เกษียร เตชะพีระ | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : การจัดการความตายและทำนายอนาคต

เกษียร เตชะพีระ

เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : 6) การจัดการความตายและทำนายอนาคต (จบ)

(เรียบเรียงจากคำสัมภาษณ์ แฟรงก์ สโนว์เดน ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา โดย สเตลลา เลอวันเทซี นักข่าวสำนัก Il manifesto global แห่งอิตาลีเมื่อ 11 เมษายนศกนี้ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งบทเรียนในการจัดการความตายและทำนายอนาคต)

สเตลลา เลอวันเทซี : ฉันคิดว่าคำถามของฉันเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับความตายในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วคงจะมีมิติทางสังคมอยู่ด้วย โรคระบาดนี้ได้นำแนวคิดเรื่องความตายเข้ามาในชีวิตของเราในแบบที่มันไม่ได้อยู่เยี่ยงนั้นมาก่อน เมื่อฉันพูดว่า “ชีวิตของเรา” คงเห็นได้ชัดนะคะว่าฉันกำลังพูดถึงโลกตะวันตก สังคมเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมรณภาพและความตาย (mortality and death) น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่านี่ย่อมไม่จริงอย่างแน่แท้ทีเดียวกับหลายภูมิภาคของโลกที่ประสบภัยสงคราม ความขัดแย้ง ทุพภิกขภัยและภัยพิบัติทางภูมิอากาศ ทว่าในแง่หนึ่ง “สังคมอันสุขสบาย” ของเราก็นำพาเราห่างไกลจากความตายออกมา ดังนั้น ฉันก็เลยคิดว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ฉันถามคำถามนี้ก็เพราะในอิตาลีเรากำลังพูดถึงความตายกันมากมายชนิดที่เราไม่เคยชินกับการทำอย่างนั้นมาก่อนเลย

แฟรงก์ สโนว์เดน : ครับ ในแง่นี้ผมเสียใจมากที่นักประวัติศาสตร์เรื่องความตายผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส ได้แก่ ฟิลิป อารีแอส (Philippe Ari?s, ค.ศ.1914-1984, ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชีวิตประจำวันสามัญของโลกตะวันตก) มาเสียชีวิตไปเพราะเขาเขียนเรื่องประเด็นต่างๆ ที่คุณกำลังพูดถึงอยู่นี่แหละ มันคงน่าสนใจยิ่งถ้าหากเขาได้มาครุ่นคิดถึงสิ่งที่เรากำลังประสบพบผ่านโดยพินิจจากอดีต

ผมยังจำความเรียงชิ้นหนึ่งที่เขาเขียนได้ ผมคิดว่ามันชื่อว่า “เรื่องลามกจกเปรตแห่งความตาย” (Pornography of Death) สิ่งที่เขาครุ่นคิดก็คือการใช้เรื่องลามกจกเปรตเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) เพราะสมัยที่ศีลธรรมยุควิกตอเรีย (หมายถึงรัชสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียของอังกฤษระหว่างปี ค.ศ.1837-1901) ไล่บี้เรื่องทางเพศลงไปใต้ดินเสียจนกระทั่งมันไม่พบช่องทางแสดงออกโดยชอบตามปกตินั้น ก็ใช่ว่ามันจะหายลับไปก็หาไม่ แต่มันกลับระเบิดเปิดออกมาในแบบลามกจกเปรตต่างๆ โดยมิชอบ

อารีแอสเถียงว่า หากเราถือกรณีนั้นเป็นตัวแบบแล้ว มรณภาพกับความตายก็เป็นจริงแบบเดียวกัน และสิ่งที่เราทำในโลกสมัยใหม่ก็คือกดเก็บความตายลงไปเสียเพื่อที่เราจะได้ไม่มีวันเผชิญหน้ามัน ในลักษณาการอย่างเดียวกับที่คนยุควิกตอเรียเอาเข้าจริงไม่เคยเผชิญหน้ากับเรื่องทางเพศของตนเลยนั่นแหละ

