หนุ่มเมืองจันท์ | เปลี่ยน “สมการ”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

นานๆ จะได้ตะลุยอ่านหนังสือสักเล่มหนึ่งแบบวางไม่ลง

“ชีวิต มุมมอง ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เป็นหนังสือที่ “กุลธิดา สามะพุทธิ” เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์อาจารย์ไกรศักดิ์

เพิ่งพิมพ์เสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้เอง

ก่อนที่อาจารย์ไกรศักดิ์จะเสียชีวิตไม่นาน

“ไกรศักดิ์” เป็นคนที่อยู่วงในของประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายยุคหลายสมัย

ผมรู้จักอาจารย์ไกรศักดิ์ตั้งแต่ตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์

เพราะเขาจะขึ้นเวทีเสวนาเป็นประจำ

ตอนนั้น “พ่อ” ของเขา คือ พล.อ.ชาติชาย เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เป็นที่รู้กันว่าความคิดของเขากับพ่อนั้นสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

บนเวที “ไกรศักดิ์” ไม่เคยเรียก พล.อ.ชาติชายว่า “พ่อ”

แต่จะเรียกว่า “คุณชาติชาย”

เนื้อหาที่พูดบนเวที ใครจะโจมตี พล.อ.ชาติชาย เขาจะไม่เคยโต้ตอบเลย

บางทีก็เห็นด้วย

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี

ใครจะนึกว่า “ไกรศักดิ์” จะโดดลงมาช่วยพ่ออย่างเต็มที่

ดึงเพื่อนนักวิชาการรุ่นใหม่มาเป็นที่ปรึกษา

ตั้งแต่ “พันศักดิ์. วิญญรัตน์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ณรงค์ชัย อัครเศรณี ชวนชัย อัชนันท์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และสุรเกียรติ์ เสถียรไทย”

นักข่าวจะเรียกทีมนี้ว่า “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก”

เพราะใช้ “บ้านพิษณุโลก” เป็นที่ทำงาน

เรื่องแรกที่ผมอยากรู้จากหนังสือเล่มนี้มากที่สุด คือ เรื่องราวของกลุ่มทีมที่ปรึกษาชุดนี้

โดยเฉพาะนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า”

ยุติสงครามในกัมพูชาที่ยืดเยื้อยาวนานลงได้

สำหรับผม นี่คือนโยบายต่างประเทศที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ พล.อ.ชาติชาย

และน่าจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่รัฐบาลไทยเป็น “ผู้นำ” ในเวทีระดับโลก

เพราะความขัดแย้งในกัมพูชาเป็นความขัดแย้งที่มีมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซียและสหรัฐอเมริกา ถือหางแต่ละฝ่ายอยู่

เบื้องหลังเรื่องนี้จึงน่าสนใจมาก

“คําว่า “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” พ่อเขาคิดขึ้นมาเอง ทีมที่ปรึกษาไม่ได้คิด เขาคุยกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ แล้ว”

หลักคิดของ พล.อ.ชาติชายก็คือ เราไม่สามารถย้ายประเทศหนีไปไหนได้

“กัมพูชา” คือเพื่อนบ้านของเรา

ถ้าประเทศของเขาไม่สงบ ชายแดนไทยก็ไม่สงบ

ตอนนั้นรัฐบาลไทยปฏิเสธรัฐบาลเฮง สัมริน ที่มีเวียดนามหนุนหลัง

“ฮุน เซน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยแอบหนุนกลุ่มเขมร 3 ฝ่าย คือ เขมรแดง ซอน ซานน์ และเจ้านโรดม สีหนุ

การเดินเกมนี้จึงต้องต่อสู้กับทั้งภายในและภายนอก

เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยเดินตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา

“ไกรศักดิ์” ต้องเดินทางไปปักกิ่งอย่างลับๆ เพื่อโน้มน้าวให้จีนสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้

เป้าหมายคือ ให้จีนลดระดับการสนับสนุนเขมรแดง และให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการเจรจา

ส่งทีมไปคุยกับสหรัฐอเมริกา บอกว่า ถ้าการเจรจาสันติภาพสำเร็จก็จะเป็นการปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาให้พ้นคำครหาว่าหนุนเขมรแดง ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนกัมพูชา

แต่ที่ผมชอบมากคือ วิธีคิดที่เขาเปลี่ยนสมการการเจรจาใหม่

จากเดิมที่มีทั้งเขมรแดง ซอน ซานน์ และเจ้านโรดม สีหนุ และกลุ่มเฮง สัมริน

รวมกันเป็น 4 ฝ่าย

คุยทีไร กลุ่มเฮง สัมริน ก็เสียเปรียบทั้งที่เขาเป็นฝ่ายกุมอำนาจแท้จริง

พล.อ.ชาติชายเปลี่ยนสมการใหม่ แยกเป็น 2 กลุ่มที่ขัดแย้งกัน

คือ เขมร 3 ฝ่าย และเฮง สัมริม

แบบนี้ค่อยคุยกันได้

เขาพยายามดันให้เจ้านโรดม สีหนุ เป็นตัวแทนของเขมร 3 ฝ่าย

และ “ฮุน เซน” เป็นตัวแทนของ “เฮง สัมริน”

มีการเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาหารือทางลับที่บ้านซอยราชครูเป็นประจำ

