จิตต์สุภา ฉิน : มีอะไรซ่อนอยู่ ใน 1 ภาพถ่ายจากสมาร์ตโฟน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ภาพถ่ายที่เรากดแชะมาด้วยกล้องสมาร์ตโฟนมีอะไรมากกว่าแค่สิ่งที่เราเห็นปรากฏอยู่บนภาพ และในยุคที่มีหูตาพร่างพราวอยู่ทุกซอกทุกมุม และเราไม่มีทางรู้เลยว่าภาพไหนจะย้อนกลับมาทำร้ายเราในภายหลังได้ มีอะไรบ้างที่เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพบนสมาร์ตโฟน

ไม่ใช่เป็นแค่ฉันคนเดียวแน่ๆ ที่อดไม่ได้ที่จะสอดส่ายสายตามองหารายละเอียดอะไรบางอย่างที่มาพร้อมกับภาพที่เพื่อนๆ แชร์บนโซเชียลมีเดีย

อย่างที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดแบบที่ไม่ต้องพยายามเลยก็อาจจะเป็นการแปะสติ๊กเกอร์ลงบนภาพแบบไม่มีที่มาที่ไป (แสดงว่าต้องการเซ็นเซอร์อะไรบางอย่าง ซึ่งทันทีที่เรารู้ว่าสติ๊กเกอร์มีไว้เพื่อเซ็นเซอร์เราก็จะพอเดาได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เจ้าของภาพต้องการปกปิด)

ไปจนถึงสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในภาพแบบลึกลงไป แม้ต้องใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการขุดมันขึ้นมา แต่ในที่สุดมันก็ถูกเปิดเผยได้อยู่ดี

ภาพถ่ายทุกภาพที่ถ่ายมาด้วยโทรศัพท์มือถือจะมีรายละเอียดที่เรียกว่า metadata ที่สามารถดูได้ด้วยแอพพ์ดูภาพแทบทั้งหมด

รายละเอียดนี้จะบอกได้ว่าภาพนี้ถ่ายขึ้นที่ไหน ในเวลาเมื่อไหร่ และถ่ายด้วยโทรศัพท์รุ่นไหน

บางครั้งรายละเอียดเหล่านี้ก็ไม่ใช่ข้อมูลอันตรายที่คนอื่นจะล่วงรู้ไม่ได้

แต่หลายๆ ครั้งรายละเอียดเหล่านี้แหละที่สำคัญจนสามารถทำลายอนาคตเราได้ง่ายๆ

 

มีหลายวิธีที่เราสามารถปิดข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่เราจะส่งหรือแชร์ภาพต่อได้

โดยที่วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดสำหรับการส่งต่อภาพในกรณีที่ไม่ได้ต้องการความคมชัดของภาพในระดับต้นฉบับก็น่าจะเป็นการกดแคปภาพสกรีนช็อตและส่งภาพสกรีนช็อตไปแทน เนื่องจากส่วนใหญ่ภาพสกรีนช็อตจะไม่ได้มีข้อมูลละเอียดอ่อนเหล่านั้นติดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว metadata ไม่ใช่เรื่องเดียวที่เราจะต้องคอยระวัง เพราะยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้เพื่อเก็บเกี่ยวรายละเอียดต่างๆ จากภาพถ่ายภาพเดียวของเราได้

Facial recognition หรือเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าก็เป็นหนึ่งในนั้น ก่อนหน้าการมาถึงของเทคโนโลยีนี้ การดูภาพถ่ายและเจอใบหน้าที่เราไม่คุ้นเคยก็แทบจะไม่มีวิธีอื่นเลยที่จะระบุตัวตนนอกจากการจะต้องตามหาจนกว่าจะเจอคนที่หน้าเหมือนกับในรูปหรือคนที่รู้จักคนที่หน้าเหมือนในรูป แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายของคนที่เรารู้จักหรือไม่ เครื่องมือชนิดนี้ก็อาจจะสามารถระบุตัวตนได้อยู่ดี โดยมีฐานข้อมูลเป็นภาพจำนวนมหาศาลบนโซเชียลมีเดียที่อาจจะเป็นเราเองนี่แหละที่แชร์ไปด้วยความเต็มใจ

หรือหากคนที่อยากระบุตัวตนคนในภาพเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่มีทรัพยากรให้ใช้ไม่จำกัด ฐานข้อมูลก็อาจจะกว้างใหญ่กว่านี้มากเพราะรวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิด กล้องของตำรวจ ภาพถ่ายบัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือเดินทางด้วย

 

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่อาจจะพอทำให้เรานึกภาพได้ก็อย่างเช่น ลองนึกถึงการอัพโหลดภาพลงไปบนเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กเสนอขึ้นมาทันทีว่าจะแท็กเพื่อนหรือไม่ พร้อมกับเสนอชื่อเพื่อนให้เราแท็กได้อย่างถูกต้อง (แทบจะทุกครั้ง แต่ในเวลาที่มันแท็กภาพผิด คนส่วนใหญ่ก็แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสองคนนั้นหน้าคล้ายกันมากจริงๆ)