ผลลัพธ์ของมันก็คือเราไม่รู้จักว่าจะเศร้าเสียใจอย่างไร การตายกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถาบันบางแห่งแล้วเจ้าสถาบันนั้นก็จัดแจงดูแลมันจนเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมความตายนั่นเอง ความตายไม่ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคลอีกต่อไป ทว่าถ้าหากมีวิชาชีพแห่งความตายมาจัดแจงมันจนเรียบร้อยแล้ว เอาเข้าจริงเราก็ไม่ได้เผชิญหน้ากับความเป็นจริงของความตายและความหมายของมันอีกต่อไป

ผมเชื่อจากก้นบึ้งหัวใจเลยครับว่าอารีแอสถูกต้อง แต่ผมตอบแทนอารีแอสไม่ได้ และผมบอกคุณได้ว่าความข้อนี้ทำให้ผมปักใจเชื่อว่าคำถามของคุณสำคัญยิ่ง และผมก็ได้แต่หวังว่าผมจะมีปัญญาตอบคุณได้ดีกว่านี้

สเตลลา เลอวันเทซี : อันที่จริงฉันรู้ว่ามันเหลือวิสัยที่จะทำนายว่าโรคระบาดทั่วจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใด แต่ฉันสงสัยค่ะว่าประวัติศาสตร์ช่วยเราได้บ้างไหมในแง่นี้ คือพอจะให้ความคิดคร่าวๆ เรื่องจังหวะเวลาและจะมีอะไรรอเราอยู่ข้างหน้าในหลายเดือนถัดไปได้บ้างไหมคะ

แฟรงก์ สโนว์เดน : ผมเห็นความสำคัญของคำถามของคุณนะครับ และขณะเดียวกันผมก็รู้ตัวว่าไม่สามารถทำนายอย่างแม่นยำใดๆ ได้ด้วย นั่นเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องบอกกล่าวเพราะโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่มนุษย์เพิ่งได้รู้จักตั้งแต่เดือนธันวาคมศกก่อนมานี่เอง ดังนั้น จึงยังไม่มีใครรู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนักและความเร้นลับของมันอย่างหนึ่งก็คือระยะเวลาที่มันปิดล้อมชุมชนหนึ่งๆ น่าจะนานเท่าไหร่

เห็นได้ชัดว่า หากมองจากสุดขั้วข้างหนึ่ง โควิด-19 ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งแพร่ผ่านท้องที่ต่างๆ ในชั่วไม่กี่สัปดาห์ และที่สุดขั้วอีกข้างหนึ่ง มันก็ไม่น่าจะคงอยู่ในเมืองๆ หนึ่งนานหลายปีอย่างที่บางทีกาฬโรคเป็น ด้วยเหตุผลนั้นแหละครับ อนาคตจึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนยิ่ง

ตัวอย่างเช่น มันไม่กระจ่างเลยว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อยู่กับเรายาวนานหรือไม่ มันจะกลับมาระบาดซ้ำหลังชุมชนต่างๆ พากันโผล่จากการปิดเมืองกลับไปทำงานการและดำเนินชีวิตที่ปกติขึ้นหรือเปล่า และพวกที่ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันไหม เป็นต้น

ผมเดาว่าอันตรายของการกลับมาระบาดซ้ำจะทำให้ทางการไม่ยอมปล่อยให้กลับไปดำเนินชีวิตกันอย่าง “ปกติ” ในบางแบบนานหลายเดือนทีเดียว ผมสงสัยว่าบาทก้าวการเปลี่ยนแปลงจะดำเนินไปอย่างรอบคอบรัดกุมเพราะมันจำต้องดูกันว่าการค่อยๆ หย่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ จะตามมาด้วยการระบาดระลอกใหม่ของโรคหรือไม่ ฉะนั้น ผมจึงเชื่อว่าการกลับสู่ภาวะ “ปกติ” จะเชื่องช้าและค่อยเป็นค่อยไป และการเปลี่ยนแปลงบางอย่างน่าจะอยู่ยืนนาน อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้การได้ซึ่งจะเป็นตัวพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ นี่ไม่ใช่คำทำนายนะครับ แต่เป็นแค่เดาเอาเท่านั้น

ประเด็นหลักของผมก็คือผมคิดว่าทุกคนพึงต้องตระหนักว่าโรคระบาดทั่วนี้เป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งและการฟื้นตัวจากมันจะไม่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีหรือเร็วๆ นี้ มันยังสอดคล้องกับความเป็นจริงที่จะนึกคิดไว้ด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตของเราจะยืนยาวนานออกไป


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่