อาจารย์ไกรศักดิ์เล่าว่า ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกหารือกันว่า การจะโน้มน้าวให้ฮุน เซน เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ ต้องทำให้เขาเห็นว่าบ้านเมืองที่ปราศจากการสู้รบนั้นเจริญอย่างไร

เขาจึงเชิญฮุน เซน มาพักที่โรงแรมหรูย่านลาดพร้าว ซึ่งน่าจะหมายถึงเซ็นทรัลลาดพร้าว

“ซึ่งก็ได้ผล คนใกล้ชิดในเหตุการณ์ครั้งนั้นบอกว่า ฮุน เซน เห็นความเจริญของกรุงเทพฯ แล้วก็อยากหาทางสงบศึกในบ้านตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศเสียที”

ข้อเสนอของไทย คือ ให้ทำข้อตกลงหยุดยิงกันก่อน แล้วให้สหประชาชาติเข้ามาดูแล

ตอนแรกฮุน เซน ไม่ยอมเพราะยังโกรธที่สหประชาชาติไม่รับรองรัฐบาลของเขามานาน 10 ปี และดูถูกเขามาตลอด

สุดท้าย “ไกรศักดิ์” ต้องเข้าไปคุยกับซก ฮาน คนสนิทของฮุน เซน

ยืนยันว่าถ้าให้สหประชาชาติเข้ามาดูแล เหมือนกับฮุน เซน ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

และทั้งสีหนุและฮุน เซน จะเป็นฮีโร่

สุดท้ายเขาก็ยอม

รัฐบาล พล.อ.ชาติชายเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศฉลาดมาก

ไม่เป็น “พระเอก” คนเดียว

ดึง “ญี่ปุ่น” มาเป็นประเทศกลางในการเจรจา

จนสงครามในกัมพูชาสงบลงและมีการเลือกตั้ง

ดึง “ออสเตรเลีย” เข้ามาลงทุนสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว

ยิ่งประเทศใหญ่ๆ มาร่วมเยอะๆ

“ไทย” ยิ่งโดดเด่น

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมายในหนังสือเล่มนี้

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของครอบครัว “ชุณหะวัณ”

ในพื้นที่บ้านราชครูที่กว้างใหญ่

บ้านของ พล.อ.ชาติชายจะมีนักการเมืองเดินทางมาที่บ้านเยอะมาก

ในขณะที่บ้านของ “ไกรศักดิ์” จะมีนักวิชาการ เอ็นจีโอ และศิลปินเพื่อชีวิตมาคุยกัน

ตอนค่ำๆ ก็จะเล่นดนตรี ร้องเพลงกัน

คุณหญิงบุญเรือน แม่ของอาจารย์ไกรศักดิ์ชอบมาตอนค่ำๆ

ใส่ชุดนอนฟูฟ่องมาร่วมร้องเพลง

และเต้นรำ

หรือตอนที่ทำงานอยู่บ้านพิษณุโลกที่ร่ำลือกันว่า “ผีดุ”

มีคนเห็นผู้หญิงสวมชุดไทย

ทีมงานหลายคนไม่กล้าอยู่ตอนค่ำ เดินไปไหนก็ไปเป็นกลุ่ม

วันหนึ่ง อาจารยไกรศักดิ์ไปทำงาน เห็นร่องรอยสายสิญจน์เต็มไปหมด

เจ้าหน้าที่บอกว่าคุณหญิงบุญเรือนมาทำพิธี

กลับไปถามแม่

แม่บอกว่าได้ข่าวว่าผีชุมมาก ก็เลยไปช่วยทำพิธี เด็กๆ จะได้ทำงานกัน

ส่วน “พ่อ” หรือ พล.อ.ชาติชาย ที่ดูเหมือนจะความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันในช่วงแรกๆ

“ไกรศักดิ์” บอกว่า “พ่อเป็นคนเดียวที่เข้าใจผม มักจะฟังในสิ่งที่ผมพูด ไม่เคยถือสาความคิดผม”

ตอนที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ “ไกรศักดิ์” เข้าสู่แวดวงปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เขาชอบ

ไม่นานนักบ้านชุณหะวัณก็กลายเป็นแหล่งพบปะของนักคิดนักกิจกรรม

จนมีข่าวว่าเขาร่วมประชุมกับบุคคลในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

วันหนึ่ง พล.อ.ชวลิตพร้อมทหารเดินทางมาพบ พล.อ.ชาติชายที่บ้าน

ขอนำตัว “ไกรศักดิ์” ไปสอบสวน

“พ่อเดินมาปลุกผม ถามว่าไปอยู่กับพวกสหายอะไรหรือเปล่า ผมบอกว่าไม่เคย”

พล.อ.ชาติชายเดินไปบอก “บิ๊กจิ๋ว”

“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน จิ๋วกลับไปแล้วเอาโลงศพมา 2 โลง”

พล.อ.ชวลิตถามว่าเอาโลงมาทำไม

“น้าชาติ” ตอบแบบติดตลกแต่เอาจริงสไตล์ “ทหารม้า”

“โลงหนึ่งใส่ลูกผม อีกโลงหนึ่งก็ใส่คุณ”

สุดท้าย “บิ๊กจิ๋ว” ก็กลับไป

ครับ เห็น “น้าชาติ” เป็นเพลย์บอยสนุกสนานเฮฮา

แต่พอถึงเวลาที่ต้องเล่นบท “พ่อ” ขึ้นมา

เขาก็ชัดเจน

…ลูกข้า ใครอย่าแตะ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่