หรืออีกตัวอย่างก็คือ เวลาเราเปิดเข้าไปที่อัลบั้มภาพของโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นระบบ iOS หรือ Android ก็จะเห็นว่าแอพพ์สามารถแยกแยะได้ว่าภาพใครเป็นภาพใครในกรณีที่เจ้าของเครื่องเคยติดฉลากระบุเอาไว้แล้ว

เครื่องมืออีกชนิดที่ทรงพลังและได้รับการพูดถึงเยอะมากก็คือ Clearview AI บริษัทสตาร์ตอัพที่กล่าวอ้างว่ามีฐานข้อมูลของภาพใบหน้าคนมากกว่าสามพันล้านภาพซึ่งรวบรวมมาจากโซเชียลมีเดียต่างๆ และสามารถนำไปใช้เพื่อรู้จำใบหน้าและระบุตัวตนของคนได้อย่างแม่นยำ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าบริษัทได้เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้เทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นห้างร้านขายของ กาสิโน หรือโรงเรียน

ซึ่งนั่นก็แปลว่าแม้ในตอนนี้คนธรรมดาทั่วไปยังไม่สามารถใช้เครื่องมือรู้จำใบหน้าที่ทรงพลังแบบเดียวกับที่หน่วยงานรัฐใช้

แต่หาก Clearview AI สามารถเข้าถึงได้เป็นวงกว้างกว่านี้ ทุกคนก็จะสามารถระบุตัวตนของใครก็ได้หลังจากนี้เป็นต้นไป

เมื่อระบุได้ว่าใครคือบุคคลที่อยู่ในภาพ สิ่งต่อมาที่จะเป็นข้อมูลที่คนจะอยากได้มากที่สุดก็คือโลเกชั่นหรือสถานที่ที่ภาพนั้นๆ ถูกถ่ายขึ้น แน่นอนว่า metadata มีทุกอย่างให้ครบ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะใช้วิธีอื่นในการระบุสถานที่ของภาพถ่ายไม่ได้

มีเทคนิคหลากหลายที่สามารถใช้เพื่อตัดสินได้ว่าภาพที่เห็นถูกถ่ายขึ้นที่ไหน อย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีช่วยในการระบุวิวทิวทัศน์รอบๆ อย่างตึก ต้นไม้ เสา สิ่งก่อสร้าง ไปจนถึงรายละเอียดอย่างป้ายบนถนน บิลบอร์ด แม้กระทั่งลวดลายของเสื้อยืด ก็พอจะทำให้ตีวงของโลเกชั่นให้แคบลงได้เรื่อยๆ

หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้มีข่าวที่บอกว่าแม้กระทั่งเงาสะท้อนบนแว่นกันแดดก็ทำให้ชายคนหนึ่งระบุได้ว่าดาราที่ตัวเองคลั่งไคล้อาศัยอยู่ที่ไหนและไปดักรอมาแล้ว

ดังนั้น แม้จะไม่มี metadata แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์จะไม่ระบุสถานที่ให้โดยอัตโนมัติ เพราะยังมีอัลกอริธึ่มอื่นๆ ที่สามารถบอกได้ว่าวิวทิวทัศน์ในภาพนั้นไปตรงกับภาพไหนในฐานข้อมูลอันกว้างใหญ่มหาศาล

ปิดท้ายด้วยเวลาที่ภาพนั้นๆ ถูกถ่ายขึ้นมา ซึ่งแม้จะไม่มีข้อมูลที่ระบุให้เห็นโต้งๆ แต่รายละเอียดบนภาพก็ยังเป็นเงื่อนงำที่สำคัญมากๆ เพราะภาพภาพเดียวอาจจะบ่งบอกได้ถึงฤดูกาล ลักษณะทางธรรมชาติบางอย่าง หรือรูปแบบของแสงที่ปรากฏ

 

รายละเอียดทั้งหมดนี้ คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่าก็ไม่มีปัญหาอะไรนี่ ใครอยากจะรู้ก็ให้มันรู้ไป แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่มีความจำเป็นต้องปกปิดรายละเอียดเหล่านี้

อย่างเช่น คนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง หรือนักข่าวที่กำลังรายงานข่าวที่มีความละเอียดอ่อนสูงและอาจตกอยู่ในอันตรายได้

ดังนั้น ครั้งต่อไปก่อนจะแชร์ภาพอะไรบางอย่าง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะต้องไม่ลืมให้ความสำคัญ จะดีที่สุดหากเราจะซูมภาพที่เราถ่ายและสำรวจอย่างละเอียดทุกตารางนิ้วเพื่อดูว่ามีรายละเอียดอ่อนไหวอะไรแอบซ่อนอยู่ในภาพโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตบ้าง

บางรายละเอียดเราเห็นแล้วอาจจะขนลุกเลยก็ได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่