เลิกเคอร์ฟิวลุยอาชญากรรมต่อ “บิ๊กแป๊ะ” ห่วงใย “ขอบคุณตำรวจ” แต่ “เบี้ยเลี้ยง” ด่านโควิดยังไม่ได้

สํานักงานตำรวจแห่งชาติตอบสนองนโยบายรัฐบาล หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีมติจากที่ประชุมอนุมัติให้ยกเลิกการบังคับใช้เคอร์ฟิวระหว่างช่วงเวลา 23.00-03.00 น. โดยจะมีผลตั้งแต่คืนวันที่ 14 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

แต่ยังคงงดการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ

รวมถึงอนุญาตให้มีการจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหารได้ โดยยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้อยู่

ทันทีที่เคอร์ฟิวถูกยกเลิก คาดการณ์ได้เลยว่า อาชญากรรมทุกรูปแบบจะมา

“บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการไปยังข้าราชการตำรวจทุกหน่วยทั่วประเทศให้รับมือ โดยปฏิบัติงานเช่นเดียวกับ 3 เดือนก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 ระบาด ดังนี้

1. ดำรงความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เป็นการซ้ำเติมประชาชน เช่น การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การกู้ยืมเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

2. เพิ่มความเข้มในการตั้งจุดตรวจจุดสกัด และกวดขันจับกุมอาชญากรรมที่กระทบต่อชีวิตประจำวันและความสงบสุขของประชาชนและสังคม เช่น การรวมกลุ่มแข่งรถในทาง การขับขี่รถขณะเมาสุรา ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ความผิดเกี่ยวกับสถานบริการหรือความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามความใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

และ 3. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจกิจการกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ การปฏิบัติให้เป็นไปตามลำดับขั้นคือ ขั้นประชาสัมพันธ์, ขั้นแนะนำตักเตือน เพื่อให้มีการปรับปรุงการดำเนินการให้ถูกต้องหรือครบถ้วน

และขั้นดำเนินคดี มีการแนะนำตักเตือนแต่ยังคงไม่ปฏิบัติตามและมีเจตนาที่จะฝ่าฝืน

หากดูสถิติอาชญากรรมตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการออกข้อกำหนดเคอร์ฟิวตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 เปรียบเทียบห้วงเวลาเดียวของปีที่แล้ว พบว่าประเภทความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญา ลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

คดีอาญาที่เกิดขึ้นจากการเมาสุราแล้วมาก่ออาชญากรรม หรือเกิดอุบัติเหตุจราจรเนื่องจากการเมาสุรา รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญในลักษณะต่างๆ เช่น เด็กแว้น การแข่งรถในทาง นักเรียนตีกัน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่หลังยกเลิกเคอร์ฟิวในคืนแรกทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. ถึงกับควันออกหู ที่เด็กแว้นออกมาซิ่งบนถนนหลังอัดอั้นมานานกว่า 3 เดือน “ท่านผู้นำ” ขู่ว่าถ้ายังมีปัญหาจะประกาศเคอร์ฟิวอีก

นอกจากนี้ ยังมีคดีเกี่ยวกับการอุ้มหายของนักเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนไปเติมเชื้อให้ม็อบนักศึกษาที่เริ่มก่อตัวแล้วก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่สะเทือนถึงรัฐบาล จึงถูกครหาว่าไม่ยอมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเอาไว้สยบม็อบหรือไม่

ทั้งนี้ แม้จะมีการยุบเลิกด่านโควิด-19 และด่านเคอร์ฟิว แต่ตำรวจได้ปรับกำลังไปทำหน้าที่ในจุดตรวจ จุดสกัด กว่า 1,000 จุด รวมทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วกว่า 1,000 ชุด เพื่อทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน

และทำหน้าที่สนับสนุนการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 4

ระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ข้าราชการตำรวจต่างทุ่มเททำงานเพื่อบริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งด่านคัดกรองโควิด-19 ตั้งด่านความมั่นคงช่วงเวลาเคอร์ฟิว เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

แม้อีกมุมหนึ่ง ครอบครัวตำรวจเองก็ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

อีกทั้งยังต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่ใช่สถานการณ์ปกติ การทำงานของตำรวจต้องเหนื่อยเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า

นอกจากการจับโจรผู้ร้าย ยังต้องคอยสนองนโยบายของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการออกมาแทบทุกวัน

เวลานี้เหตุการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ผบ.ตร.มีความห่วงใยต่อข้าราชการตำรวจและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงจัดโครงการ “ขอบคุณตำรวจ” โดยมีมาตรการช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ

เช่น การแจกถุงยังชีพ จัดโครงการอาหารกลางวันให้กับข้าราชการตำรวจที่ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจัดหาเงินสนับสนุนให้ เพื่อเป็นเงินตั้งต้นในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว

โดยมีการเปิดโครงการพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

แต่สิ่งหนึ่งที่มดงานตั้งตารอคือเบี้ยเลี้ยงในการปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านสกัดโควิด-19 ที่นานกว่า 3 เดือน ยังไร้วี่แววว่าจะได้รับเมื่อไหร่นั้น

ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณที่ดี 2 มิถุนายน 2563 พล.ต.ท.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผบช.สงป. ได้ทำหนังสือถึง ผบ.ตร. กรณี ตร.ขอรับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบฯ กลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง จำนวน 2,717,783,460 บาท

ขณะนี้นายกฯ ได้เห็นชอบหลักการให้ ตร.ใช้จ่ายงบประมาณตามเสนอ โดยให้ดำเนินการให้เรียบร้อยทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติด้านความมั่นคง ในการแก้ไขปัญหาโควิด เบี้ยเลี้ยง/ค่าตอบแทน อย่างประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส อย่าให้มีเรื่องร้องเรียนเด็ดขาด

เมื่อ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้สรุปข้อมูลสำรวจค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามแผน คำสั่ง ข้อสั่งการในที่ประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในห้วงการปฏิบัติ ตั้งแต่ 26 มีนาคม-5 มิถุนายน 2563 และประมาณค่าใช้จ่ายจนถึง 30 มิถุนายน 2563 เพื่อนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงิน

ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่อง “เบี้ยเลี้ยง” การปฏิบัติงานนอกที่ตั้งหน่วย อัตราชั่วโมงละ 60 บาท ไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง เบิกจ่ายทั้งในวันราชการและวันหยุดราชการ ตามที่ปฏิบัติจริง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

แม้ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ แต่ผู้บังคับบัญชาต้องสนับสนุนสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงต่างๆ ให้ถึงมืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ลูกน้อง ให้คุ้มกับค่าเหนื่อยที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่