุข จ.ชายแดนภาคใต้ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มมาราปาตานี ที่รวมหลายๆ กลุ่มในพื้นที่เข้ามาพูดคุย

ล่าสุดการพูดได้เห็นพ้องในการกำหนดเซฟตี้โซนขึ้น แต่ยังไม่ระบุว่าจะเป็นพื้นที่ใด

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. เปิดเผยว่า ไม่ใช่เป็นเซฟตี้โซน แล้วจะไม่มีเหตุเลย 100% แต่หลังเกิดเหตุต้องพิสูจน์ให้ได้โดยเร็วว่า เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นฝีมือใคร โดยทั้งสองกลุ่มได้ตั้งเงื่อนไขร่วมกัน หากเกิดเหตุรุนแรงเกิน 3 ครั้ง แล้วไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด ก็จะยกเลิกพื้นที่ปลอดภัย

โดยการพูดคุยสันติสุขครั้งล่าสุด ได้เสนอพื้นที่ปลอดภัย 5 อำเภอ โดยจะตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัย ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เห็นต่าง ประชาชนในพื้นที่ ใช้เวลา 1 เดือนเพื่อเลือกอำเภอ และตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมพื้นที่ 3 เดือน และใช้เวลาตั้งเซฟตี้โซนอีก 3 เดือน โดยจะมีพื้นที่ปลอดภัยนำร่องเดือนกันยายนนี้

แต่ผ่านไปไม่กี่วันหลังการพุดคุยก็เกิดเหตุขึ้น ทำให้มีการมองว่าเซฟตี้โซน จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

และตั้งคำถามไปว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้าพูดคุย คุมกำลังและมีอำนาจการสั่งการในพื้นที่จริงหรือไม่

เพราะมีการมองว่ากลุ่มที่ไปพูดคุยแม้มี “ตัวตน” แต่สั่งการไม่ได้

การพูดคุยสันติสุขอาจต้องดำเนินต่อไป เพราะเป็นการเปิดกว้างของรัฐบาลที่ต้องการใช้แนวทาง “การพูดคุย” อย่างสันติ

กระนั้นในระดับพื้นที่ก็ต้องพูดคุยคู่ขนานไปด้วย

ซึ่งกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ยอมรับว่าบุคคลที่ไปพูดคุยไม่ใช่คนคุมกำลัง เป็นเพียงแนวร่วมที่ไม่มีอำนาจสั่งการพื้นที่ได้ โดยบีอาร์เอ็นนั้นไม่มีแนวนโยบายการพูดคุยด้วย จึงทำให้กลุ่มมาราปาตานีไม่สามารถรับปากได้ว่าจะไม่เกิดเหตุขึ้นในเซฟตี้โซน

และมีคำเปรียบเปรยกันในกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ไม่ได้เข้าพูดคุยสันติสุข ว่า “Sayo Yang Seber Na” (ผมคือตัวจริง) เพื่อส่งถึงรัฐบาลไทย

ว่าไฉนเหตุร้ายจึงปรากฏท้าทายอยู่!